นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายเหตุผลที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการลอบประทุษร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง โดยระบุว่า ตนต้องการให้ทุกท่านลองจินตนาการ หรือลองนึกทบทวนกันว่า สังคมแบบไหนที่เราอยากอยู่? เราอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ไม่มีใครคอยมาปองร้ายเราเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยคุ้มครองป้องกันไว้ให้ หรือหากมีใครกล้าประทุษร้ายต่อเรา เจ้าหน้าที่รัฐก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการสืบเสาะหาตัวผู้ร้ายและนำตัวมาลงโทษตามกฎหมายให้เป็นเยี่ยงอย่าง ว่าผู้ใดจะเที่ยวไปทำร้ายผู้อื่นไม่ได้
ในขณะเดียวกัน เราก็อยากอยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพ หนึ่งในเสรีภาพที่เราอยากมีคือเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เราอยากแสดงความคิดเห็นว่าระบอบการปกครองที่ดีเป็นอย่างไร ผู้ปกครองที่ดีเป็นอย่างไร การกระทำแบบใดของผู้ปกครองที่เราไม่อาจยอมรับได้ เราไม่อยากถูกบังคับให้ต้องยอมรับในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยโดยไม่มีโอกาสจะเรียกร้อง โต้แย้ง คัดค้าน หรือต่อต้านได้
เมื่อเราอยากอยู่ในสังคมที่ทั้งความปลอดภัยและมีเสรีภาพ นั่นหมายความว่าเราอยากให้การใช้เสรีภาพของเราได้รับการรับรองความปลอดภัยด้วย เราไม่อยากให้ใครก็ตามหาเรื่องทำร้ายเราโดยอ้างเหตุเพียงเพราะเราได้แสดงออกทางการเมือง (ที่อาจไม่ถูกใจพวกเขา)
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับในยุคหลังๆ ไม่ว่าจะร่างมาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการแต่พยายามทำให้ดูเป็นประชาธิปไตย ก็ได้พรรณนาถึงสังคมที่น่าอยู่ในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนมาตรา 25 วรรค 4 รับรองสิทธิของบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือการกระทําความผิดอาญาของบุคคลอื่น ที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐ มาตรา 27 วรรค 3 การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความคิดเห็นทางการเมืองจะกระทำมิได้ มาตรา 28 รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย มาตรา 34 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการชุมนุม มาตรา 53 กำหนดหน้าที่ของรัฐให้ต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มาตรา 68 กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้พึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่า ดูเหมือนว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามที่บทบัญญัติเหล่านี้ว่าไว้จริงๆ แล้ว สังคมของเราคงน่าอยู่เป็นแน่แท้ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่เรียกว่าประเทศไทยนี้เป็นไปดังที่รัฐธรรมนูญได้พร่ำพรรณนาไว้หรือไม่? นับเฉพาะแค่ในช่วงระหว่างต้นปี 2561 ไปจนถึงกลางปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็บังคับใช้แล้ว ปรากฏว่ามีกรณีการประทุษร้ายต่อบุคคลจำนวนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ นายเอกชัย หงส์กังวาน ถูกทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สิน 9 ครั้ง นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูกทำร้ายร่างกาย 2 ครั้ง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกทำร้ายร่างกาย 2 ครั้ง รวมทุกกรณีของทุกคน 13 ครั้งในระยะเวลาเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น
นายรังสิมันต์ มองว่า กรณีเหล่านี้ แม้มองแค่เป็นเรื่องประชาชนทั่วไปคนใดคนหนึ่งถูกทำร้ายซ้ำซาก ก็สะท้อนปัญหาเรื่องความปลอดภัยในสังคมนี้แล้ว แต่ยังมีข้อสังเกตถึงจุดร่วมบางอย่างที่สะท้อนปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก คือ
1. เหยื่อทุกรายในกรณีที่กล่าวมานี้ เป็นผู้ที่มีประวัติในการแสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมือง ในทางที่ต่อต้าน คสช. อย่างต่อเนื่องตลอดยุครัฐประหารที่ผ่านมา
2. การประทุษร้ายมักเกิดในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่เหยื่อกำลังแสดงออกหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองบางอย่าง เช่น เกิดขณะเตรียมจัดกิจกรรมทางการเมือง หรือเกิดหลังจากจัดกิจกรรมเสร็จ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าการประทุษร้ายนั้นมีมูลเหตุจูงใจมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหยื่อนั่นเอง
