‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเข้าประชุมรัฐสภาเผชิญหน้ากับ ส.ส.จากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับแต่กระทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557
ฝ่ายค้านทัพหลวงเพื่อไทยไม่รอช้าจัดติวเข้ม 55 ส.ส. พร้อมเฉลยการบ้านล่วงหน้า ไม่เพียงแต่สาระเนื้อหานโยบายเท่านั้นที่ลับฝีปากรอ แต่อาสาชำแหละคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จำแนก 4 กลุ่ม ล็อกเป้าถล่ม "14 รมต.สีเทา" เหมาไปในคราเดียวกัน
‘วอยซ์ ออนไลน์’ รวบรวมข้อครหาที่สังคมตั้งแง่ถึงความสง่างาม ความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ของ 14 รัฐมนตรี ในซึ่งมาจาก คสช. 3 คน พรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 1 คน พรรคชาติพัฒนา 1 คน ดังนี้
1.กลุ่ม 3 ป.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม (อดีตหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นส.ส.)
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ (อดีตรองหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นส.ส.)
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (อดีตสมาชิก คสช. ไม่ได้เป็นส.ส.)
2.กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างเก่า
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง (หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เป็นส.ส.)
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ)
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ)
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย)
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย (พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นส.ส.)
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้เป็นส.ส.)
3.กลุ่มผู้ต้องหาคดีกบฏ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ)
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ)
4.กลุ่มถือหุ้นสื่อ
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย)
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์)
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา)
กางคุณสมบัติต้องซื่อสัตย์ - ไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
การอภิปรายนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ทำให้ 14 รัฐมนตรีที่อาจมีปัญหาในเรื่องความสง่างามของการเข้ารับตำแหน่ง จะถูกเชื่อมโยงกับเนื้อหาใน "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" มาตรา 160 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี แยกย่อยไปตามตำหนิเฉพาะตัวของรัฐมนตรีแต่ละบุคคล โดยครอบคลุม (4) มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 และ (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุด หรือให้รอลงโทษ เว้นแต่ผิดโดยประมาท หรือผิดลหุโทษ
ควบคู่ไปกับ "มาตรฐานทางจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561" หมวด 1 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ คือ ข้อ 5 ต้องยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย
ข้อ 6 ต้องพิทักษ์ เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ
ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ประเทศชาติเหนือกว่าส่วนตน
ข้อ 8 ต้องซื่อสัตย์ ไม่ยอมให้ใช้ตำแหน่งหน้าแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือจะรับทรัพย์สิน ที่กระทบต่อการทำหน้าที่
ข้อ 10 ต้องไม่รับของกำนัล หรือทรัพย์สินอื่นใด เว้นแต่ให้โดยธรรมจรรยา และรับตามที่กฎหมายให้รับได้
ซึ่งข้อ 27 กำหนดให้การฝ่าฝืนตามหมวด 1 มีลักษณะร้ายแรง
ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาว่า จะมีการผลักดันให้เกิดผลการตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการใช้อำนาจส.ส.เข้าชื่อ ตามมาตรา 170 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 82 และมาตรา 160 ที่รัฐมนตรีแต่ละรายจะถูกอภิปรายลักษณะต้องห้าม คู่กับการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ พ.ศ. 2561 อย่างร้ายแรง เหมือนที่ 110 ส.ส.ฝ่ายค้านดำเนินการกับกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้วด้วยหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง