“ไม่สมควร” “ไม่เหมาะสม” “ มากเกินไป” มักเป็นข้อกล่าวหาที่มีต่อกราฟฟิตี้ที่ถูกพ่นลงบนกำแพง ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจมีปัญหาในตัวของมันเอง กล่าวคือ ข้อกล่าวหาดังกล่าวละเลย “ข้อความ” ที่ผู้พ่นสีบนกำแพงกำลังจะสื่อสาร โดยการกลบทับผ่านการมองว่า “วิธีการ” ของผู้กระทำกราฟฟิตี้นั้นผิดไปจากคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งทางสังคม โดยไม่พิจารณาถึงเสียงของผู้ถูกกดทับ
กราฟฟิตี้ นับเป็นศิลปะข้างถนนชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในทุกมุมโลก กราฟฟิตี้สามารถสะท้อนได้ผ่านทั้งการสร้างเป็นผลงานศิลปะ การเรียกร้องประเด็นในทางการเมือง ภาวะการถูกกดทับ การถูกแบ่งแยกให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม อย่างไรก็ดี ศิลปะกราฟฟิตี้มักถูกเชื่อมโยงกันกับการทำลายทรัพย์สิน การทำให้สมบัติสาธารณะเสียหาย ไปจนถึงภาพจำเกี่ยวกับกลุ่มแก๊งอันธพาล
กราฟฟิตี้มีความเกี่ยวข้องกับความไม่สงบทางการเมืองมาช้านาน จากจุดเริ่มต้นสมัยใหม่ การผลิตผลงานศิลปะบนท้องถนนอาจถูกมองว่าเป็นการประท้วงรูปแบบหนึ่ง กราฟฟิตี้ยังเป็นการท้าทายความน่าเบื่อของภูมิทัศน์ในเมือง และเป็นปฏิกิริยาในรูปแบบหนึ่งของการแปรรูปพื้นที่สาธารณะ ไปสู่การสะท้อนภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ และอคติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในหลายประเทศ อาทิ ในอาร์เจนตินา ไม่นับว่ากราฟฟิตี้เป็นการกระทำอันผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในบางประเทศอาจจัดให้กราฟฟิตี้เป็นความผิดตามกฎหมายความสะอาด หรืออย่างเลวร้ายที่สุด การพ่นสีบนกำแพงตามที่สาธารณะหรือของเอกชน อาจกลายเป็นโทษทางอาญาได้ อาทิ ในสิงคโปร์ ที่ผู้ทำการพ่นสีกราฟฟิตี้อาจต้องรับโทษถึงการถูกเฆี่ยนตี
จากเดิมที่กราฟฟิตี้ถูกมองว่าเป็นแค่เพียงการกระทำเพื่อการทำลายทรัพย์สิน มุมมองต่อมันค่อยๆ เปลี่ยนร่างแปลงรูปไปจนมีการยกย่องให้กราฟฟิตี้ถูกมองว่าเป็นศิลปะสาธารณะ ไปจนถึงเครื่องมืออันมีประสิทธิภาพ เพื่อการปลดแอกทางสังคม หรือการบรรลุผลทางการเมืองในประการใดประการหนึ่ง
กราฟฟิตี้เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประกาศการต่อต้านการทำสงคราม เช่นในช่วงสงครามเย็น ศิลปินหลายคนท้าทายอำนาจของเยอรมนีตะวันออก ซึ่งถูกปกครองอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่รับอิทธิพลโดยตรงจากสหภาพโซเวียต พวกเขาเลือกที่จะพ่นสีกราฟฟิตี้ลงบนกำแพงเบอร์ลิน เพื่อต่อต้านการแบ่งประเทศเยอรมนี และการกดขี่จากพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออก
ข้ามมาที่ตะวันออกกลางในช่วงยุคปัจจุบัน ศิลปินบางรายเลือกใช้กำแพงกั้นพื้นที่เวสต์แบงก์ของปาเลนสไตน์กับอิสราเอล เป็นผืนผ้ากำแพงปูนขนาดใหญ่ เพื่อพ่นสีกราฟฟิตี้ต่อต้านความขัดแย้ง และการกดขี่ชาวมุสลิมปาเลสไตน์จากกองกำลังของอิสราเอล ยังไม่รับรวมถึงเหตุการณ์ร่วมยุคสมัย ที่มีศิลปินพ่นสีกราฟฟิตี้ในยูเครนและรัสเซีย เพื่่อต่อต้านการทำสงครามรุกรานยูเครนจากรัสเซีย
เมื่อไม่มีการกดทับก็ย่อมไม่มีกราฟฟิตี้ กราฟฟิตี้เป็นการแสดงออกของผู้เป็นกบฏต่อผู้มีอำนาจ กราฟฟิตี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือของผู้ไม่มีอาวุธปืนกระสุน การพ่นสีไม่ใช่เพื่อการฆ่าทำร้ายใคร แต่เป็นเป็นการยิงกระสุนทางความคิดเข้าสู่หัวใจของผู้มีอำนาจ ผ่านการตั้งคำถามด้วยสีที่ถูกพ่นบนผนังกำแพง
คำถามที่วนเวียนอยู่ในใจกลางการถกเถียงทางสังคม คือ กราฟฟิตี้นับเป็นความรุนแรงหรือไม่ ทอม ฮาสติงส์ จากศูนย์ระหว่างประเทศว่าด้วยความขัดแย้งเชิงสันติวิธี (ICNC) ชวนตั้งคำถามสำคัญว่า การทำลายทรัพย์สินนับเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่ ในบทความ “ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ความรุนแรง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และยุทธศาสตร์”
ฮาสติงส์ชวนตั้งคำถามโดยยกตัวอย่างของเพื่อนของเขาคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจเผาบัตรเกณฑ์ทหาร และทำลายแฟ้มเอกสารของสำนักงานเกณฑ์ทหาร ระหว่างทศวรรษที่ 1960 อันเป็นช่วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังคุกรุ่น ทั้งนี้ จุดประสงค์การเผาเอกสารสำนักงานเกณฑ์ทหารของเพื่อนของฮาสติงส์ เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพส่งเยาวชนชายไปฆ่าคนและตายในสงครามเวียดนาม
