ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัย ย้ำชัดกินอาหารปรุงสุก ร้อน สะอาด ลดเสี่ยงโรค เผยกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ส่วนกรณีผัดไทยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกินแล้วป่วยนั้น อาจเกิดจากเชื้อจุรินทรีย์ที่ปนเปื้อนในผัก

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวชาวต่างชาติ 2 รายที่บอกว่าป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำจากการกินผัดไทยเมื่อครั้งมาเที่ยวในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ซึ่งผัดไทยที่จำหน่ายจะผ่านการปรุงประกอบด้วยความร้อนมากกว่า 80 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ได้ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ สุขลักษณะของการปรุงประกอบอาหาร ต้องเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ล้างวัตถุดิบและปรุงด้วยความร้อนให้สุกทั่วถึงใส่ในภาชนะที่สะอาด ไม่ใช้มือหยิบจับโดยตรง ล้างมือก่อนปรุงอาหาร แต่อาจจะมีวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงจะปนเปื้อนได้ เช่น ถั่วงอกดิบ ใบกุยช่าย หัวปลี ผักสดอื่นๆ เป็นต้น 

พ่อค้า แม่ค้าที่จำหน่ายอาหารจึงต้องใส่ใจความสะอาด โดยเฉพาะการล้างผักอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ ให้ล้างด้วย น้ำไหล แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ส่วนผู้ประกอบกิจการขายอาหารต้องมีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหาร ปฏิบัติตามสุขลักษณะหมั่นตรวจสอบดูแล ระมัดระวังจุดเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้อาหารปนเปื้อน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรสังเกตสภาพร้าน การเลือกใช้วัตถุดิบต่าง ๆ และสุขลักษณะของคนขาย ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการสอบสวนโรค พร้อมทั้งได้มีประกาศกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ครอบคลุมใน 4 เรื่อง ได้แก่ 

1. การควบคุมสุขลักษณะสถานที่ขาย ต้องดูแลให้ถูกต้องตั้งแต่จุดเตรียมอาหารแสงสว่าง ที่ล้างมือ ห้องน้ำ ที่กำจัดขยะและน้ำเสีย 

2. ควบคุมการปรุงประกอบและจำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบก็ต้องมีความสด มีการจัดเก็บอย่างดี น้ำดื่มหรือน้ำที่เอามาใช้ทำอาหารก็ต้องสะอาด ส่วนน้ำแข็งที่ใช้กินก็ห้ามเอาหมู เอาผักหรือเอาน้ำอัดลมลงไปแช่  

3. ควบคุมดูแลภาชนะอุปกรณ์และเครื่องใช้อื่นๆ ให้สะอาดปลอดภัย เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม ห้ามใช้ก๊าซหุงต้ม เมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอล เป็นเชื้อเพลิงในการทำประกอบปรุงอาหารบริเวณโต๊ะรับประทานอาหาร รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับป้องกันอัคคีภัยและน้ำใช้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

4. ควบคุมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารให้มีสุขวิทยาส่วนบุคคล ที่ดี โดยต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกรมอนามัย  

ดังนั้น จึงขอย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันให้ร้านอาหารดำเนินการอย่างถูกสุขลักษณะตามกฎกระทรวงฯ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง