เพลิงไหม้ที่ลุกโหมกระหน่ำหมู่บ้านมอแกน บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนรู้จักกับชาวเลแห่งอันดามันมากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางแสงอาทิตย์สาดส่องลงชายหาด ชาวมอแกน ผมหยิกฟู ใบหน้าคมเข้ม ลุกขึ้นจากเตียงนอน สายตาทอดออกไปยังทะเลกว้างใหญ่สีครามสดใส ด้านหลังมีภูเขาลูกโตต้นไม้เขียวขจีที่แสดงถึงความอิ่มเอมทางธรรมชาติ
บรรยากาศอันแสนน่าอิจฉาเหล่านี้ ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังพวกเขาต่างถูกการท่องเที่ยวเเละกฎหมายจำกัดอิสระ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เคยเป็นมา
ในโลกอันสลับซับซ้อน คุณค่าของมนุษย์ชายขอบกำลังถูกลดทอน ?
ในอดีตนั้นชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่เคยเดินทางเร่ร่อนทางทะเล ทำมาหากินตามทะเลและชายฝั่งจนได้รับการขนานนามว่า ‘ยิปซีทะเล’ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้เร่ร่อนตลอดปี แต่ปรับวิถีชีวิตตามภูมิอากาศ พูดง่ายๆ ว่าช่วงฤดูฝนจะมีชีวิตค่อนข้างติดที่ ขณะที่อีกครึ่งปีในช่วงฤดูแล้ง คลื่นลมสงบ ไร้มรสุม มอแกนจะออกเดินทางหากินในทะเลอย่างอิสระ
พื้นที่เกาะสุรินทร์ ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล เมื่อ 9 ก.ค. 2524 ซึ่งนั่นได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวมอแกนไปตลอดกาล พวกเขาเริ่มตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร รับจ้างทำงานให้กับอุทยานฯ และบริษัททัวร์ต่างๆ มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและผู้เข้าสู่วัยชรา ทำให้การเคลื่อนย้ายและความสามารถในการเดินเรือลำบากมากขึ้น ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนานวันเข้า พวกเขาเริ่มสูญเสียความรู้ความสามารถในการทำมาหากิน การสร้างเรือ และการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ไป เช่น ความคุ้นเคยกับทะเล และความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล เช่น ความสามารถในการสังเกตคลื่น อากาศ กระแสน้ำ และข้างขึ้นข้างแรม รวมถึงทักษะการจับสัตว์ทะเลที่ได้มาจากการฝึกฝนตั้งแต่เด็ก
เมื่อปี พ.ศ. 2545 แอนส์ กิสเลน นักชีววิทยาชาวสวีเดน ได้เดินทางมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการมองเห็นใต้น้ำของเด็กๆ มอแกน ตามปกติแล้วดวงตาของมนุษย์ไม่สามารถจะมองเห็นได้ชัดในน้ำ ถ้าไม่ใส่หน้ากากหรือแว่นตาดำน้ำ แต่ผลการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กๆ มอแกนสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ดีกว่า และสามารถแยกแยะวัตถุใต้น้ำได้ดีกว่าเด็กชาวยุโรปกว่า 2 เท่า
นอกจากนั้น ความช่วยเหลือจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ ‘มอแกน’ บางคนมีพฤติกรรมรอความช่วยเหลือและเป็นผู้ขอ ไม่ว่าจะเป็นการขอเรือ เครื่องมือจับปลา และสิ่งอื่นๆ
หนังสือเรื่องชุมชนมอแกนและอูรักลาโว้ยกับพื้นที่คุ้มครอง ของ นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงศ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า วัฒนธรรมและความรู้ดั้งเดิมของมอแกนกำลังจะถูกลืมเลือนไปเพราะว่าแทบไม่มีการถ่ายทอดไปสู่รุ่นหลัง และเมื่อความรู้ถูกลืมเลือนและสูญหาย ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและความรู้จากภายนอกที่ไม่ได้มีฐานรากจากวัฒนธรรม
ทั้งนี้ในอดีตมอแกนเก็บหาล่าสัตว์และค้าขายแลกเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อพื้นที่ป่าและทะเลที่เก็บอาหารทำมาหากินมีน้อยเพราะการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์และถูกจำกัดจากการที่บ้านของตัวเองเป็นพื้นที่อนุรักษ์และสงวนไว้ให้กับการท่องเที่ยว ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาการบริโภคใหม่ๆ ตามแบบฉบับของคนส่วนใหญ่หรือเข้าสู่ระบบตลาด โดยคณะวิจัยพบว่า ร้อยละ 50-70 ของกับข้าวมื้อเช้าและเย็น ทั้งอาหารปรุงเสร็จและอาหารสดของมอแกนมาจากโรงครัวหรือซื้อมาจากอุทยานฯ
พูดง่ายๆ ว่า พวกเขาพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง หันไปพึ่งพาอาหารภายนอกซึ่งได้หรือซื้อจากร้านสวัสดิการอุทยานฯ
อุทยานฯ เริ่มจ้างงานชาวมอแกนจำนวนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นคนขับเรือ คนเก็บขยะ ผู้ช่วยทำครัวและคนขนของตลอดจนเป็นแรงงานก่อสร้าง ทุกวันนี้พวกเขาได้รับค่าจ้างประมาณ 140-200 บาทต่อวัน พร้อมกับอาหาร 3 มื้อ มอแกนบางคนไปเป็นแรงงานให้กับบริษัททัวร์ ขณะที่บางคนมีรายได้จากการขายงานฝีมือให้นักท่องเที่ยว เช่น สานเสื่อจากใบเตยหนามและผลิตภัณฑ์แกะสลัก อย่างเรือไม้ เต่าทะเล ถักสร้อยข้อมือ
ปัจจุบันหมู่บ้านมอแกนมี 81 หลัง ประชากรราว 327 คน เป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (มีบัตรเลข 0) ประมาณ 106 คน และเป็นบุคคลที่ทั้งไม่มีสถานะทางทะเบียน และไม่มีบัตรประชาชนไม่่ต่ำกว่า 87 คน
การท่องเที่ยวชมหมู่บ้านมอแกน เป็นหนึ่งในทริปที่บริษัททัวร์ต้องจัดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปวันละ 500-1,000 คน นักท่องเที่ยวหลายคนมีความคิดว่าถ้าไปเกาะสุรินทร์ ต้องไปชมมอแกน โดยเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานฯ คาดว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนที่หมู่เกาะสุรินทร์ราว 6 หมื่นคน
ฮุก - สุริยันต์ กล้าทะเล วัย 33 ปี บอกว่า การท่องเที่ยวที่เติบโตนั้นส่งผลต่อดีต่อประเทศก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบกับวิถีชีวิตและความรู้สึกอึดอัดทางกายและใจเป็นอย่างมากของชาวมอแกน เมื่อรวมกับกฎหมายอุทยานฯ ที่เข้มงวดทำให้พวกเขาเหมือนสูญเสียอิสระที่เคยมีไป
“เมื่อก่อนเราเป็นอิสระ การเดินทางไปพบปะญาติพี่น้อง ออกหากินตามเกาะต่างๆ ทุกอย่างมีความสุข แต่ปัจจุบันมันไม่เหมือนเดิม อึดอัดและเสียวิถีชีวิตเดิมไป ต้องหลีกทางให้กับทางการท่องเที่ยว การดำน้ำชมปะการังของผู้คน” ฮุกบอกว่าการหากินแบบหมุนเวียน ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ฟื้นความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา
เมื่อทำมาหากินแบบดั้งเดิมไม่ได้ ก็ผลักให้พวกเขาก็ต้องพึ่งพาอุทยานฯ และการท่องเที่ยว เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ขณะที่วัฒนธรรมของชาวเลก็ใกล้จะสูญหายไปเต็มที ตัวอย่างเช่น การสร้างเรือ 'กาบาง'
“ทุกวันนี้ผู้คนออกไปทำงานกับอุทยานฯ ได้เงินเดือนละ 4,000 – 6,000 บาท ส่วนพวกประดิษฐ์ขายของสะสมอยู่บ้าน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีลูกค้ามาซื้อหรือไม่” เขาเพิ่มเติมว่า “เอกสารทางราชการ ปัญหาไร้สัญชาติ ก็จำกัดโอกาสในการสร้างรายได้และการศึกษาเช่นกัน”
สภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน หมู่บ้านมอแกนยังเข้าสู่สภาวะแออัดมากขึ้น บ้านหลายหลังมีผู้อาศัยมากถึง 8 คน และการขอขยายพื้นที่ค่อนข้างลำบากและใช้เวลา เนื่องจากต้องได้รับอนุญาตจากทางอุทยานฯ
“การท่องเที่ยวเเละกฎหมาย สภาพที่เป็นมันมีผลให้เราต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ต้องการมากขนาดนี้” สุริยันต์บอกขณะที่นักท่องเที่ยวหลายคนทั้งไทยและต่างชาติ เดินลัดเลาะอย่างสนุกสนาน
การจัดการพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องคำนึงถึงการส่งเสริมอาชีพและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยหลายฝ่ายเรียกร้องให้ดึงมอแกนเข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาศักยภาพให้พวกเขามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานฯ มิใช่แต่เพียงจ้างมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น
อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เห็นว่า ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการมองกลุ่มชาติพันธุ์ มองโดยฐานคิดของ “คนเท่ากัน” ไม่ใช่มองเป็นภาระหรือคนที่ด้อยกว่า แต่ต้องเห็นศักยภาพและส่งเสริมให้เขาจัดการตัวเองได้
“หากไม่เห็นศักยภาพ ก็จะเอาเเต่ให้ความช่วยเหลือ เป็นการสงเคราะห์แบบครั้งคราว มีปัญหาทีก็ช่วยที ไม่ใช่การพัฒนาเเบบยั่งยืนหรือนำมาสู่การส่งเสริมให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้”
นักวิชาการรายนี้บอกว่า การเปลี่ยนมุมมองจะส่งผลต่อการริเริ่มนโยบายและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือลดทอนคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนชายขอบ
“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม การท่องเที่ยวและวิวัฒนาการต่างๆ เราต้องทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” อภินันท์บอกว่า “ด้วยมุมมองและวิธีคิดใหม่ เราจะเห็นว่าพวกเขามีทุนอะไรอยู่บ้างเเล้วเราสามารถใช้ทุนเขาเป็นเครื่องมือในการเเก้ปัญหาของเขาเองได้มากเเค่ไหน”
นักวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังเห็นว่าปัจจุบันการมาท่องเที่ยวหมู่บ้านมอแกน หลายคนมองเข้ามาด้วยความแปลกประหลาดใจ โดยคนชาติพันธุ์แทบไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเลย ทั้งๆ ที่รัฐควรดึงพวกเขามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการการท่องเที่ยว เพื่อให้เขาสามารถใช้ภูมิปัญญาสร้างจุดขายหรือสร้างความเข้าใจในพื้นที่มากขึ้น
“ไม่ใช่แค่ความแปลก เราต้องทำให้คนเข้าใจ เห็นความสามารถและวัฒนธรรมของเขา วิธีหาของป่า การสร้างเรือกาบางที่มีกลไกมากกว่าที่คนทั่วไปรู้จัก สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการท่องเที่ยว ที่หากเขามีโอกาสได้เเสดงศักยภาพจะทำให้เกิดการพึ่งพารัฐลดน้อยลง”
มอแกนควรจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ธรรมชาติจากภูมิปัญญาที่เขามี โดยนโยบายของภาครัฐต้องมีความยืดหยุ่นตามวิถีชีวิตของเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม
“เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่คนละชั้น และทำให้เขาด้อยคุณค่าลงไปเรื่อยๆ”
นักวิจัยรายนี้แนะนำว่า ท้ายที่สุดมอแกนต้องเป็นผู้เลือกเส้นทางจัดการกับชีวิตของตัวเอง
“สุดท้ายมันต้องให้เขาเลือก ไม่ใช่ไปห้ามเขาเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยน เขาก็ต้องเปลี่ยน เเต่เปลี่ยนยังไง ที่จะให้เขารู้สึกมีศักดิ์ศรี ไม่กระทบกับจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคนของเขา ถ้าเราไม่ให้ทางเลือกเขาเลย โดยมองว่าเขาต้องทำอย่างนั้นอย่างงี้ มันไม่ใช่ทางเเก้ปัญหา”
ดร.นฤมล บอกว่า การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ไม่ใช่การดูแลแค่เรื่องธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องคนด้วย หากมองให้ไกลและกว้าง รัฐต้องตั้งคำถามกับการท่องเที่ยวในปัจจุบันและที่กำลังพัฒนาไปว่าสิ่งเหล่านี้สอดรับ มีผลดีต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนที่อยู่ดั้งเดิมหรือไม่
“การท่องเที่ยวอาจต้องคัดเลือกผู้คนมากขึ้นหรือไม่ เราจะออกแบบการท่องเที่ยวอย่างไรให้พวกเขาได้รับรู้คุณค่าจากท้องถิ่น”
ภาพรวมในการพัฒนากับอนุรักษ์ ผู้มีอำนาจต้องเลิกยึดติดกับกับดักเดิมที่ว่าคนชายขอบนั้นล้าหลัง ไร้การศึกษา ยากจน แต่ควรมองการพัฒนาให้หลากหลายมิติ ขณะที่การอนุรักษ์ อย่าคิดเพียงแค่ว่าต้องแยกคนออกจากธรรมชาติเท่านั้น
“สูญเสียทั้งคนและความรู้ แทนที่คนจะเป็นภาคีกับรัฐในการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นหูเป็นตา กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน”
“มอแกนกับสุรินทร์เป็นของคู่กันอยู่แล้ว” พุทธพจน์ คูประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์บอก “จะละเลยได้อย่างไร” เขาบอกว่าบทบาทหน้าที่ของภาครัฐคือการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นของคนไทยทั้งประเทศ ขณะเดียวก็ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองเดิม ทุกอย่างต้องเดินไปด้วยกันอย่างเหมาะสม
“การขยับขยายพื้นที่อาศัยเพื่อลดความแออัด การเปิดพื้นที่ทำมาหากินเพิ่มเติม เรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระทบกับหลายฝ่าย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้มีการขยายพื้นที่อย่างอิสระ โดยไม่มีจุดสิ้นสุด”
ขณะที่การใช้ประโยชน์จากทักษะความสามารถของชาวมอแกนเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นนั้น เขาระบุว่า ภาครัฐต้องการให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพียงแต่อุปนิสัยพื้นฐานของชาวมอแกนส่วนใหญ่ยังค่อนข้างขี้อาย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการส่งเสริมและปรับตัวเพื่อรองรับกับบทบาทหน้าที่ต่างๆ
ปัจจุบันอุทยานฯ มีการจ้างงานชาวมอแกนประมาณ 60-70 คน ด้วยค่าแรง 140-200 บาท โดยจัดสรรเงินนอกงบประมาณมาดูแล และมีบางส่วนที่ได้รับเงินจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีบัตรประชาชนไทย
นอกเหนือจากที่ทำงานอุทยานฯ แล้ว พุทธพจน์ คาดว่ามีมอแกนราว 100 คนที่ทำงานกับภาคเอกชนอย่างบริษัททัวร์ พูดง่ายๆ ว่าส่วนใหญ่ในจำนวน 300 กว่าคนของชาวมอแกนมีงานทำ เว้นแต่กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่ประดิษฐ์สินค้าของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยว
จำนงค์ จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเลจังหวัดอันดามันและที่ปรึกษาพีมูฟ บอกว่า กฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ กฎหมายว่าด้วยเรื่องสัญชาติ ล้วนมีผลต่อวิถีชีวิต การทำมาหากินและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมหาศาล
“พวกเขาเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของพื้นที่ กลายเป็นผู้อยู่อาศัยและไม่มีสิทธิในที่ดินที่ตัวเองเคยทำมาหากิน ไม่ว่าจะอยู่มาก่อนกี่ร้อยปีก็ตาม” จำนงค์ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ทำมาหากินของชาวมอแกน 20 กว่าแห่งเหลือเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น ในปัจจุบัน จากการสำรวจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในอนาคตเพื่อไม่ให้ชาติพันธุ์ดั้งเดิมสูญหายไป เขาและพรรคพวกกำลังผลักดันกฎหมายว่าด้วยเขตคุ้มครองวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระดมความเห็นเพื่อหาหลักการและร่างออกมาเป็นแม่แบบในขั้นตอนต่อไป
“กฎหมายนี้จะเปิดโอกาสให้ชาวชาติพันธุ์มีชีวิตที่ดีขึ้นและมีโอกาสในการได้เลือกมากกว่าที่เป็นอยู่” เขาบอกถึงความตั้งใจ
ขณะที่พุทธพจน์ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับ และยืนยันว่าอุทยานฯ เห็นชาวมอแกนและชาวพื้นเมืองเดิมเป็นมนุษย์ทัดเทียมกัน พร้อมจะส่งเสริมศักยภาพตามความเหมาะสม ภายใต้กรอบของกฎหมายและการคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของคนทั้งประเทศ
(เนื้อหาบางส่วนเรียบเรียงจาก หนังสือเรื่อง ชุมชนมอแกนและอูรักลาโว้ยกับพื้นที่คุ้มครอง ของ นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงศ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส โครงการนำร่องอันดามัน กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.)
ภาพโดย : ณปกรณ์ ชื่นตา