ไม่พบผลการค้นหา
รฟม.แจงค่าโดยสารสายสีส้มที่สูงถึง 62 บาท เป็นค่าโดยสารตามผลการศึกษาที่ระบุในเอกสารคัดเลือกลงทุน แต่อัตราการจัดเก็บจริงต้องมีการเจรจาใหม่ คาดราคาสูงสุดที่ 45 บาท

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงถึงประเด็นที่ สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีส้มพอๆ กับสายสีเขียว ที่ กระทรวงคมนาคม แย้งว่าแพง” นั้น

การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น คาดการณ์อัตราค่าโดยสารของสายสีส้มตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) จะมีราคาที่ 15 – 45 บาท เป็นราคาที่มีที่มาที่ไป และจะเป็นราคาที่ รฟม.จะใช้เจรจากับเอกชนที่ชนะการประมูล ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกด้วย ส่วนราคาที่มีการกล่าวอ้างถึง ที่ค่าโดยสารเริ่มต้น 17 บาท และมีการคิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาทต่อสถานีโดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาทเมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป โดยอัตราดังกล่าว เป็นแค่อัตราที่ระบุในเอกสาร

สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request for Proposal: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 ม.ค. 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานี ขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม. ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี พ.ศ. 2566 - 2567 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization

การที่เอกสาร RFP ระบุอัตราค่าโดยสารดังข้างต้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกรายใช้อ้างอิงในการประเมินรายได้ของเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯ ด้วยสมมติฐานเดียวกัน ประกอบกับในขั้นตอนการประเมินข้อเสนอ รฟม. จะสามารถประเมินรายละเอียดข้อเสนอของเอกชนแต่ละรายบนบรรทัดฐานเดียวกันได้อย่างชัดเจน ดังนั้นอัตราค่าโดยสารข้างต้นจึงไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม. จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจาก รฟม. ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และประชาชนยอมรับได้ (Willingness to pay) ทั้งนี้ รฟม. คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี พ.ศ. 2567 (โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี) จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท

การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ในขั้นตอนการประเมินข้อเสนอของเอกชนแล้วเสร็จ รฟม. จะเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ปรับอัตราโดยอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม.

ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น มีปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องหลายมิติที่สมควรจะต้องนำมาประกอบในการพิจารณาด้วย ทั้ง พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ระยะเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสาร ความเต็มใจในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน (Willingness to pay) เป็นต้น ดังนั้นกรณีที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดที่ 104 บาท โดยพิจารณาเทียบกับระยะทาง 84 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 1.23 บาท/กิโลเมตร จึงอาจไม่ได้สะท้อนค่าโดยสารจริงที่ประชาชนพึงพอใจในการจ่ายค่าเดินทาง เนื่องจากไม่ได้นำปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมาประกอบการพิจารณาด้วย