ไม่พบผลการค้นหา
นอร์เวย์จะเป็นประเทศแรกที่จะหยุดการใช้น้ำมันปาล์มที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าในปี 2020 หวังสร้างบรรทัดฐานให้แก่ประเทศอื่นๆ

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐสภานอร์เวย์ลงมติประกาศหยุดการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่มาจากการการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มปฏิบัติในปี 2020 ขณะที่สหภาพยุโรปก็เห็นชอบกับแนวทางการปฏิบัติของนอร์เวย์ด้วยเช่นกัน และจะมีมาตรการการยับยั้งการใช้น้ำมันปาล์มในปี 2030

นิลส์ เฮอร์มัน รานัม จากองค์กรป่าฝนนอร์เวย์(RFN) กล่าวว่า "มติของรัฐสภานอร์เวย์จะสร้างบรรทัดฐานให้แก่ประเทศอื่นๆ และยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั่วโลกดัวย"

รายงานขององค์กรที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมและ RFN ระบุว่า "ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ความต้องการน้ำมันปาล์มทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัวของปริมาณการใช้ในปัจจุบัน และจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ"

ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก ที่ผ่านมาการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดฯ ถูกโจมตีว่าเป็นการทำลายป่าจากการตัดไม้และถางป่า โดยเฉพาะการถางป่าในเขตป่าฝนเขตร่้อน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดไฟไหม้ป่าทุกปีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวจากการเผาป่าเพื่อถางต้นไม้ในการทำไร่ปาล์มน้ำมัน

ทั้งนี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้ลงนามระงับการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการพยายามรักษาธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการทำไร่ปาล์มน้ำมันด้วย

ที่มา The independent / straitstimes