คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ใช้กฎหมายปกติควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมาตรการที่พอยอมรับได้กับช่วงของสภาวการณ์ในเวลานั้น หากปัจจุบันเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลเองก็ได้ผ่อนปรนให้มีการเปิดพื้นที่ หรือห้างร้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้นั้น จึงเห็นว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในขณะนี้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น อีกทั้งรัฐบาลยังมีเครื่องมือทางกฏหมายอื่นๆที่สามารถนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังแทนได้ อย่างเช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายคนเข้าเมือง
ด้วยปัจจุบันปรากฏว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐบาล และหน่วยงานราชการกำลังใช้ไปในทางมิชอบ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง รุนแรง ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการตรวจสอบ และมีการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ ดังที่ปรากฏเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้แล้วในหลายพื้นที่ จนสร้างความเดือดร้อน และความยุ่งยากในการดำรงชีวิตของประชาชนจนเกินความจำเป็น ที่สำคัญคือมาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังกลายเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนนำไปใช้ในทางมิชอบ และยังแอบอ้างเพื่อการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนชนต่อสถานการณ์ทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต่างๆดังที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ หรือกิจการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจและมีคำถามจากประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นว่า “รัฐบาลกำลังใช้กฎหมายควบคุมโรค หรือควบคุมเรา” (ประชาชน)กันแน่
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ยังเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องสร้างมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในปัจจุบันและอนาคตภายหน้า หากแต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงระมัดระวัง และควรใช้เมื่อมีความจำเป็นสูงสุดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถึงขณะนี้ ที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากแล้ว และการบังคับใช้กฎหมายปกติอื่นๆดังที่กล่าวไปแล้วอย่างเคร่งครัด น่าจะเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ประชาชนต้องได้รับผลกระทบโดยไม่จำเป็นอีก แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการได้กลับมาดำรงชีวิตปกติของประชาชน โดยให้สามารถทำมาหากินและใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ อันรวมถึงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการทั้งของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่กำหนดขึ้นโดยใช้กฎหมายปกติตามความจำเป็น
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จึงเห็นพ้องกับเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้นำกฏหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายดังกล่าว พร้อมกันนี้รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภาพรวมไปด้วย