นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญของโลกที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น
จากการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในรูปแบบสมัครใจลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในอนาคต ภาพรวม 1 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมืออย่างดี ทั้งการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม
โดยผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 ราย ร่วมกันเลิกใช้แคปซีลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ถือเป็นการเลิกใช้แคปซีล (พลาสติกหุ้มฝาขวดเครื่องดื่ม) ถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 ในกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ (2562) จะเลิกใช้แคปซีลได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับพลาสติกไมโครบีด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศห้ามผลิตนำเข้าและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
การควบคุมผลิตภัณฑ์พลาสติกไม่ให้มีส่วนผสมของสารอ็อกโซ่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าผลิตและจำหน่ายสารอ็อกโซ่ ส่วนการลดเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 ในเบื้องต้นดำเนินงานโดยสมัครใจทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ การลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องดื่มชาหรือกาแฟ โดยมีรูปแบบกลวิธีที่หลากหลาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :