ไม่พบผลการค้นหา
ครอบครัวการเมืองในระดับจังหวัดมีอิทธิพลครอบงำการเมืองแห่งการเลือกตั้งในประเทศไทยมานานแล้ว ครอบครัวการเมืองดังกล่าวได้สะสมอำนาจอิทธิพลในระยะแรกโดยผ่านร่วมมือกับระบอบทหาร และมักจะช่วยเหลือสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งซึ่งเป็นพวกทหารด้วยเครือข่ายหัวคะแนนของตนเอง บางครั้งคนในครอบครัวเหล่านี้ก็เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง

รายงานวิจัยนี้อธิบายการเมืองยุคหลังปี 2562 ที่ทำให้อำนาจของตระกูลการเมืองสามารถฟื้นคืนขึ้นมาได้ มรดกทางการเมืองแบบอัตตาธิปไตยและปฏิกิริยาตอบสนองต่อความมั่นคงทำให้เกิดตาข่ายใหม่ของระบบอุปถัมภ์ต่อตระกูลการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และลูกน้องถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตระกูลการเมือง 

เส้นทางความสัมพันธ์ที่เกิดจากอดีตมากำหนดปัจจุบันทำให้ตระกูลการเมืองเหล่านี้ได้ประโยชน์ตอบแทน ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในเชิงกลยุทธ์คือ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชนชั้นนำ รวมทั้งการใช้วิธีบีบบังคับ การใช้ต้นทุนที่มีอยู่แล้วการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นและการยอมเข้าเป็นพวกกับฝ่ายทหาร กลยุทธ์เหล่านี้ถูกใช้ได้ผลในอดีต 

รายงานกรณีศึกษาทั้งหมดประกอบด้วยสี่จังหวัดคือเชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัยและปัตตานี แต่ในรายงานฉบับนี้จะสรุปให้เห็นเพียงแค่กรณีจังหวัดเชียงใหม่และปัตตานีเท่านั้น ผู้สนใจสามารถดูกรณีศึกษาจังหวัดอื่นในบทความฉบับเต็มในภาษาอังกฤษ (Paul Chambers, Srisompob Jitpiromsri, Katsuyuki Takahashi, “The persevering power of provincial dynasties in Thai electoral politics.” Asian Journal of Comparative Politics, 1–21 ,sagepub.com/journals-permissions DOI: 10.1177/20578911221142132 journals.sagepub.com/home/acp และใน https://cscd.psu.ac.th/en/node/457)


ความนำ

ครอบครัวการเมืองในระดับจังหวัดมีอิทธิพลครอบงำการเมืองแห่งการเลือกตั้งในประเทศไทยมานานแล้ว ครอบครัวการเมืองดังกล่าวได้สะสมอำนาจอิทธิพลในระยะแรกโดยผ่านร่วมมือกับระบอบทหาร และมักจะช่วยเหลือสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งซึ่งเป็นพวกทหารด้วยเครือข่ายหัวคะแนนของตนเองบางครั้งคนในครอบครัวเหล่านี้ก็เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง

เพื่อเป็นการสร้างผลประโยชน์ต่างตอบแทน เผด็จการทหารจะช่วยครอบครัวการเมืองสะสมอำนาจในท้องถิ่น หลังจากช่วง 12 ปีที่ว่างเว้นจากการเลือกตั้งประเทศไทยก็มีการเลือกตั้งในปี 2512 จากการเลือกตั้งในครั้งนั้นพื้นที่การเมืองก็เริ่มขยายตัว ครอบครัวการเมืองเริ่มแข่งกันเพื่อแย่งที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏร ถ้าทำสำเร็จพวกเขาจะฉวยประโยชน์จากนโยบายสาธารณะด้วยการคอรัปชั่นและแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากประชาชนในเขตเลือกตั้งเพื่อความมั่งคั่งของครอบครัว หรือพรรคพวกในจังหวัด แต่การเมืองแห่งการเลือกตั้งอยู่ได้ไม่นานนัก การรัฐประหารปี 2514 บีบบังคับให้ครอบครัวทางการเมืองเฝ้ารอคอยและส่งผู้สมัครอีกทีในปี 2518 

การยุบสภาในตอนนั้นสร้างความกดดันให้กับการเลือกตั้งในปี 2519 และทหารก็ยึดอำนาจอีกครั้งในปลายปี 2519 จากนั้นการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นอีกเลยจนกระทั่งปี 2522 ทำให้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยบังเกิดขึ้นจนกระทั่งปี 2534 มีการรัฐประหารยึดอำนาจ จนถึงช่วงเวลานี้ตระกูลการเมืองในจังหวัดต่างๆเริ่มมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้นในการเมืองแห่งการเลือกตั้ง 

เกิดการยึดอำนาจในช่วงสั้นๆของคณะรัฐประหารระหว่างปี 2534-2535 ตามมาด้วยการฟื้นประชาธิปไตยซึ่งทำให้พื้นที่ทางการเมืองขยายตัวออกจนเป็นเนื้อนาบุญสำหรับตระกูลการเมืองเพื่อเพาะเลี้ยงตัวเองต่อไป อำนาจของพวกเขาเติบใหญ่ขึ้น ไม่เพียงแค่ในระดับชาติแต่ยังคงเป็นอำนาจการเมืองในระดับท้องถิ่นและตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งได้รับโอกาสจากการเลือกตั้งในปี 2537 ดังนั้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 และหลังปี 2540 ใหม่ๆ ตระกูลใหญ่ทางการเมือง (ที่เริ่มเรียกกันว่าบ้านใหญ่) มีฐานะและอำนาจสูงเด่นมาก อย่างไรก็ดี การปฎิรูปรัฐธรรมนูญใหม่และการรัฐประหารสองครั้งในปี 2549 และปี 2557 ทำให้สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองอันมีผลกระทบต่ออำนาจของครอบครัวทางการเมืองในที่ต่างๆด้วย

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่อำนาจของคณะรัฐประหารสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2565 เกิดการฟื้นตัวอำนาจการเมือง ของวงค์ตระกูลทางการเมืองขึ้นมาอีก ดังเช่นการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี 2563 และการเลือกตั้ง อบต. ในปี 2564 การเลือกตั้งทั้งสามครั้งเปิดโอกาสอย่างมากต่อครอบครัวทางการเมืองเพื่อยืนยันที่มั่นทางการเมืองของตัวเองอีกครั้ง ในปี 2565 เครือญาติและตระกูลการเมืองเหล่านี้ยังคงเป็นตัวแสดงบทบาทที่สำคัญในการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีอำนาจมากในบางที่บางจังหวัด จากการศึกษาครั้งนี้

มองดูที่วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของตระกูลใหญ่ทางการเมืองในระดับจังหวัดในการเมืองแห่งการเลือกตั้งของไทย คำถามในการศึกษาคือประวัติศาสตร์ของการเพิ่มอำนาจและยึดครองพื้นที่ของตระกูลการเมืองในบางจังหวัดคืออะไร? ทำไม่บางจังหวัดพวกนี้มีอำนาจในขณะที่บางจังหวัดก็ไม่มีประวัติศาสตร์การครองอำนาจของตระกูลการเมืองเดียว อะไรคืออุปสรรคของการครอบงำโดยตระกูลการเมืองใหญ่ในบางจังหวัด? 

ก่อนทำการศึกษา เราจำเป็นจะต้องเข้าในคำศัพท์สำคัญคือ “ครอบครัวทางการเมือง” หมายความว่าถ้ามีคนมากกว่าหนึ่งคนในครอบครัวใดได้รับตำแหน่งจากการเลือกตั้งในพื้นที่เฉพาะทางภูมิศาสตร์ (จังหวัด) “ระบบเส้นสายเครือญาติทางการเมือง” คือการที่มีคนในเครือข่ายเส้นสายเครือญาติทางการเมืองเดียวกันในวงกว้างให้การสนับสนุนช่วยเหลือกันต่อแกนนำของครอบครัวทางการเมืองในการเลือกตั้งและการจัดการทางการเมือง “ตระกูลใหญ่ทางการเมือง” (หรือบ้านใหญ่) จะเกิดขึ้นเมื่อครอบครัวการเมืองหนึ่งใดสามารถสืบทอดยึดอายุอำนาจของตนเองโดยผ่านการเลือกตั้งติดต่อกันไปโดยมีคนได้ตำแหน่งต่อกันอย่างน้อยหนึ่งคนหรือมากกว่าหนึ่งคน ครอบครัวทางการเมือง ระบบเส้นสายเครือญาติทางการเมืองและตระกูลใหญ่ทางการเมืองอาจจะร่วมมือกันในกลุ่มย่อยหรือมุ้งการเมืองต่างพรรคกันภายใต้เงื่อนไขว่ากลุ่มการเมืองใดมักจะอยู่บนพื้นฐานของเครือญาติเดียวกัน

มีข้อโต้แย้งกันว่าวัฒนธรรมทางการเมืองมีผลกระทบที่สำคัญต่อการเมืองของครอบครัวในรัฐสภา คำอธิบายเรื่องวัฒนธรรมการเมืองให้ความสนใจต่อเรื่องการที่เจ้าพ่อที่สามารถครอบงำและรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้ เจ้าพ่อเหล่านี้เริ่มจะมีอำนาจในระดับท้องถิ่นในท่ามกลางการเติบโตของจังหวัดในระหว่างห้วงทศวรรษที่ 2520 และต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2530 ด้วยความร่วมมือกับทหาร หลังปี 2530 มีการฆ่ากันตายมากขึ้นระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสะท้อนภาพว่าตำแหน่งการเมืองจากการเลือกตั้ง (สส.) มีราคาสูงมากในตลาด สถาบันการเลือกตั้งจึงกลายเป็นกลไกทางสถาบันที่สำคัญในทางการเมือง 

โอกาสในการคอรัปชั่นทำให้การสนับสนุนของเจ้าพ่อในจังหวัดต่อประชาธิปไตยมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ มีข้อโต้แย้งว่าความเข้มแข็งของการเมืองบนฐานครอบครัวตั้งแต่ปี 2520-2540 เป็นผลจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของเครือข่ายการเมืองในระดับจังหวัด แต่บางทีอาจจะเป็นเพราะเครือข่ายครอบครัวเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับชาติด้วย ในขณะที่นายทุนในจังหวัดเริ่มมีอำนาจมากขึ้นจนมาเป็นคู่แข่งกับชนชั้นนำในเมืองใหญ่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลแห่งอำนาจทำให้เครือข่ายครอบครัวที่มีอำนาจในชนบทมีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้พวกนี้ก้าวเข้ามาพัวพันกับระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองมากขึ้นอีก

ประมาณห้วงปี 2540 เป็นต้นมา สถาบันการเมืองต่างๆเป็นตัวช่วยสนับสนุนโชคลาภของตระกูลการเมืองมากขึ้น ครอบครัวการเมืองเหล่านี้ก็เพิ่มความสามารถในการควบคุมองค์กรทางการเมืองจนกลายเป็นสูตรการเมืองแห่งการเลือกตั้ง นี่กลายเป็นธรรมชาติและลักษณะของพรรคการเมืองไทยในอีกแบบหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหนึ่งเขตแทนที่จะเป็นหลายคนต่อหนึ่งเขตการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่มีโครงสร้างอ่อนแอภายในถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างพรรคการเมืองที่รวมศูนย์ ทำให้อำนาจอิทธิพลของครอบครัวการเมืองต่อพรรคการเมืองถูกทำให้”ลดลงแม้จะยังไม่หายไป” ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548

หลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2550 สูตรการเลือกตั้งเริ่มเปลี่ยนไปอีกและพรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอไปอีกเพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตระกูลการเมืองใหญ่ (บ้านใหญ่) เริ่มต่ออายุอำนาจตัวเองโดยแสดงให้เห็นบทบาทความสำคัญในการเลือกตั้งทั่วไป ในปี2550 และปี 2554 การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจบังเกิดขึ้นทั้งที่ในระดับชาติเกิดการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นบนท้องถนนภายหลังจากการรัฐประหาร 2549 นอกจากนี้ ชนชั้นนำของพรรคการเมืองเองก็ไม่สามารถเบียดขับอำนาจของตระกูลการเมืองให้หายไปได้ในระหว่างปี 2554-2557

ตรงกันข้าม จนกระทั่งปี 2557 ครอบครัวการเมืองบางกลุ่มก็ได้ขยายอำนาจแบบราชวงศ์ทางการเมืองของตัวเองในรัฐสภาได้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้นำไปสู่การสถาปนาสูตรการเลือกตั้งใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งก็ไปฟื้นคืนอำนาจของกลุ่มมุ้งเล็กภายในพรรคการเมืองอันมีฐานที่เจ้าพ่อซึ่งมีอำนาจครอบงำในระดับจังหวัด ในปี 2565 บรรดาตระกูลการเมืองทั้งหลาย รวมทั้งพวกบ้านใหญ่ต่างๆและพวกเจ้าพ่อยังยืนหยัดรักษาความสำคัญในการเมืองของพรรคในระดับจังหวัด ปรากฏการณ์เช่นนี้ปรากฎให้เห็นในการเลือกตั้งปี 2562 และการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับจังหวัดในปี 2563 รวมทั้งการเลือกตั้งระดับตำบลในปี 2564

ในอีกด้านหนึ่ง มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอันจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอำนาจของ”ครอบครัวทางการเมือง”ต่างๆนั้นมีรากทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ลึกมากโดยแผ่กระจายไปทั่วทุกจังหวัดในทุกภูมิภาค แต่อำนาจของ”ตระกูลใหญ่ทางการเมือง” หรือที่เรียกกันว่าบ้านใหญ่นั้นมีความสำคัญในบางจังหวัดเท่านั้น อันที่จริง มีบางครั้งเท่านั้นที่มีครอบครัวเดียวประสบความสำเร็จในการผูกขาดการเมืองของจังหวัดตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ในเมื่อการเมืองในระบบรัฐสภาถูกทำให้หยุดชะงักโดยฉับพลันบ่อยๆจากการรัฐประหาร หรืออาจจะเกิดการยุบสภา จึงมีเพียงร้อยละ 25 ของครอบครัวการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการรักษาอำนาจในรัฐสภาหลังจากผ่านมาหนึ่งหรือสองสมัย คงไม่เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายที่อำนาจของครอบครัวการเมืองในระดับจังหวัดจะเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยยอมให้มีการเลือกตั้งสลับกับการใช้ระบอบอำนาจนิยมในหลายๆช่วงเวลา ระหว่าง 2476-1982, 2489-2490, 2491-2501, 2512-2514, 2518-2519, 2522-2534, 2535-2557, 2562-ปัจจุบัน

มีการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ไทย ที่พบว่ามีเพียงแค่ 18 ครอบครัวทางการเมืองที่เข้าสูการเมืองก่อนช่วงปี 2503 แม้ว่าจะเหลือเพียงแค่สองตระกูลเท่านั้นที่เหลืออยู่จนถึงปี 2541 อย่างไรก็ดี มีข้อโต้แย้งอีกด้านหนึ่งว่าการครองอำนาจของตระกูลการเมืองใหญ่ในรัฐสภาไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2475 มีข้อมูลพบว่าจำนวนของตระกูลการเมืองใหญ่ (บ้านใหญ่) ซึ่งวัดได้จากร้อยละของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรได้เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 3.1 ในการเลือกตั้งปี 2522 เป็นร้อยละ 18 หลังการเลือกตั้งในปี 2554

แม้ว่าการเลือกตั้งในปี 2557 จะเป็นโมฆะ แต่การเลือกตั้งในปี 2562 ก็ยังสะท้อนภาพที่ตระกูลการเมืองใหญ่สามารถครอบงำการเมืองในสภาผู้แทนฯได้ครอบครัวการเมืองบางครอบครัวที่มีฐานมาจากระดับจังหวัดประสบความสำเร็จในการครอบครองพรรคการเมืองทั้งพรรคเช่นตระกูลชินวัตรครอบครองพรรคไทยรักไทยและพรรคการเมืองอื่นที่เป็นผลตกทอดตามมา เช่นเดียวกับตระกูลศิลปอาชาที่เคยครอบครองพรรคชาติไทย แต่การแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อยๆภายในพรรคก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน เช่นตระกูลคุณปลื้ม หาญสวัสด์ ตันเจริญ ชิดชอบ อังกินันท์ คำประกอบ  อัศวเหม เทียนทอง การรักษาอำนาจอย่างยั่งยืนของตระกูลการเมืองใหญ่ในจังหวัดจึงเป็นเรื่องยากเช่นกัน

ประจักษ์ ก้องกีรติอธิบายว่า ตระกูลการเมืองใหญ่ต้องมีทรัพยากรสามอย่างคือ มีฐานะที่มั่งคั่งร่ำรวยมากพอสมควร มีทักษะทางการเมืองที่ฉลาดเฉลียวและมีผู้สืบทอดทางการเมืองที่มีศักยภาพ แต่ครอบครัวการเมืองในระดับจังหวัดเมื่อมีทุนมากพอสมควร มีการตัดสินใจที่ฉลาดเฉลียว บางครั้งก็ใช้ระบบอุปถัมภ์บางทีใช้อำนาจบังคับ มีผู้สืบทอดอำนาจการเมือง มีความสัมพันธ์กับนักการเมือง/หรือทหารผู้มีอิทธิพลคนอื่น พวกเขาประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจการเมือง แต่บางครอบครัวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น ผลก็คือบางจังหวัดถูกควบคุมโดยตระกูลการเมืองครอบครัวเดียวในบางที่ก็มีสองครอบครัว บางที่ก็มีหลายครอบครัว การวิจัยนี้จะดูที่กรณีศึกษาเหล่านี้

กรณีศึกษาที่น่าสนใจในการศึกษาครั้งนี้คือครอบครัวการเมืองในเชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัยและปัตตานี แต่ละกรณีแสดงให้เห็นว่าครอบครัวการเมืองต่อสู้ดิ้นรนอย่างไรในการรักษาอำนาจการเมืองในรัฐสภา และอะไรเป็นอุปสรรคท้าทายของครอบครัวเหล่านี้ ในที่นี้จะยกกรณีตัวอย่างเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และปัตตานี

 

เชียงใหม่

ในกรณีของเชียงใหม่ ตระกูลการเมืองที่เก่าที่สุดคือ ณ เชียงใหม่ ซึ่งสืบเชื้อสายไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ครอบครัวคนจีนก็ก้าวเข้ามา เช่น ชุติมา นิมมานเหมินทร์ กิติบุตร และชินวัตร ด้านตระกูลชินวัตรนั้นมีธุรกิจแตกแขนงไปหลายด้าน เช่นการค้าผ้าไหม ทำสวน และโรงภาพยนต์ในระยะแรกสมาชิกครอบครัวเหล่านี้เข้ารับตำแหน่งการเมืองของเชียงใหม่ เช่นนายกเทศมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 

ในช่วงตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา เชียงใหม่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ครอบครัวการเมืองก็มีการปรับตัว บางกลุ่มก็ไปได้บางกลุ่มก็อยู่ไม่ได้ ครอบครัวที่อยู่ต่อมาคือบูรณุปกรณ์ ซึ่งนำโดยพี่น้องประพันธ์ บุญเลิศและปกรณ์ ครอบครัวนี้เริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กในปี 2464 ในปี 2512 ก็เปิดร้านผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ถนนท่าแพ จนกระทั่งปี 2518 การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ก็เริ่มขยายตัวเข้มแข็งขึ้น ครอบครัวบูรณุปกรณ์ก็เริ่มหันมาเน้นที่สินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยวจากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2548 กล่าวกันว่าเงินทุกๆร้อยบาทที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในเชียงใหม่สิบบาทจะเข้าไปสู่ธุรกิจของตระกูลบูรณุปกรณ์

ในปี 2537 เริ่มมีการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งช่วยทำให้ตระกูลบูรณุปกรณ์มีความเข้มแข็งขึ้นทางการเมือง ในปี 2538 มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งแรก ครอบครัวได้เข้าร่วมกลุ่มการเมืองท้องถิ่น และปกรณ์ก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในปี 2541 ปกรณ์ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีและอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2544 ในขณะเดียวกันบุญเลิศก็ได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อทักษิณ ชินวัตรได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นในปี 2541 ก็ได้เชิญให้บูรณุปกรณ์เข้าร่วมกับไทยรักไทย ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันนี้มาจากการที่บุญเลิศเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับน้องชายทักษิณที่มงฟอร์ต ในปี 2544 ปกรณ์ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในนามของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2544 - 2559 ครอบครัวบูรณุปกรณ์ขยายอำนาจทางการเมืองไปทั่วเชียงใหม่ในฐานะหุ้นส่วนเล็กๆของครอบครัวชินวัตร

ในขณะที่ปกรณ์เป็น ส.ส. ในระดับชาติ บุญเลิศก็เป็นนายกเทศมนตรีเชียงใหม่ (2547-2550) และนายก อบจ. เชียงใหม่ (2551-2559) ทัศนัย บูรณุปกรณ์หลานของปกรณ์และบุญเลิศก็ได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และพี่สาวคือทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ได้เป็นนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือกและต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเชียงใหม่ ปกรณ์เป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 คนที่ถูกห้ามเข้ายุ่งกับการเมือง นับจากปี 2550-2555 และเสียชีวิตในปี 2556 อย่างไรก็ดี ทัศนัยและทัศนีย์ก็ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในการสนับสนุนอำนาจครอบครัวการเมืองโดยผ่านการเชื่อมต่อกับตระกูลชินวัตร แต่ภายหลังรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ซึ่งขับทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกนอกประเทศในขณะที่ครอบครัวบูรณุปกรณ์ยังคงรักษาตำแหน่งทางการเมืองของตนไว้ได้ 

แต่ในเดือน กรกฏาคม 2559 บุญเลิศตกเป็นเป้าของคณะรัฐประหาร คสช. บุญเลิศและคนในครอบครัวคนอื่นรวมทั้งประพันธ์ ทัศนัยและทัศนีย์ถูกจับในปี 2561 คณะรัฐประหารเคลียร์ข้อกล่าวหาให้บุญเลิศและเขากลับมาเป็นนายกฯอบจ.เชียงใหม่ แต่ก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากพรรคเพื่อไทยว่ามีการตกลงต่อรองกับหัวหน้า คสช. คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะด้วยเหตุผลดังกล่าว ภายหลังปี 2561 ทักษิณเริ่มแยกตัวออกจากตระกูลบูรณุปกรณ์ ในการเลือกตั้ง อบจ.เดือนธันวาคม 2563 ทักษิณและยิ่งลักษณ์ทุ่มเทการสนับสนุนให้กับคู่แข่งของบุญเลิศที่มาจากพรรคเพื่อไทยคือนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศรและกล่าวหาว่าบูรณุปกรณ์กลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลของคณะรัฐประหารซึ่งบุญเลิศก็พยายามปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ อย่างไรก็ดีพิชัยก็เอาชนะบุญเลิศจนได้แม้จะอ่อนกว่าในตอนแรกได้ซึ่งก็ทำให้ฐานการเมืองของตระกูลการเมืองใหญ่อย่างบูรณุปกรณ์อ่อนตัวลง อำนาจของครอบครัวบูรณุปกรณ์กลับมาอีกเมื่อนายอัศนี บูรณุปกรณ์ (ลูกของประพันธ์) ชนะการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อ 28 มีนาคม 2564 โดยถือเป็นการสืบทอดตำแหน่งจากทัศนัย  

ในปี 2565 ทัศนีย์ยังคงเป็น สส. พรรคเพื่อไทยทั้งๆที่มีความขัดแย้งระหว่างทักษิณและลุงของเธอคือบุญเลิศ อันที่จริง ทัศนีย์ได้พิสูจน์ว่ายังภักดีต่อพรรคเพื่อไทย ไม่เคยสนับสนุนบุญเลิศ และประนามพลเอกประยุทธ์ว่าดำรงตำแหน่งเกินกว่าเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด 8 ปี แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้ย้ายทัศนีย์จากผู้สมัครเชียงใหม่เขต 1 ไปอยู่เขต 3 

มีกลยุทธ์หลายอย่างที่ช่วยให้ครอบครัวบูรณุปกรณ์รักษาอำนาจเอาไว้ได้ ซึ่งรวมทั้งการใช้ความมั่งคั่งสร้างฐานอำนาจทางการเมือง พวกเขาได้ใช้ความฉลาดเฉลียวในการทางการเมืองและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่นร่วมมือกับทักษิณหรือกับผู้นำทหารเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ตระกูลบูรณุปกรณ์ซึ่งมีผู้สืบทอดหลายคนสามารถจะส่งคนเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อตำแหน่งทางการเมืองได้หลายคน ในขณะเดียวกันก็ระมัดระวังไม่แตะต้องอำนาจอนุรักษ์นิยมและท้าทายทหารมากเกินไป ในอนาคต ตระกูลบูรณุปกรณ์น่าจะสามารถรักษาอำนาจการเมืองของตัวเองไว้ได้บุญเลิศสามารถกลับมาแข่งขันในการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งต่อไปได้ แต่เครือญาติของตระกูลยังคงมีตำแหน่งทางการเมืองอยู่ต่อไป เพื่อจะอยู่รอดได้ ครอบครัวบูรณุปกรณ์อาจจะต้องมีทางเลือกหลายอย่าง เช่นร่วมมือกับทักษิณในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรืออาจจะร่วมมือกับพันธมิตรพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาซึ่งก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในจังหวัดที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะไปทางไหน ครอบครัวนี้จะยังคงอยู่ในฐานะตระกูลการเมืองท้องถิ่นที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่


ปัตตานี

ในกรณีของจังหวัดปัตตานี ไม่มีครอบครัวใดประสบความสำเร็จในการผูกขาดอำนาจ ปัตตานีจะเหมือนกับยะลาและนราธิวาส เป็นศูนย์กลางของขบวนการต่อต้านติดอาวุธของคนมลายูมุสลิมต่อรัฐไทย ตัวแสดงฝ่ายรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นยังมีความเข้มแข็งในการเมืองของจังหวัด แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับยะลาและนราธิวาสคือ ผู้นำศาสนาอิสลามและคนที่เป็นชาตินิยมแบบมลายูเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาตั้งแต่ 2491 อย่างไรก็ดี อำนาจและเครือข่ายของอำนาจรัฐส่วนกลางและข้าราชการก็มีความโดดเด่นด้วยเช่นกัน มีครอบครัวการเมืองหลายครอบครัวในปัตตานี เช่นอับดุลบุตร เบญจลักษณ์ และวาบา เป็นต้น แต่ครอบครัวที่สำคัญคือโต็ะมีนา 

ตระกูลโต็ะมีนามีความสำคัญเพราะเริ่มมาจากหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาที่มีเกียร์ติภูมิมาก นักการเมืองมลายูมุสลิมในตอนแรกอาจจะไม่ค่อยร่วมมือกันแต่พวกเขาเริ่มจะสามัคคีกันภายใต้สารทางการเมืองของหะยีสุหรง มรดกการเมืองของหะยีสุหรงและต้นทุนการเมืองที่สะสมไว้กับครอบครัวโต๊ะมีนาเป็นตัวแบบของแนวคิดเชิงสถาบันนิยมที่ตกทอดในทางประวัติศาสตร์ หะยีสุหรงเสนอข้อเรียกร้องเจ็ดข้อให้กับรัฐบาลซึ่งกลายเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องรัฐปาตานีที่เป็นแบบจัดการตนเอง แต่ในเดือนมกราคม 2491 เขาถูกจับและมีข้อกล่าวหาว่าเป็นขบถ แม้จะถูกปลดปล่อยตัวในอีกสองปีต่อมา หะยีสุหรงก็หายสาบสูญด้วยมือของตำรวจในวันที่ 13 สิงหาคม 2497 หลังจากนั้น ลูกชายของเขาคืออามีนก็ได้รับเลือกเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรปัตตานีในปี 2500 อามีนเริ่มรณรงค์การเมืองตอนแรกโดยไม่สังกัดพรรคแต่ก็ถูกบีบบังคับด้วย”ปืน” ให้เข้าร่วมกับพรรคเสรีมนังคศิลาอามีนเชิดชูประเด็นสิทธิและเสรีภาพของคนมลายูมุสลิมซึ่งทำให้เขาได้รับการเลือกตั้ง หลังจากการรัฐประหารในปี 2500 อามีนได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี2501 แต่เขาถูกขังคุกในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ด้วยข้อหาที่ไม่มีหลักฐานและถูกบังคับให้ต้องออกจากการเมืองในที่สุด

จากนั้น ตระกูลโต๊ะมีนาก็หันไปหาน้องชายของอามีนคือเด่น โต๊ะมีนาซึ่งเป็นนักกฏหมายและได้รับการเลือกตั้งถึงหกสมัย ในช่วงทศวรรษที่ 2540 เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกของปัตตานี ระหว่างช่วงเวลา 24 ปีของการอยู่ในการเมืองแห่งการเลือกตั้ง เด่นได้ผ่านทั้งความรุ่งเรืองและความตกต่ำของตระกูลการเมืองของเขา ความนิยมของโต๊ะมีนาลดลงในระยะหลัง แม้กระนั้นก็ยังมีคนมองว่าตระกูลโต๊ะมีนาคงมีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด่นช่วยสร้างกลุ่มวาดะห์ (เอกภาพ) ขึ้นในระหว่าง ปี 2513 - 2533 ภายหลังการเดินขบวนใหญ่ในปัตตานีปี 2518 ผู้เข้าร่วมขบวนการดังกล่าวบางส่วนก็ช่วยกันสร้างกลุ่มวาดะห์ขึ้นมา เด่นเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวนี้ โดยมุ่งเน้นที่ สส. มุสลิมเพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเริ่มจากการเลือกตั้งในปี 2519 ความสำเร็จทางการเมืองของเด่นคู่ขนานไปกับการเติบโตของกลุ่มวาดะห์ เขามีบทบาทนำในกลุ่มยาวนานถึง 10 ปี (2529-2538) อิทธิพลของกลุ่มวาดะห์ในการเมืองระดับชาติมีความต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปี 2540 กว่าๆ 

เด่นสามารถเสริมความเข้มแข็งของต้นทุนทางการเมืองภายหลังจากการผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งนำมาสู่การเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เขาได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เด่นก็ออกจากการเป็นผู้นำของกลุ่มวาดะห์ในเวลาต่อมา ทรัพยากรทางการเมืองของเด่นก็ลดลงอีกเพราะมีประเด็นโต้แย้งบางประการในเรื่องโครงการสร้างโรงพยาบาลในปี 2539 

ความนิยมของกลุ่มวาดะห์ลดลงมากในการเลือกตั้งปี 2558 ประชาชนในเขตเลือกตั้งลงโทษ สส. กลุ่มวาดะห์ซึ่งร่วมกับพรรคไทยรักไทยของทักษิณและไม่สามารถสนองตอบการแก้ปัญหาความรุนแรงของรัฐที่ขยายตัวลุกลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนั้น จากนั้นกลุ่มวาดะห์ก็แยกทางกัน ในปี 2562 กลุ่มวาดะห์กลับมาในนามของพรรคประชาชาติซึ่งสามารถได้ที่นั่ง สส.ส่วนมากในปัตตานี ยะลา นราธิวาส ด้วยการใช้กลยุทธ์การรณรงค์เลือกตั้งที่ชูอัตลักษณ์มลายูมุสลิม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 นี้พรรคประชาชาติ ได้รับการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 6 ที่นั่งซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด และได้รับจัดสรร สส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 1 ที่นั่ง แต่เด่นและลูกสาวของเขาคือแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนาแยกตัวไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย หมอเพชรดาวได้รับการเลือกตั้งภายใต้บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการมี สส. อีกคนในนามของตระกูลโต๊ะมีนาเป็นคนที่สาม สิ่งท้าทายสำหรับโต๊ะมีนาคือทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ในภูมิทัศน์การเมืองแบบใหม่ซึ่งอาจจะไม่เอื้อต่อมรดกทางการเมืองอันสูงเด่นของตระกูล

ตระกูลโต๊ะมีนาต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายอย่าง ความเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ของโต๊ะมีนายังไม่มีการสืบทอดประวัติศาสตร์ในเชิงสถาบันที่เพียงพอทั้งในแง่การสะสมความมั่งคั่ง การมีกลไกทางการเมือง การเชื่อมต่อโดยการแต่งงาน การสร้างพันธมิตร และการสร้างตำนานมายาคติทางการเมือง การเผชิญหน้ากับรัฐที่ไม่ไว้วางใจ และมีคู่แข่งขันทางการเมืองจากครอบครัวการเมืองอื่นๆ ทำให้พลังการยึดเหนี่ยวอิทธิพลทางการเมืองของครอบครัวการเมืองในปัตตานีเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ตระกูลโต๊ะมีนาเคยสามารถทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงรำลึกถึงความเชื่อมโยงกับหะยีสุหรงและกระตุ้นสำนึกอัตลักษณ์มลายูมุสลิมเพื่อเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองในระดับจังหวัดได้มาก่อน การที่หมอเพชรดาวร่วมมือกับภูมิใจไทยอาจจะแสดงให้เห็นกลยุทธ์ของความร่วมมือกับชนชั้นนำทางการเมืองในระดับชาติ

มีคำถามว่าบ้านใหญ่ทางการเมืองของปัตตานีตอนนี้อาจจะเป็นผู้นำการเมืองคนอื่นเช่นนายกฯ อบจ. ปัตตานีคนปัจจุบัน หรือครอบครัวอื่นๆ คนในครอบครัวโต๊ะมีนาเองก็ยอมรับว่า ”การเมืองในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตระกูลแล้วแต่ขึ้นอยู่กับเงิน” ตระกูลเก่าๆมีความได้เปรียบแต่การมีเครือข่ายหัวคะแนนสำคัญกว่า ภายในเครือข่ายนี้เครือญาติอาจจะทับกัน คนกลุ่มใหม่ก็อาจจะสู้กับครอบครัวเก่าก็ได้ ในระยะหลังนโยบายพรรคก็อาจจะมีความสำคัญมากกว่าบ้านใหญ่ จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่เคยมีบ้านใหญ่ทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เด่น โต๊ะมีนาเองก็เคยบอกกับคนในครอบครัวว่าไม่มีการวางตัวผู้สืบทอดทางการเมืองในตระกูลโต๊ะมีนา ในขณะที่ประวัติศาสตร์ปัตตานีถูกกำหนดโดยความสำนึกรู้ต่อหะยีสุหรง ภูมิทัศน์ทางการเมืองในปัจจุบันของปัตตานีไม่เอื้อต่อตระกูลโต๊ะมีนาในการผูกขาดการเมือง การต่อสู้ทางการเมืองบีบบังคับให้ตระกูลโต๊ะมีนาต้องหันไปพัฒนาความเป็นมืออาชีพทางการเมืองและกลไกของพรรคการเมืองเพื่อจะครอบครองพื้นที่การเมืองของปัตตานี 


บทสรุป

กล่าวโดยสรุป ความสามารถของครอบครัวทางการเมืองในการครอบครองจังหวัดขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้เงินเพื่อสร้างฐานอำนาจ การมีกลไกทางการเมือง และสร้างพันธมิตรเพื่อดึงดูดใจประชาชนที่เป็นฐานสนับสนุน ต้องมีการสร้างผู้สืบทอดทางการเมืองที่ดีพอและยังต้องระวังไม่ไปกระทบกับชนชั้นนำที่มีอำนาจในระดับชาติด้วย ข้อเท็จจริงก็คือครอบครัวการเมืองบางจังหวัดมักจะทำสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จ แต่บางแห่งก็ไม่สำเร็จ การเมืองของบ้านใหญ่จึงยังคงมีอยู่ในสังคมไทย อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้

รายงานวิจัยโดย : พอล แชมเบอร์ สถานประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร, ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คัตสิยูกิ ทากาฮาชิ สถานประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

สรุปความและเรียบเรียงโดย : ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี