ไม่พบผลการค้นหา
หลังจาก รมว.พลังงานแถลงว่า ไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพลังงานแก่กลุ่มประเทศอาเซียน หรือ 'ฮับพลังงานอาเซียน' นักวิเคราะห์ต่างชาติประเมินว่า ไทยจะต้องลงทุนพัฒนาเพิ่มเติมด้านใดบ้าง เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายการเป็น 'ฮับพลังงานอาเซียน'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่ากระทรวงพลังงานของไทยชุดปัจจุบัน กำลังมองไปยัง 'แผนขยายการลงทุน' ด้านธุรกิจพลังงานในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะไทยต้องการจะเป็น 'ฮับพลังงานอาเซียน' ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานและเป็นสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจ แต่นักวิเคราะห์บางส่วนก็มีความเห็นว่าไทยอาจจะต้องวางแผนการลงทุนให้รอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้

'บิคัล โพคาเรล' ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานในเอเชียแปซิฟิกของบริษัทด้านการลงทุน Wood Mackenzie บอกกับบลูมเบิร์กว่า การจะเป็นฮับพลังงานอาเซียนของไทย ต้องอาศัยการเจรจาทำข้อตกลงกับหลายประเทศ เพื่อที่จะนำไปสู่กรอบความร่วมมือระหว่างกัน แต่เขามองว่า ไทยควรจะเจรจาในกรอบ 'ทวิภาคี' มากกว่า 'พหุภาคี' เพราะการพูดคุยระหว่างรัฐบาลสองประเทศ มีแนวโน้มจะตกลงกันได้ง่ายกว่า แล้วก็สามารถกำหนดรายละเอียดที่เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนได้ดีกว่าด้วย

'แคโรไลน์ ฉั่ว' นักวิเคราะห์ด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ BNEF มองแง่ดีของการเป็นฮับพลังงานอาเซียนว่าจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ไทยจะต้องพัฒนาการวางระบบ 'โครงข่ายไฟฟ้า' ซึ่งรวมถึงสายส่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเพียงพอกับพื้นที่ให้บริการ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ก็เลยมีคำเตือนว่า การลงทุนด้านนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ส่วน 'วัฒนพงษ์ คุโรวาท' ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของไทย เผยกับบลูมเบิร์กว่า ไทยกำลังจะพิจารณาทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน 'พีดีพี' อยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการลงทุนวางโครงข่ายพื้นฐานด้านพลังงานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ก็เป็นหนึ่งในแผนที่กำลังจะทำเช่นกัน ทั้งยังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ สำหรับการผลิตและจัดส่งไฟฟ้าให้กับมาเลเซียและลาวด้วย

ที่ผ่านมา ประเทศแถบยุโรปมีการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง แต่ยังไม่พบเห็นมากนักในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ถ้าหากไทยต้องการเป็นฮับพลังงานอาเซียน ก็จะต้องคำนึงถึงแนวทางการกำกับดูแลโครงข่ายระหว่างประเทศนี้ด้วย ซึ่งหมายความว่าไทยจะต้องเจรจาเรื่องตัวบทกฎหมายกับประเทศที่จะร่วมมือกันในด้านพลังงาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าโครงการเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม 

บลูมเบิร์กประเมินว่า การเจรจากับลาวและมาเลเซียเพื่อเพิ่มการผลิตและจัดส่งไฟฟ้าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่การเจรจาระหว่างไทยกับ 'เมียนมา' และ 'กัมพูชา' อาจมีปัจจัยภายในประเทศหุ้นส่วนเหล่านี้ที่จะต้องระมัดระวัง เพราะทั้งสองประเทศยังมีความขัดแย้งภายในที่ต้องคำนึงถึงด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: