ไม่พบผลการค้นหา
ชุมแสง เมืองที่ยังไม่หมุนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังนักท่องเที่ยวต่างแวะเยี่ยมเยียน สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม เสน่ห์ที่ไม่เคยจางหายไปจากชุมชนแห่งนี้ เพื่อตามรอยละคร

'เมืองท่า' ที่เคยเงียบเหงา กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลัง 'ชุมแสง' เมืองท่าค้าข้าวโบราณ ได้ถูกลดความสำคัญเมื่อการคมนาคมทางถนนเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คน

แต่แม้เวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหน ชุมชนแห่งนี้ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และไม่ได้หมุนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทำให้กลายเป็นเสน่ห์สำคัญให้ผู้คนอยากเดินทางมาสัมผัส

ชุมแสง แกลลอรี่.jpg

ต้องยอมรับว่า อิทธิพลของละครเรื่อง 'กรงกรรม' ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนอยากไปเยือนที่แห่งนี้ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตแบบโบราณ อาคารบ้านเรือน อาหาร ที่ยังมีให้เห็นไม่แตกต่างจากในละคร

และจากกระแสที่เกิดขึ้น ทำให้ จ.นครสวรรค์ และชาวชุมแสง ใช้โอกาสนี้ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ดึงดูดผู้คนมาเที่ยวเมืองรอง ด้วยการเนรมิตชุมชนที่ยังคงแบบโบราณ กลายเป็น 'ร้านค้าอัศวรุ่งเรืองพาณิชย์' เหมือนอย่างในละคร รวมถึงการจัดแกลลอรี่เล่าประวัติชุมแสงที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของที่นี่รวมถึงศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง, พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และตลาด 100 ปี

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.jpg
  • พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง.jpg
  • ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง
ชุมแสง แกลลอรี่.jpg
  • ชุมแสง แกลลอรี่

ซึ่งจากจุดนี้เอง ทำให้จากเมืองรอง ที่นักท่องเที่ยวขับรถเลยผ่าน กลายเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่นักเดินทางขอไปเยือน ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ ได้มีโอกาสลงไปสัมผัสวิถีชุมชน ชาวบ้านที่นี่ต่างบอกว่า กระแสละคร ทำให้เมืองแห่งนี้เปลี่ยนไป มีผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนมา และได้มาร่วมรำลึกความหลัง ความสำคัญของ ชุมแสง และเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้น นอกจากโอกาสที่จะสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวให้หลั่งไหล แต่คนที่นี่ก็ไม่ลืมที่จะอนุรักษ์เอกลักษณ์ความดั้งเดิมให้คงอยู่

ปรีชา เดชพันธ์.jpg

ปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เผยว่า “ชุมแสงเป็นเมืองท่า ค้าข้าว ในสมัยโบราณ เป็นจุดที่ ที่รวมของแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน เป็นศูนย์กลางการค้า ต่อมามีคมนาคมที่เปลี่ยนแปลง มาขนส่งทางบก ชุมแสงจึงถูกลดความสำคัญลง แต่วิถีชีวิตที่นี่ไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อละครถ่ายทอดวิถีชีวิตคนที่นี่ ก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ทำให้คนรู้จักชุมแสงมากขึ้น

อัศวรุ่งเรืองพาณิชย์.jpg
  • จำลองร้านอัศวรุ่งเรืองพาณิชย์

"โดยเราได้พยายามรักษาความเป็นดั้งเดิมของชุมแสงไว้ ของปากน้ำโพไว้ ของทับกฤชตามรอยละคร เราก็ได้รักษาไว้ อันที่ 2 ในเรื่องความสะดวก สะอาด ความปลอดภัย อันนี้เราก็ได้สั่งการไปทางอำเภอ ทางเทศบาลได้เตรียมการตรงนี้ไว้ แล้วก็ให้คงความเป็นชุมแสงไว้ ผู้แต่งละคร ทางคุณจุฬามณี เขาได้ถอดชีวิตพื้นบ้านของชาวชุมแสงไว้นะครับ ก็จะเป็นเรื่องของสถานที่ ที่เป็นดั้งเดิม การเดินทางโดยรถไฟ อาหารการกินและวัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นพื้นบ้านนะครับ เราก็พยายามให้เกิดขึ้น และรักษาไว้ ขอบคุณทุกท่านที่ได้มาเที่ยวชม ชาวนครสวรรค์ก็ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ” 

ศรชัย อธิปฏิเวชช.jpg

ศรชัย อธิปฏิเวชช นายกเทศมนตรีเมืองชุมแสง เผยว่า ตั้งแต่ละครออกอากาศก็มีนักท่องเที่ยว มาเยี่ยมเยือนไม่ต่ำกว่า 100 คนต่อวัน โดยในตลาดชุมแสงมีกลุ่มต่างๆ เช่น รัก ณ ชุมแสง, กลุ่มชาวชุมแสงรักกัน, กลุ่มหน้าบ้านน่ามอง กลุ่มเหล่านี้เป็นจิตอาสา โดยมีทางหน่วยราชการอำเภอชุมแสง และเทศบาลเมืองชุมแสง เป็นพี่เลี้ยง

"เราดำเนินการต่อเนื่อง จุดเด่นของที่นี่ ก็คือองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงครับ และพระเจ้าตากสินมหาราช และตลาดเก่าของเรา ร้อยกว่าปี ส่วนอีกจุดหนึ่งที่คล้ายกับละคร เราได้ตั้งชื่อว่า ซอยคุณเรณู เป็นที่ฮือฮาของนักท่องเที่ยว เพราะเหมือนจริง ของเราเก่าจริงๆ"

ตรอกเรณู.jpg
  • ตรอกเรณู
กำพล สิริรัตตนนท์.jpg

กำพล สิริรัตตนนท์ นายอำเภอชุมแสง ให้สัมภาษณ์ว่า เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ สถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่ในละคร เป็นชื่อจริงของสถานที่ในอำเภอชุมแสงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำบลฆะมัง ตำบลทับกฤช หรือตำบลเกยชัย ซึ่งมันมีอยู่จริง ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ครับ

"ชุมชนที่ชุมแสง เป็นชุมชนค้าขายเก่าแก่ เป็นคนจีนอยู่ส่วนมาก อยู่มาร้อยกว่าปีแล้ว หลังจากทีวีออนแอร์เรื่องนี้ก็ทำให้คนที่นี่ตื่นตัวนะครับ ฉะนั้นสิ่งที่พวกเราได้คือ นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาที่ชุมแสง มาทานอาหารอร่อย มาเดินดูบ้านเรือนเก่าๆ มาตามรอยกรงกรรม ตรงไหนตรอกเรณู ตรงไหนบ้านแม่ย้อย อัศวรุ่งเรืองพาณิชย์ อยู่ตรงไหน อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็พยายามจัดแกลลอรี่ ต้อนรับ เพื่อให้สอดรับกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชม มาชิม มาช้อป ที่นี่นะครับ ชาวชุมแสงยินดีต้อนรับ แล้วก็จะเป็นเจ้าภาพที่ดี พวกเราพยายามทำทุกสิ่ง เพื่อให้คนมาชุมแสงแล้วประทับใจกลับไปครับ ซึ่งที่นี่สิ่งปลูกสร้าง ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่มี ก็ยังใช้ชีวิตแบบตลาดบ้านๆ ตลาดร้อยปี ซึ่งเป็นตลาดร้อยปีที่ไม่ต้องปรุงแต่ง เป็นวิถีดั้งเดิมของเขา เขาก็ใช้วิถีดั่งเดิมของเขานั่นแหละ เราเน้นเรื่องความสะอาดและเป็นเจ้าบ้านที่ดี คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว ราคาที่เป็นธรรม และความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว"

วิสูตร บัวชุม.jpg

วิสูตร บัวชุม ผอ.ททท.สำนักงานนครสวรรค์ มองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์

"เรากำหนดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและก็ในเชิงอนุรักษ์นะครับ เพราะฉะนั้นในแง่ของการที่ นักท่องเที่ยวหลังจากนี้ กระแสละครกรงกรรมทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มขึ้น อีกจำนวนมาก เราคงจะต้องมีรูปแบบ มีการเตรียมพร้อมที่ดี ในการที่จะให้แหล่งท่องเที่ยวในเชิงวิถีชีวิต และก็เชิงวัฒนธรรมชุมชนโดยเฉพาะที่ชุมแสง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เรียกว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

เราทำความเข้าใจกับพี่น้องชุมชนเป็นหลัก เราต้องช่วยกัน คือ 1.เรื่องของการต้อนรับ การที่จะพัฒนาแล้วก็ปรับปรุงความสวยงาม บริเวณทั้งตลาดแล้วก็จุดสำคัญๆ ของ อ.ชุมแสง แล้วก็เรื่องวัฒนธรรมเป็นวิถีของชาวชุมแสงนะครับ ที่ยังคงมีอยู่ปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เราจะไม่ปล่อยให้กระแสของนักท่องเที่ยวเข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องของวัฒนธรรมเราแน่นอนครับ โดยภาพรวมแล้ว การท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ ในปี 2561 เรามีอัตราการเติบโตของทั้งจำนวนและรายได้การท่องเที่ยว ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ เกือบ 4 พันล้านบาท ปัจจุบันเราเห็นกระแสการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว เรายังหวังลึกๆเลยว่า อัตราการโตที่เราตั้งไว้ ไม่ต่ำกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ เราน่าจะเกิน 2 หลัก น่าจะเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป น่าจะเกิน 4 พันล้านบาทขึ้น"

ชาวชุมแสง.jpg


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :