ไม่พบผลการค้นหา
‘เพื่อไทย’ จัดเสวนาย้อนแผนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ‘ปลอดประสพ’ แนะกรอบความคิด 8 ข้อสร้างแผนการจัดการน้ำที่ดี ชี้รัฐประหาร 57 พังแผน ‘วิม’ แจงต้องดูพื้นที่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ด้าน ‘ธีรรัตน์’ จวก ‘อนุพงษ์’ ลงพื้นที่เขตลาดกระบังแต่ไร้การสั่งการที่เป็นรูปธรรม ฉะ ‘อัศวิน’ อดีตผู้ว่าฯ กทม. ทิ้งมรดกบาปให้แก่กทม.

วันที่ 21 ก.ย. 2565 ที่ Think Lab พรรคเพื่อไทย ในงานเสวนา “ย้อนแผนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ถ้าทำวันนั้น จะไม่ท่วมแบบวันนี้” โดย ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย วิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด 

ปลอดประสพ กล่าวว่า คงต้องย้อนไปถึงตอนที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ตอบการตั้งกระทู้ตอบที่ประชุมสภาว่า เราอยู่ในพื้นที่ฝนตกเยอะน้ำจึงท่วมตลอดนั้นไม่จริง การบริหารจัดการน้ำไม่สามารถกำหนดเวลาได้นั้นก็ไม่จริง การแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืนนั้นสามารถทำได้ 4 อย่างคือ 

1.มั่นใจ และชัดเจนในพื้นที่การทำงาน พื้นที่ทางภาคเหนือตอนบนหน้าที่ของมันคือการชะลอน้ำ และกักเก็บน้ำ เมื่อมาถึงกลางน้ำต้องให้ความสำคัญเรื่องการระบายน้ำ และกระจายน้ำ ท้ายที่สุดเมื่อมาถึงปลายน้ำ หรือกรุงเทพฯ ต้องจัดการระบายน้ำออกสู่ทะเล ฉะนั้นต้องรู้หน้าที่ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสั่งการต้องชัดเจน ไม่เหลื่อมกันไปเหลื่อมกันมา 

2.วัตถุประสงค์แม่นยำ คือจะป้องกัน และลดการเสียหายของน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามคับขัน เราต้องมีความแม่นยำ 

3.เราต้องตั้งใจให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า รัฐบาลสามารถคุ้มครองชีวิต และรายได้ ทำให้ต่างประเทศเห็นว่า มาลงทุนแล้วมีความคุ้มค่า

ปลอดประสพ กล่าวอีกว่า การจัดการบริหารน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มาจากการการกำหนดโจทย์ 8 ข้อ ได้แก่ 

1.ต้องซับน้ำด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

2.ให้ความสำคัญกับเขื่อนหลักของประเทศจำนวน 4-5 เขื่อน 

3.ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมที่ใช้ควบคุมน้ำ เช่น บรรดาประตูน้ำทั้งหลาย

4.มีคลังข้อมูลที่ดี 

5.มีแผนในการเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ 

6.มีพื้นที่รับน้ำนอง หรือแก้มลิงที่ชัดเจน และแน่นอน 

7.มีการตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำ ซึ่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความคิดจะตั้งกระทรวงน้ำ 

8.ต้องบริหารจัดการองค์กรบริหารน้ำไม่ให้เละเทะ 


ปลอดประสพ กล่าวอีกว่า เมื่อมีแผนงานที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีโครงการที่มันชัดเจน โดยยกตัวอย่างโครงการที่เคยเกิดขึ้นในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น การสร้างแหล่งเก็บน้ำ 16 แห่งในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน สร้างพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่สำคัญในจังหวัดเพื่อป้องกันการน้ำท่วม สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราว หรือแก้มลิง รวมถึงหัวใจของการระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นั่นคือทางระบายน้ำ หรือ Flood Way ซึ่งจะสามารถระบายน้ำได้ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที 


ปลอดประสพ กล่าวต่อไปว่า หากจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จได้ต้องมีข้อมูลพื้นฐาน 5 ข้อ ได้แก่ 


1.ลุ่มน้ำน่าน เจ้าพระยา สะแกรกัง ป่าสัก และท่าจีน เกี่ยวข้องกับพื้นที่จำนวน 160,000 ตร.กม. 

2.เกี่ยวข้องประชากร 25 ล้านคน

3.ฝนปกติ 1,300 มิลมิเมตร ซึ่งเป็นน้ำหลากไปแล้ว 33,000 ล้าน ลบ.ม.

4.ต้องมีความรู้เรื่องคลองผันน้ำ 3 แห่ง

5.ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ และผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์มากพอ 

ปลอดประสพ เผยอีกว่า การทำแผนบริหารจัดการน้ำในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น การคัดเลือกบริษัทต้องมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยทำกรอบความคิด หรือ Conceptual Plan ที่ต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ขอความเห็นพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และเอาความคิดเรื่องการเมืองของพรรคเพื่อไทยใส่เข้าไป ออกมาเป็นกรอบความคิดที่มีประสิทธิภาพ 

ซึ่งเราต้องเป็นคนตั้งแนวความคิด พร้อมทั้งชี้เป้า และให้บริษัทที่คัดเลือกมาช่วยคิดแผน อีกทั้งต้องทำ Design & Build ขณะที่โครงการ Flood Way นั้นแต่เดิม รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำโครงการได้ใน 3-4 ปี แต่กรมชลประทานก็รับคำบัญชาให้ออกแบบ 2 ปี เมื่อถึงขั้นประมูลก็เสียเวลาไปอีก 2 ปี เวนคืนอีกไม่รู้กี่ปี แล้วเพิ่งจะมาเริ่มก่อสร้าง มันก็ไม่เสร็จ 

ปลอดประสพ กล่าวว่า ประชาชนต้องบากหน้า บากตัวสู้กับน้ำตลอด ทั้งหมดจะสรุปว่า ถ้าไม่เกิดการรัฐประหาร 2557 พรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลต่อไปจนจบ โครงการเหล่านี้จะเสร็จเกือบหมดเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่รัฐบาลนี้บริหารมา 8 ปี ไม่ได้ทำอะไรนอกจากเอา Flood Way และคลังข้อมูลเราไปทำ ซึ่งคลังข้อมูลที่ดีต้องออกมาเป็นข้อมูลเดี่ยวที่ถูกย่อย และสังเคราะห์ 

ขณะที่ วิม กล่าวว่า ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แผนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เริ่มต้นประมาณปลายปี 2556 - 2557 ซึ่งความจริงแล้วได้รับผลกระทบจากน้ำมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ว่า ตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาช่วงต้นเดือนกันยายน สัญญาณน้ำท่วมเริ่มมาตอนเดือนสิงหาคม จากกาที่ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่ง ยิ่งลักษณ์ ต้องนั่งเครื่องบินพาณิชย์ไปอุตรดิตถ์ เพื่อสังเกตการณ์ ทั้งเฝ้าระวังเหตุการณ์ดินโคลมถล่มจำนวนมาก อีกทั้งเหตุฝนตกติดต่อกัน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างมากเป็นพิเศษ เพราะช่วงนั้นประเทศไทยต้องเจอพายุ 4-5 ลูก 

วิม ได้ขยายแผนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านว่า แบ่งแนวทางแก้ไขเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำคือภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ของแม่น้ำสี่สายได้แก่ ปิง วัง ยม และน่าน ก่อนที่จะไหลมารวมกันที่กลางน้ำคือ แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แบ่งเป็น พื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำวัง และแม่น้ำปิง โดยใช้บางระกำที่มีบึงขนาดใหญ่ 3 บึง ผันเข้าไปในการรองรับน้ำ มีบึงขี้แร้ง บึงตะเครง ซึ่งสามารถกับเก็บน้ำได้ 30 ล้าน ลบ.ม. เพื่อชะลอการไหลของน้ำลงมาที่ จ.นครสวรรค์ ส่วนแม่น้ำน่านเก็บที่บึงสีไฟซึ่งเป็นแก้มลิงที่สำคัญ ส่วนแม่น้ำยมก่อนลงมาที่ปากน้ำโพก็กักเก็บน้ำที่บึงบอระเพ็ด 

วิม เสริมว่า พอลงมากลางน้ำ ก็มีเขื่อนชะลอน้ำ ได้แก่ เขื่อนชัยนาท เชื่อนพระราม 6 โดยปริมาณน้ำจะถูกระบายออกทางฝั่งตะวันตกสู่แม่น้ำท่าจีน ออกทางสุพรรณบุรี ส่วนภาคตะวันออกจะระบายผ่านทางประตูระบายน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกง เมื่อไหลลงมายังช่วงปลายน้ำจะมีแก้มลิงที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ และทุ่งมะขามหย่อง 

ด้าน ธีรรัตน์ กล่าวว่า เรามีผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำของทางพรรคเพื่อไทย หากย้อนกลับไปปี 2554 การหาเสียงช่วงเดือนกรกฎาคมนั้นฝนตกหนักมาก พอเข้ามาเป็นรัฐบาลน้ำก็ท่วมเลย ทำให้วันนั้นเรารู้เลยว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำคือการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ทางรัฐบาลก็ได้รวบรวมสรรพกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการหาความเห็นจากนักวิชาการ การสอบถามความเห็นทุกภาคส่วน และเพียงแค่ปีเศษ เราออกมาเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำที่ประเมินค่าใช้จ่าย แนวทาง และผลสัมฤทธิ์ของการเห็นผล 

ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า มันเป็นผลของความเจ็บช้ำตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เรายังคงมีปัญหาเดิมซ้ำซาก ต้องกล่าวโทษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยึดอำนาจ ทำให้โครงการดีๆ หายไป ไม่เช่นนั้น วันนี้เราคงไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากขนาดนี้ อีกทั้งไม่รู้ว่าใครเป็นนายกฯ และเจ็บช้ำมากกว่า เมื่อได้ถาม พล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่มาตอบว่า ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร เพราะเขาทำไม่เป็น ถึงแม้เราจะมีแผน เตรียมพร้อม แต่คนทำไม่เป็น มือไม่ถึง ยังไงก็ไม่เห็นผลอย่างที่ตั้งใจ คำตอบที่ได้มาทำให้อยากจะเอาท่านออกจากตำแหน่งในขณะนั้นให้ได้เลย เพราะมีคนที่มีความสามารถมากกว่าพร้อมทำงานอยู่ 

ธีรรัตน์ กล่าวว่า พื้นที่ลาดกระบังเป็นแอ่งกระทะ แล้วรัฐบาลคิดว่า เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง แต่มันไม่ใช่ เขตลาดกระบังประสบเหตุน้ำท่วมก่อนพื้นที่อื่นๆ แต่ในวันนี้ หน่วยงานรัฐยังงงๆ และตั้งตัวไม่ทัน แม้จะพยายามพูดบอก แต่ก็ยังไม่ทันเหตุการณ์อยู่ดี 

อีกทั้งได้มีการถาม พล.อ.อนุพงษ์ ในวันที่ลงพื้นที่เขตลาดกระบังที่ผ่านมาว่า รู้ไหมว่าทำไมหน่วยงานต่างๆ ถึงลงมาช่วย แต่พล.อ.อนุพงษ์ ก็ตอบว่า ไม่รู้ ผมเป็นรัฐบาลส่วนกลางต้องให้กทม.ทำก่อน นั่นเป็นผลจากการที่ไม่มีการบูรณาการ สะท้อนความสอบตกในภาวะผู้นำ 

รวมถึงมรดกบาปที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทิ้งไว้คือ การบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลว ตลอดระยะเวลาที่อยู่มาไม่มีการลอกคูคลอง จนปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาบริหารต่อก็ได้มีการบริหารจัดการน้ำในอนาคตที่ชัดเจนอย่างยั่งยืน 

อีกทั้งวันที่ พล.อ.อนุพงษ์ ไปลงพื้นที่เขตลาดกระบังก็จบไปในวันนั้น ไม่มีการสั่งการที่เป็นรูปธรรม วันนี้น้ำบนถนนที่แห้งลง แต่มันกลับลงไปอยู่ที่บ้านเรือนของประชาชน สิ่งที่รัฐบาลต้องซับน้ำตา คือการเยียวยาประชาชน แม้ว่าจะมีการประกาศจากกทม. ให้เขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ประสบภัย แต่ยังคงมีการติดขัดในเรื่องการใช้งบประมาณ และยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ประสานไปยังกองทัพเรือ เรื่องเรือผลักดันน้ำ เพราะพื้นที่ลาดกระบังมันเป็นแอ่ง ถ้าไม่มีแรงปั๊ม แรงสูบ หรือแรงผลักดันน้ำ น้ำจะขังในพื้นที่ 

“ขอให้หน่วยงานภาครัฐดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงจริงๆ วันนี้เห็นกระทรวงต่างๆ ไปลงพื้นที่ มีถุงยังชีพมาช่วยเหลือแต่ไม่เห็นมาถึงเขตลาดกระบัง เราเองแม้จะเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน แต่ขอให้รัฐบาลดูแลประชาชนทุกพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่ต้องการจะดูด ส.ส. ไปอยู่พรรคท่านเท่านั้น หวังว่าเวลาน้อยนิดของรัฐบาลจะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ” ธีรรัตน์ กล่าว