ไม่พบผลการค้นหา
คณะก้าวหน้า “ปักหมุดความมั่นคงทางอาหาร” ร่วมกับชาวชุนชนเคหะร่มเกล้า2 ตั้งเป็นโครงการต้นแบบ ให้ปชช.แบ่งปันผลผลิตบริโภคในชุมชน-สร้างตลาดทางตรงในอนาคต

น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมกิจกรรม “ปักหมุดหมายความมั่นคงทางอาหาร”กับชาวชุนชน เคหะ ร่มเกล้า2 โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะก้าวหน้า ลาดกระบัง กับกลุ่มอสส.เคหะ เอื้ออาทรร่มเกล้า2 โดยวัตถุประสงค์กิจกรรมครั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการล็อคดาวน์ประเทศ ปิดเมือง หยุดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยทอดทิ้ง และไม่คำนึงถึงชุมชน ทำให้เรารู้ว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญเพียงใด

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวเปิดโครงการ ระบุว่าการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกในเขต กทม. หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะก้าวหน้าปรับการทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนทางช่องทางออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งวันนี้ตนดีใจ ที่ได้มีโอกาสมาร่วมทำกิจกรรม และพบปะผู้สนับสนุน 

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า แม้ในอดีตประเทศไทยได้ชื่อว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ปัจจุบันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การดำรงชีวิตในลักษณะพึ่งพาตนเองเช่นนี้ทำได้ยาก เพราะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ชุมชน แฟลต อาคาร อีกทั้งการจับจ่ายใช้สอยของผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำยังคงผูกขาดกับการซื้ออาหาร ตามร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งที่ผ่านมา อำนาจในการครอบงำการได้มาซึ่ง "อาหาร" ถูกกำหนดทั้ง ราคาผลผลิต ปัจจัยการผลิต รูปแบบการผลิต รวมทั้งการกำหนดว่าสิ่งใดควรเป็นหรือไม่เป็น "อาหาร" ทั้งหมดล้วนอยู่ในขอบข่ายการจัดการ Food Supply Chain ของบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท สังคมและชุมชน ผู้ผลิตและผู้บริโภค ถูกกำหนดให้ผลิตและบริโภค โดยแยกขาดจากกันทั้งทางตรงและทางอ้อม 

timeline_20200712_105815.jpg

การที่คณะก้าวหน้าสนับสนุนให้ชุมชนผลิตอาหารเพื่อปันกันบริโภค หรือ บริโภคเองในชุมชน หรือสนับสนุนให้เกิด "ระบบตลาดทางตรง” ของผู้บริโภค-ผู้ผลิต จะทำให้เกิดความเหนียวแน่นเข้มแข็งในชุมชน ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ในราคาที่เป็นธรรม การขนส่งก็ทำในระยะทางอันใกล้ ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยเท่ากับเป็นทั้งส่งเสริมการผลิตอาหารที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับแปลงปลูกผัก ชาวชุมชนเคหะได้ใช้พื้นที่ด้านข้างโครงการให้เกิดประโยชน์ แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ก็สามารถปลูกผักสวนครัวไว้กินเองได้  เช่น ผักบุ้ง มะเขือ กะเพรา พริก โดยโครงการดังกล่าว แม้จะเป็นเพียงโครงการเล็กๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ในชุมชนร่วมมือร่วมใจทำกัน โครงการนี้จะเป็นโครงการตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นต่อไป และจะนำไปสู่ "ความมั่นคงทางอาหาร" หรือ "อธิปไตยทางอาหาร" และ "การกระจายความมั่งคั่งและอำนาจในการจัดการอาหาร" ของสังคมและชุมชนรากฐานของสังคมไทย อีกทั้งการผลิตที่เกิดจากชุมชนรากหญ้า จะเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กิน-ใช้ในระดับกลางและล่างของสังคม และเป็นทางเลือกไม่ให้เม็ดเงินถูกนำกลับไปสู่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ครอบงำ Food Supply Chain หลักอยู่

โครงการปลูกผักที่กำลังเริ่มต้นในวันนี้ นอกจากมุ่งหมายในด้านความมั่นคงทางอาหาร และ การจัดการ Food Supply Chain ของประชาชนแล้ว จุดมุ่งหมายที่อาจผลักดันให้เกิดสืบเนื่องต่อไปคือการกระตุ้นความต้องการ ในการต่อยอด Food Waste Supply Chain ให้ครบLoop  เมื่อมีการปลูกผักเกิดขึ้นในหลากหลายชุมชน ย่อมสร้างความต้องการในการจัดการขยะสดของชุมชนที่มีเหลือล้นในทุกๆวัน โดยแปรเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำมาใช้ปลูกผัก การผลิตอาหารปลอดภัยจากขยะสดในชุมชน อาจเริ่มจากจำนวนน้อย แต่ค่อยๆเพิ่มขึ้น หากชุมชนทำได้เช่นนี้แล้ว ขยะสดหรือขยะอินทรีย์ที่คิดเป็นร้อยละ 64 ของจำนวนขยะในชุมชนและของเมือง ก็จะถูกแปรรูป กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรียกว่าได้ทั้งความมั่นคงทางอาหาร ได้ลดขยะ และได้สร้างกิจกรรมร่วมกันในชุมชนด้วย