ไม่พบผลการค้นหา
'ดีแทค' เปิด 3 แนวทางดึงศักยภาพ Mobility Data ฟื้นฟูการท่องเที่ยวเมืองรอง ช่วยสร้างรายได้ให้รัฐ

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ ดีแทคเฮ้าส์ ชั้น 32 ตึกจามจุรีสแควร์ มีการจัดงานเสวนา “Tapping the Untapped: ฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศผ่าน Mobility Data” ว่าด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดเมืองรอง ด้วยข้อเสนอแนะนโยบายจากผลศึกษาศักยภาพของ Mobility Data ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุญมีแล็บ

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data นี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนในการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์ของการวิจัยในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่ ‘การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Mobility data ที่มีข้อได้เปรียบและศักยภาพมหาศาล โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

“ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรใช้วิกฤตนี้ในการ ‘รีเซ็ต’ เพื่อทำความเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ สนับสนุนการเติบโตซึ่งกันและกัน นำมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืน” ชารัด กล่าว

ชารัด เมห์โรทรา
  • ชารัด เมห์โรทรา

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า ข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีอยู่กว่า 10-40 ล้านเลขหมาย หากเราใช้อย่างมีความรับผิดชอบ คือ มีการจัดเก็บและใช้ข้อมูลโดยไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็จะสามารถนำเอาธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มาทำความเข้าใจเพื่อหาข้อมูลใหม่ๆในการแก้ปัญหาได้ ซึ่ง ดีแทค เล็งเห็นว่า ในส่วนของ mobility data ยังมีการใช้งานน้อย คนยังไม่รู้ถึงศักยภาพของข้อมูลดังกล่าวมากนัก

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวภายในประเทศ หากมีการเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่และมีกลยุทธ์ ก็จะสามารถผลักดันให้การท่องเที่ยวกลายมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ทุกวันนี้ การท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ

งานในวันนี้จึงต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ mobility data เพราะเรายังไม่เคยใช้วิธีนี้แก้ปัญหามาก่อน แต่เดิมมักจะเป็นการเดินทำแบบสำรวจ สอบถามความคิดเห็นผู้คน ซึ่งบางอย่างอาจไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความจริง พร้อมกล่าวย้ำเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ว่า ดีแทค ได้ยกระดับการมองเห็นและการใช้ข้อมูลขึ้นมาหลายชั้น ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ จะเห็นเพียงจำนวนและช่วงเวลาของข้อมูล ดังนั้น ขอให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าเป็นการใช้ข้อมูลในภาพรวมเพื่อสาธารณประโยชน์

dtac1.jpg
  • อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในบริบทของประเทศไทย “เมืองรอง” เป็นจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งที่การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่รายได้กลับกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพ ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ดังนั้น ภาครัฐจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวในเมืองรองมาโดยตลอด

ในฐานะนักวิจัยนโยบายสาธารณะ มองว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองน่าจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ คือ ควรมองถึงศักยภาพ ความเป็นไปได้ ลักษณะของเมือง และมาออกแบบยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับเมืองมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่นโยบายเดียวครอบคลุมทุกอย่าง แบบ one size fits all แต่ต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย เหมาะสมกับศักยภาพของเมือง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ mobility data ในการวิเคราะห์ลักษณะการท่องเที่ยวในเมืองนั้นๆ เพื่อเลือกยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เกิดเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1.Microtourism การท่องเที่ยวระยะใกล้แบบไปเช้า-เย็นกลับ

2.การท่องเที่ยวแบบพักค้างคืน

3.การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดเมืองรอง

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นเสมือนยุทธศาสตร์ในการบรรลุจุดประสงค์อื่นๆ เช่น การสร้างรายได้ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงการส่งออก soft power ให้โลกเข้าใจในความเป็นไทยมากขึ้น

ความจำเพาะของ mobility data คือ การเป็นข้อมูลที่บอกถึงปริมาณการกระจุกตัวของผู้คน รูปแบบการเดินทาง ภายในพื้นที่หนึ่ง ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากนำตัวแปรทั้ง 4 มาพิจารณาร่วมกันแล้ว จะมีความเป็นไปได้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้กับการทำความเข้าใจปัญหาทางสังคมในมิติต่างๆได้ เช่น สาธารณสุข จราจร การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ การให้บริการด้านสุขภาวะ หากสามารถสร้างความร่วมมือกับภาครัฐได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายเพื่อประโยชน์ทางสังคม

dtac_5_CU-1024x683.jpg
  • ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย