วันที่ 11 ก.ย. อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ‘วอยซ์’ ถึงความคืบหน้าการเจรจากับพรรคก้าวไกลเรื่องตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มอบหมายหน้าที่เป็นคณะเจรจา
อรรถร กล่าวว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐได้มีการประชุมพรรคกัน และเห็นตรงกันว่า ต้องการ กมธ.สามัญ การเกษตรและสหกรณ์ และกมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลที่ว่า พรรคพลังประชารัฐเรามีความใกล้ชิดกับบุคคลซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการที่คุมทั้ง 2 กระทรวงนี้ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งข้อดีจะทำให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมข้อมูล และนำเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาสู่ กมธ. โดยจะทำให้เราสามารถส่งตรงข้อมูลดังกล่าวไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางพรรคก้าวไกลอาจมีมุมมองว่า กมธ.ดังกล่าว ควรอยู่ในมือพรรคก้าวไกลเพื่อเป็นการตรวจสอบรัฐบาล
“ในฐานะที่อยู่ใน กมธ. มาหลายคณะ ไม่ว่าจะเป็นประธาน รองประธาน หรือสมาชิก ก็ต้องทำงานร่วมกัน ไม่มีการแบ่งพรรคพวก ยกตัวอย่างเช่น หากพรรคพลังประชารัฐได้เป็นประธาน กมธ.เกษตรฯ และที่ดินฯ นอกจากนั้นจะต้องมีสมาชิกจากพรรคอื่นๆ อีก 14 ท่านเข้ามาทำงานร่วมกัน ฉะนั้นจะไม่สามารถปิดกั้นการตรวจสอบได้เลย” อรรถร กล่าว
อรรถกร กล่าวต่อว่า ด้วยความที่ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน แต่ยืนยันว่า ก็ทำงานตรวจสอบ แต่เราอยากเห็นการทำงานของรัฐบาลให้มีความราบรื่น และแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด แต่ในสถานะของพรรคก้าวไกล เขาก็มีวิธีการทำงานที่เข้มข้นในแบบของเขา แต่เชื่อว่า สุดท้ายสมาชิก กมธ. 15 คนที่เข้าไปอยู่ในคณะกมธ.นั้นๆ ก็จะเป็นเพื่อนกันหมด
การทับซ้อนกันของประธาน กมธ. ของพรรคก้าวไกลก็ยังมีอีกหลายพรรค ไม่ใช่แค่พลังประชารัฐ ซึ่ง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย ก็เป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะอยากให้สภาฯ เร่งตั้งทุก กมธ. ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทำงานได้เกิดผลลัพธ์อย่างมากที่สุด แต่สุดท้ายแล้ว ถ้ามันไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องเข้าสู่ภาวะการใช้ข้อบังคับประชุมสภาผู้แทนฯ มาจัดสรรตำแหน่งประธาน กมธ.
อรรถกร เปิดเผยอีกว่า ตำแหน่งประธาน กมธ. นั้นเป็นการแบ่งโควตากันนอกรอบ ไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า พรรคไหนควรจะได้ประธาน กมธ. ไหน เพราะกระบวนการเลือกประธาน ก็ล้อมาจากห้องประชุมสภาฯ ใหญ่
กล่าวคือ สมาชิก กมธ. 15 คนจากแต่ละพรรค เข้ามาในห้องประชุม ก็เสนอชื่อขึ้นมา หากไม่มีคนเสนอแข่งก็ได้รับตำแหน่งประธาน แต่ถ้ามีคนเสนอแข่งก็ต้องลงคะแนนในการลับ เพื่อให้ทุกพรรคมีโอกาสได้ทำงาน ดังนั้นถึงกลับมาจุดที่ว่า การตรวจสอบในชั้น กมธ. มันห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะ หน้าที่ของประธานอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีการตรวจสอบอยู่ดีไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน
อรรถกร กล่าวทิ้งท้ายว่า การพูดคุยกันนั้นยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจทุกฝ่าย แต่เชื่อใจรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ว่า ถ้าตกลงกันไม่ได้คงใช้กระบวนการข้อบังคับสภาฯ แบบปกติ พร้อมระบุว่า ตนอยู่สภาฯ มาตั้งแต่ปี 2554 ใน กมธ. ไหนๆ ก็ตาม มักไมค่อยมีปัญหาในการเลือกประธาน กมธ. แต่ช่วงแรกอาจจะใช้เวลาพูดคุยกันนานหน่อยว่า เราจะแบ่งกันอย่างไร