3. ในการก่อเหตุเกือบทุกครั้ง ผู้ก่อเหตุมีการมีการวางแผนตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี เช่น มีการก่อเหตุกันเป็นกลุ่ม, มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพ, มีการปกปิดอำพรางตัว (ใส่หมวกกันน็อค ไม่ติดป้ายทะเบียนรถ), มีการแบ่งหน้าที่ (คนเข้าทำร้าย คนคอยคุมเชิง คนขับขี่พาหนะ) รวมถึงมียานพาหนะไว้หลบหนีหลังก่อเหตุ
และที่สำคัญที่สุด 4. ทุกเหตุการณ์การประทุษร้ายมีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีเพียง 2 คดีที่นำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ ได้แก่ 2 คดีแรกของนายเอกชัย ที่มีลักษณะเป็นการ “ฉายเดี่ยว” ไม่ได้มีการวางแผนตระเตรียมการมา และอีกคดีหนึ่งของนายเอกชัยที่นำตัวผู้ช่วยก่อเหตุมาดำเนินคดีได้บางคน แต่ไม่สามารถสาวไปถึงตัวผู้ก่อเหตุหลักหรือผู้จ้างวานได้ ส่วนคดีอื่นนอกเหนือจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการให้เห็นความคืบหน้าใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเลย อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่าคดีเหล่านี้ถูกเพิกเฉยจากเจ้าหน้าที่รัฐ
แม้กระทั่งคดีล่าสุดของนายสิรวิชญ์ที่ ณ เวลานั้นเหตุการณ์ได้กลายเป็นที่สนใจของสังคมเป็นอย่างยิ่ง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจรีบออกมาวิ่งเต้นแถลงข่าวจะเร่งสืบสวนคดีเป็นการใหญ่ ปรากฏว่าความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมล่าสุดที่สังคมได้รับรู้ก็คือคำชี้แจงของ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม ที่มาตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฏรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ว่าได้มีการสอบพยานแล้ว 15 ปาก มีการสืบสวนสอบสวนไปมาก และน่าจะออกหมายจับได้ในเร็วๆ นี้ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผ่านมาแล้วกว่า 5 เดือน กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้ได้รับทราบอีกเลย กล่าวได้ว่าแม้กระทั่งคดีที่เป็นที่โจษจันกันมากที่สุดก็ยังตกอยู่ในสภาพ “โดนดอง” ไม่ต่างจากคดีอื่นๆ
การเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐนี้เองมีส่วนสำคัญทำให้การก่อเหตุลักษณะดังกล่าวลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น ทั้งในด้านจำนวน จากที่เคยเกิดกับนักกิจกรรมเพียงคนเดียว ต่อมาได้มีการก่อเหตุกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ด้วย ส่วนนักกิจกรรมคนเดิมก็ถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในด้านความรุนแรงที่เพิ่มระดับมากขึ้น ดังที่เห็นในกรณีล่าสุดของนายสิรวิชญ์ที่ได้รับบาดเจ็บในจุดสำคัญ เสียเลือดปริมาณมาก และมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการมองเห็น
จากข้อสังเกตที่กล่าวมานี้ เป็นเหตุให้ควรเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการแสดงออกหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหยื่อ กล่าวคือประชาชนกลุ่มนี้ต้องประสบกับความไม่ปลอดภัยโดยมีเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาเอง
และหากกล่าวมากไปกว่านั้น มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมประชาชนจึงเคลือบแคลงสงสัยว่า คสช. หรือบุคคลใน คสช. มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ สนับสนุน หรือถึงขั้นบงการการก่อเหตุเลยหรือไม่ เพราะเหยื่อล้วนแต่เป็นผู้ที่ต่อต้าน คสช. หากการประทุษร้ายที่เกิดขึ้นและที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตส่งผลให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัวหรือเหนื่อยล้าจนล้มเลิกการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปในที่สุด ผู้ได้รับประโยชน์จากการก่อเหตุเหล่านี้ก็คือ คสช. เอง ข้อกังขาแบบนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปตราบที่เรายังไม่รู้ว่าคนร้ายผู้ก่อเหตุคือใคร มีเหตุจูงใจอย่างไรกันแน่
ย้อนกลับมาที่คำถามตอนแรกสุด สังคมแบบไหนกันที่เราอยากอยู่? ใช่สังคมที่การที่เราไปพูด ไปแสดงท่าทีอะไรที่ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะถูกตีหัว เมื่อร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่เรื่องกลับเงียบหายเข้ากลีบเมฆ อย่างนั้นหรือไม่?
"สังคมแบบนี้ไม่น่าอยู่ครับ สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ รัฐบาลและเจ้าหน้ารัฐที่ต้องช่วยกันส่งเสริมให้มันเป็นจริง ไม่ใช่เพิกเฉยหรือหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะนั่นเท่ากับการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพ ทำให้มันกลายเป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูในสมุดข่อยรัฐธรรมนูญเท่านั้น"
หากใครจะโต้แย้งว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเพียง 3 คนเท่านั้น ผมขอบอกว่าไม่ใช่ หากท่านไม่ได้ปิดบังสายตาตัวเองด้วยทัศนคติอันคับแคบ ท่านยอมมองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้ง 3 คนนี้เป็นสิ่งที่จะกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวม อย่าลืมว่าที่เรื่องราวของ 3 คนนี้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงก็เพราะว่าทั้ง 3 คนนี้เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่ในประเทศนี้ยังอาจมีบุคคลอีกจำนวนมากที่ก็แสดงการต่อต้านผู้มีอำนาจไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ถูกประทุษร้ายเหมือนกัน ถูกเพิกเฉยจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเหมือนกัน แต่พวกเขาอาจเสียงดังไม่พอที่ท่านจะได้ยิน การที่เราช่วยพิทักษ์สิทธิให้กับ 3 คนนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานใหม่ของสังคมที่จะนำไปสู่การช่วยพิทักษ์สิทธิของผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายต่อหลายคนที่พวกเราหลงลืมไปได้ และที่สำคัญอย่าได้หลงคิดว่าท่านจะไม่มีวันต้องโดนแบบเดียวกับที่ 3 คนนี้โดน เพราะในสังคมที่ไร้หลักประกันซึ่งสวัสดิภาพของผู้แสดงออกทางการเมือง อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ วันดีคืนดีบุคคลที่ท่านเกลียดที่สุดอาจเข้ามามีอำนาจปกครองประเทศ สร้างความเดือดร้อนแก่ท่านจนท่านทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาแสดงการต่อต้านในที่สุด หากการแสดงออกของท่านเป็นที่สนใจของพวกเขาเมื่อใดแล้ว เมื่อนั้นเองที่ท่านจะกลายเป็นเหยื่อของระบบที่ท่านมองข้ามมันตลอดมา
และหากกล่าวให้ถึงที่สุด ปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของกรณีทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้คือความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมและการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐต่อปัญหาของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่มานมนานแล้วในสังคมไทย และเป็นปัญหาที่ไม่ได้จำกัดพรมแดนอยู่แค่กับผู้ที่แสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่มันกระทบกับชาวไทยทุกคน แม้ว่าท่านจะเป็นคนที่โดยธรรมชาติแล้วไม่ชอบแสดงความคิดเห็นใดๆ เลยก็ตาม แต่ในชีวิตของท่านก็อาจมีบางครั้งที่ต้องถูกละเมิดสิทธิโดยผู้อื่น และเมื่อกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา เมื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหาแล้ว ท่านก็คือหนึ่งในผู้ที่ต้องรับความเดือดร้อนจากปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ เปรียบเสมือนกับเราทุกคนกำลังเดินอยู่บนทางเท้า ท่านเห็นคนอื่นเดินเหยียบแผ่นกระเบื้องแล้วมันยุบลงไปเป็นหลุมบ่อได้รับบาดเจ็บ ท่านอาจคิดว่าท่านคงไม่โดนแบบนั้นหากท่านระมัดระวังพอ แต่ท่านมองไม่ออกหรอกว่ากระเบื้องแผ่นไหนดีแผ่นไหนเสีย บางทีแผ่นกระเบื้องที่ท่านกำลังจะก้าวเหยียบไปนั้นอาจมีหลุมลึกอยู่ข้างใต้ก็เป็นได้ ปัญหากระบวนการยุติธรรมและการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นปัญหาที่ทำร้ายผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า
จุดเริ่มต้นของการทำให้สังคมนี้น่าอยู่ เป็นสังคมที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกพร้อมทั้งได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยไปอย่างแท้จริง คือการทำความจริงเกี่ยวกับการลอบประทุษร้ายผู้แสดงออกหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ปรากฏ ไม่เพียงเฉพาะที่เป็นกระแสในหน้าสื่อแต่ต้องครอบคลุมทุกกรณี
อย่างไรก็ตามในยุค คสช. เราเห็นแล้วว่าภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เจ้าหน้าที่เพิกเฉยหรือหย่อนยานในการตามหาตัวคนผิดอยู่เสมอมา และในวันนี้เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรจะยังคงเป็นผู้นำรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต่อไป แล้วเราจะไว้ใจได้อย่างไรว่าหากปล่อยให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบเรื่องนี้ต่อไปเพียงลำพังจะสามารถนำตัวคนร้ายตัวจริงมารับโทษตามกฎหมายได้จริงๆ (ย้ำว่านอกจากหาตัวได้แล้วต้องเป็นตัวจริงด้วย) ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าสมควรที่สภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการลอบประทุษร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองในด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง
สิ่งที่ผมและพรรคอนาคตใหม่พยายามทำก็เพียงอยากให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม เราอยากจะใช้ความรู้ความสามารถเพื่อทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ วันนี้ผมและทุกๆ คนในสภาแห่งนี้เป็นผู้ที่โชคดีที่อยู่รอดปลอดภัยไม่ถูกประทุษร้าย แต่ผมไม่อยากให้มันเป็นแค่เรื่องบังเอิญ ผมอยากให้ความโชคดีแบบนี้กลายเป็นมาตรฐานของสังคม มาตรฐานที่จะทำให้คนในประเทศนี้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และปราศจากความหวาดกลัว ผมหวังว่าเราจะตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ และหวังว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะช่วยทำให้ประเทศนี้เป็นประเทศที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่เคารพต่อกฎหมายต่อไป