ฮาสติงส์ยกตัวอย่างต่อไป ถึงกรณีของครูของเขาที่ใช้ค้อนทุบฐานอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ให้หยุดการใช้อาวุธสงคราม ทั้งนี้ แม้ว่าการกระทำของเพื่อนและครูของฮาสติงส์ จะสามารถได้รับคำตัดสินจากศาล บนฐานความผิดข้อหาทำลายทรัพย์สินได้ แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่มิใช่การใช้ความรุนแรง
ฮาสติงส์ชวนตั้งคำถามต่อไปว่า การทำลายทรัพย์สิบางอย่าง อาจก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรง ตราบใดที่ทรัพย์สินนั้นมิใช่ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ทรัพย์สินที่ถูกทำลายนั้นเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์
ฮาสติงส์อธิบายในมุมกลับว่า อาจมีมือที่สามที่พยายามทำให้ภาพของการทำลายทรัพย์สิน กลายเป็นการยั่วยุเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง ฮาสติงส์ชี้ว่าภารกิจของมือที่สาม คือ การทำลายภาพลักษณ์ของผู้ประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง และโดดเดี่ยวพวกเขาออกจากสาธารณะ พร้อมที่ทำให้ประชาชนรู้สึกขอบคุณ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ที่คอยปกป้องพวกเขาจากเหล่า “อันพาล” ในกลุ่มฝูงชนที่บ้าคลั่ง
หากพิจารณาจากเหตุการณ์ประชาชนใช้สีสเปรย์พ่นลงบนกำแพงพระบรมมหาราชวังเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) การกระทำดังกล่าวในแง่มุมของสันติวิธีอาจเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอันผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุว่าการพ่นสีลงบนกำแพงนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อปัจเจกบุคคลหรือเอกชน นอกจากนี้ การพ่นสีกราฟฟิตี้ดังกล่าว ยังเป็นการแสดงออกถึงการเรียกร้องประเด็นในทางการเมือง ไม่ใช่การยั่วยุเพื่อให้เกิดความนรุนแรง หรือเป็นการกระทำด้วยความรุนแรงด้วยตัวของมันเอง
จากรายงานข่าวล่าสุดระบุว่า ประชาชนรายดังกล่าวที่พ่นสีบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ถูกตั้งข้อหาร่วมกันทำให้เสียหายซึ่งโบราณสถานฯ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 และขีด เขียน พ่นสี กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ทั้งนี้ จากรายงานระบุว่า ประชาชนรายดังกล่าวได้รับการประกันตัวแล้ว
สิ่งที่น่าตกใจกว่าการพ่นสีบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ทำการทาสีขาวกลบทับกราฟฟิตี้ดังกล่าวออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้นคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวประชาชน ผู้พ่นสีกราฟฟิตี้บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้วยการใช้ความรุนแรง นำมาซึ่งคำถามที่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ แม้การพ่นสีนั้นจะเป็นความผิดซึ่งหน้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เท่านั้น
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ จึงมิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่กำแพงพระบรมมหาราชวัง แต่เป็นการได้รับบาดเจ็บของประชาชนที่พ่นสีสเปรย์กราฟฟิตี้บนกำแพง คำถามที่สำคัญกว่านั้นจึงวกกลับมาที่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจใดในการใช้ความรุนแรงต่อการแสดงออกในทางการเมือง ที่แม้จะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่มิใช่การใช้ความรุนแรงใดๆ
ในอีกทางหนึ่ง การวิจารณ์วิธีการในการแสดงออกในทางการเมือง ย่อมเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนทำได้ ภายใต้คุณค่าประชาธิปไตยที่ยึดถือเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ยังคงมีสิ่งที่ควรพิจารณาอยู่อย่างมากว่า การวิพากษ์วิจารณ์วิธีการใดๆ นั้น ไม่ควรละเลยเป้าหมายของวิธีการนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เสียงวิจารณ์นั้นกลบทับเสียงทางสาธารณะของผู้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมือง
กราฟฟิตี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย โดยเฉพาะกราฟฟิตี้ที่มีจุดมุ่งหมายในการเรียกร้องประเด็นในทางการเมืองใดๆ สังคมไทยจึงไม่น่าจะไม่ชินกับการพบเห็นกราฟฟิตี้ที่ถูกพ่นบนกำแพง แต่อาจเป็นการทำความเข้าใจกับระดับของสันติวิธี ที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นซึ่งท้าทายต่ออำนาจรัฐที่กดขี่ประชาชน