ไม่พบผลการค้นหา
ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ชี้เหตุไม่เข้าข่ายพฤติการณ์ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม ม.49 พร้อมให้แก้ข้อบังคับพรรคให้ตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ชี้คำร้องของผู้ร้องเป็นเพียงข้อห่วงใยต่อสถาบัน ด้าน 'ณฐพร' ในฐานะผู้ร้อง น้อมรับคำวินิจฉัยศาล ขอ กกต. ดำเนินการต่อ

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้อง ร้องขอให้วินิจฉัยการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกร้องมีแนวคิดคล้ายกับตะวันตกเป็นปฏิกษัตริย์นิยม จากการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาต่างๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลจากทางเว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอ และการกระทำของผู้ถูกร้องเองก็ไม่แสดงให้เห็นความมุ่งหมายที่จะล้มล้างระบอบปารปกครองอย่างชัดเจน ส่วนจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นใดก็ต้องว่าตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการกระทำที่เกี่ยวข้องจึงไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่จะผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ต้องยื่นคำร้องให้ศาลอาญาพิจารณา 

ส่วนคำร้องกรณีข้อบังคับพรรค ไม่ระบุเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลวินิจฉัยว่า ข้อบังคับพรรคไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 14 และ 15 จึงเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง รายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อแจ้งให้มีการแก้ไขข้อบังคับพรรค จากเดิมที่ระบุว่ามีแนวทางยึดกับหลักการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ เป็นยึดหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้" วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการห้เลิกการกระทำดังกล่าวได้" วรรคสามบัญญัติว่า "ในกรณีที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันแต่วันที่ได้รับคำร้องขอผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้"

และวรรคสี่บัญญัติว่า "การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง" บทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทบัญญัติมาตรา 49 จึงเป็นหลักการสำคัญที่มุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มั่นคงสถาพร มิให้ถูกล้มล้างหรือเซาะกร่อนบ่อนทำลายไปโดยไม่ชอบ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบและมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เสียก่อนที่การกระทำนั้นจะบังเกิดผล โดยสภาพจึงเป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของประเทศมิให้เกิดขึ้นได้ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องไม่ห่างไกลจนเกินเหตุุตามสภาวการณ์ที่ปรากฏแก่วิญญูชนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ทั้งยังต้องดำเนินอยู่และยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้

กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการออกข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการใช้สิทธิหืรอเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เนื่องจากข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรคดังกล่าว มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) แ ละมาตรา 15 (2) และ (3) นั้น เห็นว่า เมื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต. ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกร้องที่ 1 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรณีย่อมแสดงให้เห็นว่าข้อบังคับพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้

อย่างไรก็ดี การยื่นคำร้องของผู้ร้องนี้ คงเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองของประเทศ ดังนั้น ข้อบังคับพรรคของผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้ถ้อยคำว่า "หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนรายการคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ข้อ 6 วรรคสอง ที่กำหนดว่า "พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ..." การใช้ข้อความในข้อบังคับพรรคการเมืองควรจะให้มีความชัดเจนไม่มีความคลุมเครือ แตกต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) ได้ ซึ่ง กกต. มีหน้าที่และอำนาจจะพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม เพื่อป้องกันความสับสนขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 4 มีพฤติการณ์ แนวคิด ทัศนคติ คลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก เป็นขบวนการปฏิกษัตริย์นิยม มีแนวความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทย โดยการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ดังปรากฎตามสื่อมวลชนและสื่อสาธารณชนที่ผ่านมา เช่น การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน การแสดงความคิดเห็นในช่องทางต่างๆ นั้น เห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ 

แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในคดีเป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์เน็ต และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องทั้ง 4 มีพฤติการณ์หรือการกระทำตามความคิดเห็นของผู้ถูกร้องทั้ง 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ส่วนกรร๊การกระทำอื่นใดของผู้ถูกร้องที่ 4 จะป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง


ณฐพร ศาลรัฐธรรมนูญ 505_33318163_200121_0005.jpgณฐพร โตประยูร 3_200121_0012.jpg

ด้าน นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหลังรับทราบคำวินิจฉัยว่า ได้ทำสำเร็จแล้วในเรื่องแสดงเจตนารมณ์รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยบอกว่าให้ไปแก้ไขข้อบังคับพรรค จึงถือว่าได้ทำหน้าที่ของประชาชนคนไทย ที่ต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่คู่ประเทศไทย และดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ว่าสิ่งที่ทำไปไม่ได้มีข้อขัดแย้งใดๆ เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องไม่สมควร หากมีพรรคการเมืองใดกระทำการ ซึ่งถือว่าตนเองได้ทำสำเร็จมากแล้ว

ส่วนกรณีหากมีการนำคำวินิจฉัยของศาล มาเป็นเหตุกล่าวอ้างว่า คำร้องไม่มีน้ำหนักหรือเลื่อนลอย นายณฐพร กล่าวว่า หากฟังคำวินิจฉัยของศาล จะเห็นชัดว่าข้อบังคับพรรคมีปัญหา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่ต้องดำเนินการ ส่วนผิดยุบพรรคตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ยืนยันว่าแม้เรื่องนี้จะไม่เข้าองค์ประกอบกรณีล้มล้างการปกครอง แต่กรณีข้อบังคับพรรค ก็เป็นหน้าที่ กกต. ต้องดำเนินการ

นายณฐพร ย้ำว่า พอใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่อยากให้สาธารณชนรับรู้ว่ามีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศ และมีข้อบังคับพรรคซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้สนใจว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรค เพราะแม้ยุบพรรคแล้ว ก็ตั้งพรรคใหม่ได้ แต่ย้ำว่าทำไปเพื่อต้องการให้ประชาชนรับรู้ ต้องการให้พรรคการเมืองที่กระทำการรู้ถึงผลการกระทำ และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ว่าการกระทำที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น

ส่วนจะมีข้อสังเกตเพิ่มเติมยื่นเอาผิดพรรคอนาคตใหม่ต่อหรือไม่นั้น นายณฐพร บอกว่า ไม่มีข้อสังเกตอะไร เพียงแต่ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วนำเสนอต่อศาล และพอใจในคำตัดสินของศาลวันนี้ ซึ่งศาลก็ย้ำว่าข้อบังคับพรรคควรเขียนให้ชัดเจน โปร่งใส ไม่มีอะไรแอบแฝง ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงเป็นเรื่องที่ กกต. ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งตนเองได้ยื่นคำร้องไปเรียบร้อยแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง