ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการคลัง คาดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปี สร้างเงินหมุนเวียนเกือบ 2 แสนล้าน เฉพาะ ‘ช้อปดีมีคืน’ คาดเงินหมุนเวียนกว่า 1 แสนล้าน ดันจีดีพีโตโตเพิ่ม 0.3%

พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ต.ค 2563 เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากและส่งเสริมการอ่านอันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 1.11 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30% ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว

สำหรับรายละเอียดของ ‘ช้อปดีมีคืน’ กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในประเทศที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563

สำหรับสินค้าที่ไม่ร่วมในมาตรการ คือ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าหนังสือพิมพ์นิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ค่าบริการจัดนำเที่ยว และค่าที่พักในโรงแรม ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

รองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า โดยเมื่อรวมกับมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ/มาตรการ ได้แก่ ‘โครงการคนละครึ่ง’ จะช่วยเหลือดูแลพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา ‘โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ จะช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษ สำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ ‘มาตรการช้อปดีมีคืน’ จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและส่งเสริมการอ่าน โดยทั้ง 3 ดังกล่าวจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1.92 แสนล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 0.54%