มติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในฉนวนกาซาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) มี 153 ประเทศลงคะแนนเห็นชอบ งดออกเสียง 23 ประเทศ และคัดค้าน 10 ประเทศ รวมถึงอิสราเอลและสหรัฐฯ แม้ว่ามติดังกล่าวจะไม่มีข้อผูกมัดตามกฎหมาย แต่มติจากสมัชชาใหญ่มักเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความคิดเห็นที่ทั่วโลกมีต่อสถาการณ์ต่างๆ
“เราขอขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนร่างมติที่เสียงข้างมากเพิ่งรับรอง” อับดุลอาซิซ อัลวาซิล เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหประชาชาติกล่าว ในการแสดงความคิดเห็นหลังการลงคะแนนเสียงในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ “สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนระหว่างประเทศ ในการเรียกร้องให้มีการบังคับใช้มตินี้”
การลงมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในฉนวนกาซา มีขึ้นในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศพยายามกดดันอิสราเอล ให้ยุติการโจมตีฉนวนกาซาที่กินเวลานานหลายเดือน ซึ่งส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 18,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก นอกจากนี้ มากกว่า 80% ของประชากร 2.3 ล้านคนในฉนวนกาซาต้องกลายมาเป็นผู้พลัดถิ่น
การโจมตีทางอากาศอย่างไม่หยุดยั้ง และการปิดล้อมฉนวนกาซาโดยอิสราเอลได้สร้างเงื่อนไขด้านมนุษยธรรมในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติระบุว่า สถานการณ์ในฉนวนกาซาตอนนี้นั้นไม่ต่างอะไรไปจาก "นรกบนดิน" ในขณะที่การรุกของกองทัพอิสราเอลได้จำกัดการเข้าถึงอาหาร เชื้อเพลิง น้ำ และไฟฟ้าอย่างเข้มงวดไปยังฉนวนกาซา
การลงคะแนนเสียงมตินี้เมื่อวันอังคาร เกิดขึ้นหลังจากการลงมติที่ล้มเหลวในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ซึ่งเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมเช่นเดียวกัน โดยสหรัฐฯ เป็นชาติเดียวที่ลงมติยับยั้ง ในขณะที่สหราชอาณาจักรงดออกเสียง ทั้งนี้ ต่างจากมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งชาติสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตาม
ภายหลังการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ล้มเหลวลงเมื่อวันศุกร์ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ใช้ขั้นตอนพิเศษในการบังคับใช้มาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งเปิดทางให้เลขาธิการสหประชาชาติ ออกคำเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการประกาศใช้ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2514
อย่างไรก็ดี การผ่านมติมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ไม่มีผลผูกพันเมื่อวันอังคาร เผชิญหน้ากับการคัดค้านจากสหรัฐฯ โดยทั้งสหรัฐฯ และออสเตรียเสนอการแก้ไขมติประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งสงครามอิสาราเอล-กาซาในปัจจุบัน
โอซามา อับเดลคาเล็ก เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำสหประชาชาติ ระบุว่าร่างมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ มีความ “สมดุลและเป็นกลาง” พร้อมระบุเสริมว่า มติดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการคุ้มครองพลเรือนทั้งสองฝ่ายและปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด
กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ วิจารณ์การเรียกร้องให้มีการหยุดยิงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่าสหประชาชาติได้สร้าง “จุดด่างพร้อยทางศีลธรรม” ต่อมนุษยชาติ “ทำไมพวกท่านไม่รับผิดชอบต่อพวกข่มขืนและฆาตกรเด็ก” เออร์ดานถามในสุนทรพจน์ก่อนการลงคะแนนเสียง “ถึงเวลาแล้วที่จะโยนความผิดไปไว้บนบ่าไหล่ของอสูรกายฮามาส”
รัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สนับสนุนการรณรงค์ทางทหารของอิสราเอลอย่างแข็งขัน โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า จะต้องมีการอนุญาตให้มีการสลายกลุ่มฮามาส ในขณะที่กองกำลังอิสราเอลเดินหน้าโจมตีถล่มพื้นที่ต่างๆ ในฉนวนกาซา รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาล ส่งผลให้สหรัฐฯ ถูกประชาคมโลกต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันอังคาร ไบเดนได้เพิ่มความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างอิสราเอล โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า อิสราเอลกำลังสูญเสียการสนับสนุนจากนานาชาติ เนื่องจาก "การทิ้งระเบิดตามอำเภอใจ" ในฉนวนกาซา
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังถูกวิจารณ์ว่ามีสองมาตรฐาน หลังจากที่สหรัฐฯ เองวิจารณ์การรุกรานของรัสเซียในยูเครนอย่างรุนแรง แต่กลับสนับสนุนการโจมตีฉนวนกาซาอย่างรุนแรงในพลเรือนโดยกองทัพอิสราเอล
ที่มา: