ไม่พบผลการค้นหา
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2566 นี้ ‘วอยซ์’ ขอนำเสนอซีรีส์บทสัมภาษณ์ “ผู้สมัคร Young Blood” ชวนรู้จักผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่-เลือดใหม่ จากแต่ละพรรคการเมือง พวกเขาเป็นใครก่อนตัดสินใจเดินหน้าทำงานการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดอ่านอย่างไรต่อการเมืองไทยในตอนนี้และในอนาคต รวมถึงเหตุผลในการเลือกพรรคการเมืองต้นสังกัดว่าทำไมพรรคนี้จึง ‘ใช่’ สำหรับพวกเขา

วอยซ์ เดินทางสู่ร้านกาแฟบรรยากาศย้อนยุคย่านท่าเรือคลองเตย พูดคุยกับ พงศกร ขวัญเมือง หรือ เอิร์ธ วัย 29 ปี ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 4 พื้นที่เขตคลองเตย เขตวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ จบการศึกษาในระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ 130 โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 53 (ประธานนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 53) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 69 (ประธานนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 69) และจบการศึกษาในระดับปริญญาโทอีก 2 ใบ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนรัฐบาลอังกฤษ (Chevening Scholarship)

เขาเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า การเติบโตมาในครอบครัวตำรวจ ทำให้อยากทำงานที่สามารถสร้างรอยยิ้มให้คนได้ โดยตั้งแต่เด็ก พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตนายตำรวจมือปราบ และ อดีตผู้ว่าฯ กทม. คุณพ่อของเขา มักจะพาเขาเดินทางไปยังสถานีตำรวจตามจังหวัดต่างๆ ที่คุณพ่อเขาประจำการอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีโอกาสได้สังเกตการณ์การทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน เมื่อได้เห็นคนเดินทางมาแจ้งความ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแก้ไขปัญหาให้พวกเขามีรอยยิ้มกลับไปได้ จึงเกิดเป็นความตั้งใจขึ้นมาว่า อยากรับราชการตำรวจ อยากเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และอยากเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาจึงทุ่มเทอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ จนสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ตั้งแต่ปีแรก เมื่ออายุ 15 ปี

พงศกร กทม ปชป 2.jpg

เมื่อเข้าไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหารได้สักพักหนึ่ง เขาพบว่า ตัวเองมีความสนใจทางด้านการเมืองด้วย แม้ยังไม่ค่อยมั่นใจว่า ตัวเองต้องการจะทำงานการเมืองอย่างจริงจังหรือไม่ในอนาคต จนกระทั่งเขาได้มาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีโอกาสได้ไปฝึกงาน และเรียนจบมารับราชการเป็นตำรวจอยู่ประมาณ 3 ปีกว่า ทำให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาที่เขาพยายามทำในฐานะตำรวจ สามารถแก้ไขปัญหาได้ค่อนข้างจำกัดกลุ่มคน และยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

อย่างคดีลักขโมย มีแม่ค้ารถเข็นเข้ามาแจ้งความว่าทรัพย์สินถูกขโมยไประหว่างขายของ เราก็ไปตามจับคนร้ายมาให้ได้ แม่ค้าก็ได้ทรัพย์สินคืนมีรอยยิ้มกลับไป แต่คนที่ถูกจับ เขาไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมลูก ไม่มีเงินไปซื้อยารักษาโรคให้พ่อแม่ เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไรจึงขโมย เพราะเขากำลังเผชิญปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ พิษเศรษฐกิจ

เขาเห็นว่า หากประเทศไทยมีนโยบายที่ดี สวัสดิการที่ดี โครงสร้างทางสังคมที่ดี ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นตอ ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจสมัครขอทุนรัฐบาลอังกฤษ เพื่อไปศึกษาต่อด้านนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะเป็นเวลา 2 ปี จนกระทั่งเรียนจบและได้กลับมาประเทศไทย ช่วงที่คุณพ่อของเขาเป็นผู้ว่าฯ กทม. พอดี ซึ่งเขาเห็นว่าหน่วยงานอย่าง กทม. ยังทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในเรื่องการรับฟังและการสื่อสารกับประชาชน เขาเลยขอโอกาสทำหน้าที่โฆษก กทม. เป็นเวลา 2 ปีกว่าๆ โดยย้ำว่า การทำงานในตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับเงินเดือนหรือผลตอบแทนใดๆ 

พงศกร กทม ปชป 3.jpg

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า หลังการเลือกตั้ง กทม. ในปี 2565 ที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับชัยชนะ ยังคงมีเรื่องหนึ่งที่เขาอยากจะผลักดันต่อ คือ การพัฒนาพื้นที่เขตคลองเตยและเขตวัฒนา โดยเขาอธิบายว่า ด้วยอำนาจที่จำกัดมากของ กทม. เขตนี้เป็นเขตที่ทำอะไรด้วยได้ยากที่สุด เพราะพื้นที่ส่วนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานระดับประเทศแบ่งกันไปเป็นส่วนๆ อาทิ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ การเคหะแห่งชาติ เป็นต้น จึงเป็นเหตุที่หลายๆ โครงการที่ กทม. พยายามจะผลักดัน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง โครงการพื้นฐานที่สุดอย่างการปรับปรุงทางเท้าหรือพื้นผิวถนนก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะต้องอาศัยงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยที่ กทม. เอาไปทำเองตามอำเภอใจไม่ได้ ประกอบกับความผูกพันกับประชาชนในพื้นที่ หลังเขาได้ให้การช่วยเหลือช่วงโควิดอย่างใกล้ชิด จึงตั้งเป้าอยากพัฒนาเขตนี้ให้ดีขึ้น ซึ่งหากทำได้สำเร็จ เขาเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นได้ด้วย

พงศกร กทม ปชป 4.jpg

นอกเหนือจากเรื่องในพื้นที่แล้ว ประเด็นระดับชาติที่เขาอยากเร่งรัดผลักดันหากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ คือ การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณเอง ตลอดระยะเวลาของการทำงานในฐานะโฆษก กทม. เขาบอกว่า กทม. มีความโชคดีกว่าที่อื่น เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการต่างๆ เพิ่มขึ้นมาส่วนหนึ่ง แม้จะถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงประเทศอื่นก็ตาม

การกระจายอำนาจไม่ได้หมายถึงแค่สิทธิในการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญคืองบประมาณ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพค่อนข้างเยอะ คนต้องระหกระเหินเข้าเมืองหลวงเพราะอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีโอกาสมากกว่า หากมีการจัดสรรงบก้อนใหญ่ขึ้นให้หัวเมืองสำคัญๆ นอกเหนือจากกรุงเทพ เมืองเหล่านี้จะสามารถเจริญเทียบเท่ากรุงเทพได้

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสาเหตุที่เขาเลือกเปิดตัวเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ใช่พรรครวมไทยสร้างชาติเช่นเดียวกันกับคุณพ่อของเขา เขาบอกว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่อายุ 20 ปี เคยไปศึกษาดูงานในต่างจังหวัดพร้อมแกนนำคนสำคัญของพรรคหลายคน โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคในขณะนั้น คือหนึ่งคนที่เขามีความสนิทสนมด้วย 

พงศกร กทม ปชป 6.jpg

และเมื่อคิดจะลงเล่นการเมืองเป็น ส.ส. อย่างเต็มตัว ในตอนแรก คุณพ่อของเขาได้มาชักชวนให้ไปเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยกัน แต่ก็ได้ให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า เขายังไม่เห็นด้วย ขอเวลาพิจารณาหลายปัจจัยให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งท้ายที่สุดก็สามารถสรุปได้ 3 เหตุผลหลักว่าทำไมเขาจึงเลือกประชาธิปัตย์ คือ 1.ความคุ้นเคยกับพื้นที่กทม. เห็นได้จากการที่พรรคมีอดีต ส.ข. ส.ก. ส.ส. ส.ว. ผู้ว่าฯ จึงเชื่อมั่นว่า พรรคมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่เป็นอย่างดี สามารถผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง 2. พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของบุคลากรพรรค และแสดงความคิดเห็นกันได้โดยไม่ต้องผ่านการควบคุมจากพรรค 3. ความเป็นสถาบันทางการเมือง การที่พรรคก่อตั้งมาได้ยาวนานถึง 77 ปี เชื่อว่าในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์ก็จะยังคงเป็นพรรคอยู่ หากนโยบายใดยังทำไม่สำเร็จในวาระ 4 ปีของการเป็น ส.ส. ก็สามารถเดินหน้าผลักดันต่อในวาระต่อไปได้

พงศกร กทม ปชป 8.jpg

ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง


ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog