ไม่พบผลการค้นหา
สาวอยุธยา วัย 22 ปี เล่าประสบการณ์ชวนเครียด เจอเพื่อนร่วมงานล้อเลียนและหัวเราะเยาะให้กับ 'รูปร่าง' ของเธอ 'อีอ้วน กินอ้อยป่ะ'

ลองนึกดูว่า จู่ๆ มีคนตะโกนเรียกคุณว่า อีอ้วน อีช้าง อีผีเสื้อสมุทร หรือกระทั่ง อีโอ่ง ต่อหน้าคนหมู่มาก แล้วมีเสียงหัวเราะคิกคักจากคนรอบๆ ตามมา คุณจะรู้สึกอย่างไร 

มุก (นามสมมติ) ชาวอยุธยา เจ้าของความสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 76 กิโลกรัม เจอแบบนี้ตั้งแต่วัยประถม มัธยม ปวช. ปวส. และจนกระทั่งในสังคมที่ทำงาน 

"นึกว่าจะเลิกถูกล้อตั้งแต่เรียนจบแล้วค่ะ เซอร์ไพรส์มาก มาเจอในที่ทำงาน" สาววัย 22 กล่าวอย่างผิดหวังในการเปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์'


ประสบการณ์ชวนร้องไห้ 

ด้วยรูปร่างที่ใหญ่กว่าคนอื่น ทำให้เธอถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนและเอาไปเปรียบเทียบกับตัวละครหรือตัวการ์ตูนมาตลอด ซึ่งสำหรับเด็กและความสัมพันธ์เชิงเพื่อนฝูง เรื่องแบบนี้เธอบอกว่า พอเข้าใจได้  

"เป็นเพื่อนกัน เรียกอีอ้วน อีหมูมานี่หน่อยซิ เราก็เดินกลับไปว๊ากมัน ตีมัน ตามภาษาเด็กๆ" มุกเล่าถึงอดีต

นั่นคือวัยเด็กที่เธอและหลายคนคุ้นเคย แต่ในระดับสังคมทำงานที่เพิ่งย้ายมาอยู่แค่ 2 เดือน เสียงล้อเลียนจากปากคนหน้าใหม่ ก็บดขยี้ความรู้สึกได้อย่างรุนแรง 

"โหย อ้วนจังเลยอ่ะ ตัวใหญ่เกินไปหรือเปล่า นี่คือคำทักทายของคนที่เพิ่งรู้จักกัน เราก็งง เออจะให้กูตอบกลับยังไงวะ เออ ตัวกูมันใหญ่"

"อีกคนถามว่าเราชื่ออะไร มุกค่ะ เขาก็สวน มุกไหน มุกโอ่งป่ะ จากนั้นเขาก็เรียกเราน้องโอ่ง น้องช้าง เริ่มพูดต่อหน้าคนเยอะๆ มีครั้งหนึ่งตะโกนเรียกแต่ไกล อียักษ์ไปไหน แล้วคนอื่นๆ ก็พากันขำ"

แม้พยายามไม่ตอบโต้ เพราะไม่อยากมีปัญหา แต่การเหยียดหยันรูปร่างก็มีมาอย่างต่อเนื่อง รอบด้าน และกว้างขวางมากขึ้น 

"เขานั่งซุบซิบกับป้าร้านอาหารจนเราสังเกตได้ เมื่อเราเดินเข้าไปถามว่า มีไรหรอคะ" ป้าตอบว่า "อ่อ พี่แกบอกผีเสือสมุทรเดินมาแล้วอ่ะ" 

"พี่อีกคนทักเราว่า อีเบาหวิวมาทำงานด้วยหรอ ถึงว่าโรงงานมันสั่นๆ เราเลยสวนกลับไปว่า พี่เราไม่ได้สนิทกันขนาดนั้นปะ หนูไม่ชอบ เขาก็บอก เออหน่า...หยอกเล่น อย่าคิดมาก เรื่องแค่นี้เอง"

อ้วน pixabay

ทัศนคติและมารยาทไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ เมื่อคนที่ล้อเลียนเธอมีตั้งแต่เด็กอายุ 19 ปี วัยกลางคน ไปจนกระทั่งพวกใกล้เกษียณ

"ยิ่งไม่พูด ไม่ตอบโต้ เราก็ยิ่งโดน" พนักงานออฟฟิศสาวบอกต่อ "พี่คนหนึ่งบอกเรา ขอเรียกว่าอีช้างได้ปะ เราบอกไม่ได้นะพี่ หนูไม่ชอบ บางครั้งมาถามว่า วันนี้กินอ้อยหรือเปล่า เอาอ้อยมาให้นะ เคยอธิบายแล้วว่าไม่ชอบ พี่เขาบอกว่า อย่าปัญญาอ่อน ก็มึงอ้วนจริงๆ อ่ะ ไม่ชอบก็เรื่องของมึงดิ ต้องยอมรับสภาพตัวเอง ตอนนี้เราเลี่ยงที่จะคุยกับคนนี้ไปเลย เพราะเขาไม่มีมารยาท" 


ความมั่นใจแหลกสลาย

ข้อมูลกรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้น 2561 ระบุว่าเด็กนักเรียนโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนถึง 600,000 คน เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนแล้วเท่ากับประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น  

มุกเองผ่านการเหยียดหยามตั้งแต่ยังเด็ก และส่งผลให้เธอเป็นคนขาดความมั่นใจ ไม่กล้าใส่เสื้อผ้าตามที่ชอบ เพราะกลัวเสียงวิพากษ์วิจารณ์  

"เราซื้อกางเกงยีนส์มา สำหรับเราสวยมากเลยนะ ส่องกระจกก็มั่นใจว่าดูดี แต่ไปถึงที่ทำงาน พี่คนหนึ่งถามว่า นึกยังไงใส่ตัวนี้ มึงมั่นใจนะว่าสวย เราก็ตอบไม่ถูก เลิกใส่ไปเลย"

วันแล้ววันเล่า และหลายๆ วัน จากที่แค่เสียความรู้สึก ก็ถึงเวลาหยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมา 'ซับน้ำตา'

"พี่คนหนึ่งที่คอยสอนงาน เรียกเราว่า อีช้าง อีโอ่ง ผีเสื้อสมุทร เราก็แบบ เราทำอะไรให้พี่เขาวะเนี่ย เออมันเป็นคำธรรมดา แต่เราเสียใจ น้ำตาไหลออกมา เขาก็ถามว่าเออเรื่องแค่นี้ต้องร้องเลยหรอ" มุกน้ำเสียงสั่นเครือ ดวงตาเริ่มมีน้ำใสๆ

บูลลี่ ภาพจาก pixabay

นอกเหนือจากเรื่องความรู้สึก การโดนแกล้งบ่อยๆ ยังมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน 

"ระวังเก้าอี้หักนะ เก้าอี้ที่นี่ไม่ดี ต้องเปลี่ยนคนไหมเนี่ย ? บางคนพูดใส่เราชัดๆ ทำไมเขาไม่หาคนที่หน้าตาดีกว่านี้มาทำงาน ฟังแล้วมันก็เครียด เศร้า"

ผลวิจัยเรื่องการบูลลี่ในที่ทำงาน จากสภาสหภาพแรงงานอังกฤษ (TUC) ระบุว่า 46 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และพวกเขายังเชื่อว่าปัญหานี้ส่งผลต่อสุขภาพจิต 

มากกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบแค่ทางจิตใจ มันยังส่งผลต่อความรู้สึกทางกายภาพอีกด้วย ส่งผลให้พนักงานราว 36 เปอร์เซ็นต์ ถึงขั้นต้องลาออกจากสถานที่ทำงานเดิมเพราะถูกกลั่นแกล้งจนไม่สามารถทนได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ กลไกของการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน (Workplace Bullying) คือการทำลายความเชื่อมั่นของบุคคล ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความภาคภูมิใจหรือความเชื่อมั่นในตัวเองแค่ไหนก็ตาม เมื่อความมั่นใจเริ่มสูญหาย ผู้ถูกกระทำจะเริ่มมีอาการหมดไฟในการทำงาน เชื่อมั่นในสัญชาตญาณตัวเองน้อยลง สุขภาพกายใจไม่แข็งแรง และรู้สึกว่าไม่เหมาะกับงานที่ทำอีกต่อไป


ปรับบุคลิก - หวังลดความเศร้า

วิธีการเอาตัวรอด นอกจากหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคนไร้มารยาท เธอยังหวังลดน้ำหนักเพื่อให้บุคลิกถูกใจคนอื่นและลดความบอบช้ำลงได้บ้าง  

"พยายามปรับบุคลิกด้วยการลดความอ้วนเป็นอย่างแรก เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนความคิดอีกฝ่ายได้ ก็ขอจัดการความเครียดของตัวเอง" เธอเล่า "มีบ้างที่คิดจะลาออก แต่ก็เพิ่งย้ายมาทำงานที่นี่ แถมเงินก็โอเค คงต้องทนต่อไป"

สาวเมืองกรุงฯ เก่า เรียกร้องให้ทุกคนหยุดล้อเรียน เหยียดหยาม กลั่นแกล้ง หยิบข้อบกพร่องคนอื่นๆ มาบดขยี้ ไม่ว่าจะสนิทหรือไม่สนิท

"เลิกสักทีเหอะกับการล้อปมด้อย รูปลักษณ์คนอื่นให้เขาอายขายหน้า แล้วบอกแค่ล้อเล่น แซวเล่น ขำๆ อย่าคิดมาก แบบนี้ไม่ได้เรียกคนตลก เขาเรียกคนไม่มีมารยาท" มุกปิดท้าย

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog