นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคมีนโยบายที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพโดยใช้ระบบโทรเวชกรรม Telemedicine หรือ “เทเลเมด” เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันปัญหาของระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันคือ เรามีผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาลมากถึง 25% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเรากำลังมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์จะต้องรับงานหนักเกินความจำเป็นและใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น รวมไปถึงการเดินทางทำให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ
ที่จริงแล้วคนไข้เหล่านี้สามารถรักษาที่บ้านหรือหมอประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยี “เทเลเมด”สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน โดยการรักษาผ่านเทเลเมด โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลก็สามารถส่งยาผ่านระบบการส่งยาเคลื่อนที่จากโรงพยาบาลสู่ผู้ป่วยได้ แล้วจะยิ่งทำให้ระบบการแพทย์ทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีครบวงจรเกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตระหว่างการลำเลียงผู้ป่วยไปโรงพยาบาลมีตัวเลขที่สูงมาก หรือที่เราเรียกว่า “ตายก่อนถึง” ซึ่งเราสามารถที่จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเทเลเมด โดยบุคลากรทางการแพทย์ในรถฉุกเฉินสามารถสื่อสารกับหมอผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลระหว่างทางอีกทั้งสามารถที่จะใช้กล้องที่เชื่อมโยงกับระบบ 4G หรือ 5G ทำให้สามารถที่จะมองเห็นสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก หากมีการสื่อสารระหว่างทางอย่างเรียลไทม์
“ดังนั้น หากรัฐสามารถทำให้ อสม. ใช้ระบบเทเลเมดเชื่อมต่อเข้ากับโรงพยาบาลศูนย์เพื่อให้หมอผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้วยการเห็นหน้ากันผ่านสมาร์ทโฟน รวมไปถึง อสม. และประชาชนผู้ป่วยทั่วไปยังสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขในการรักษาเบื้องต้น โดยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลด้วยความง่ายดายและมีประสิทธิภาพไม่ว่า อสม. ประชาชน และแพทย์ ก็สามารถเข้าใช้ด้วยความรวดเร็วและตลอดเวลา” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การปฏิรูปให้กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์ข้อมูลโดยการใช้เทคโนโลยี AI และ Big data จะต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากงบฯ ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังมีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมและดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพื่อประโยชน์สาธารณะ และกองทุนที่เกี่ยวข้องของกับกระทรวงดีอี จึงควรจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4G และ 5G ของ กสทช. ให้ชัดเจน
โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. และคณะกรรมการดีอีแห่งชาติ ควรการกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าเงินที่ได้มาจะต้องใช้เพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมในระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษาเป็นลำดับแรก เพราะจำนวนเงินนับแสนล้านที่ กสทช. ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ถือว่า เพียงพอกับการปฏิรูประบบเทคโนโลยีของการสาธารณสุข และการศึกษาของทั้งประเทศได้ ซึ่งถือว่าเป็นความเร่งด่วนลำดับแรกของประเทศไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยฝ่าด่านการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีแต่การเปลี่ยนแปลงทั้งคุณภาพของชีวิตผู้คนและทักษะในการทำงานรูปแบบใหม่ของผู้คนในอนาคตทั้งสิ้น