ไม่พบผลการค้นหา
สรุปการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งที่ 19 หัวข้อ ‘ศาสตร์-ศิลป์ของการกำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม’ โดยมีผู้ปาฐกถาคือ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการชั้นนำของไทยด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

เฉพาะปี 2557-2562 หน่วยงานรัฐฟ้องร้องประชาชนข้อหา บุกรุกที่ดินประเภทป่า กว่า 50,000 คดี ไม่รวมกรณีพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกัน ตัวเลขความขัดแย้งนี้ ยังตามมาด้วยความรุนแรงหลายระดับ จนถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘การอุ้มหาย’ และแม้รัฐเองจะมีความพยายามสร้างระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับดูแลที่ดิน แต่เมื่อมองลึกลงไปในระบบ เรากลับพอปัญญาที่ซับซ้อนมากมายพัวพันกันอยู่ 

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับการจัดการที่ดินของรัฐไทย 

เหตุใดคดีความและความรุนแรงเรื่องที่ดินจึงมากมายเช่นนี้ 

8 มีนาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งที่ 19 โดยหนึ่งในหัวข้อของงานคือ ‘ศาสตร์-ศิลป์ของการกำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม’ โดยมีผู้ปาฐกถาคือ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการชั้นนำของไทยด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และเพื่อตอบคำถามข้างต้น ชวนอ่านเนื้อหาจากปาฐกถาถัดจากนี้ 


ที่มาความขัดแย้งหลัง World War II

ในอดีต ประเทศไทยมีประชากรน้อย พื้นที่ที่มีป่าปกคลุมจึงมีอยู่มาก ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยเฉพาะนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการพัฒนา ประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนาทุกรูปแบบ ทำให้การใช้ที่ดินขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประชาชนจับจองที่ดินเพื่อการทำมาหากิน และรัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ผลิตสินค้าทางการเกษตร ส่งเสริมให้นักลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อกินใช้ในประเทสและส่งออก 

รัฐบาลขยายการจดทะเบียนที่ดินเอกชนได้มาก โดยเฉพาะบริเวณนาข้าวภาคกลาง และภาคอีสาน แต่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง การจดทะเบียนที่ดินเอกชนกลับยังลักลั่น หลายครอบครัวและปัจเจกบุคคลสูญเสียสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดินที่จับจองมา 

ในทางกลับกัน ครอบครัวที่มีอิทธิพลและอำนาจ สามารถชักจูงข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ออกเอกสารสิทธิ์ให้ เมื่อรัฐไทยไม่สามารถจัดการคอร์รัปชันได้ เงิน การหาประโยชน์ส่วนตัว และการทำกำไรเฉพาะหน้า จึงมีอำนาจเหนือกฎหมายได้เสมอมา 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การถือครองที่ดินจึงยิ่งความเหลื่อมล้ำสูง จากการสำรวจพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini coefficient) สำหรับที่ดินที่มีโฉนด อยู่ในระดับสูงมาก คือ 0.89 

ปลายทศวรรษที่ 2520 พื้นที่ป่าลดลงมาก นำไปความวิตกกังวลเรื่อง ‘ป่าหดหาย’ โดยรัฐบาลตั้งเป้ากำหนดให้มีพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด และกำหนดว่า พื้นที่ใดนับเป็นอุทยาน ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ประเภทต่างๆ 

แม้ว่าผู้คนจำนวนมากได้เข้าไปหาของป่า หรืออยู่อาศัยในที่ดังกล่าวมาก่อนแล้ว ในหลายๆ กรณี ก็ได้มีผู้คนอยู่อาศัยมาเนิ่นนานจนมีการสร้างวัด โรงเรียน และมีการลงหลักปักฐานชัดเจน


‘ป่าการเมือง’ ที่ต้องปลอดคน

สมัยสงครามเย็น ความตื่นกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้ที่ดินป่าเข้าไปเกี่ยวโยงกับความมั่งคง ฝ่ายกองทัพจึงเพิ่มบทบาทในด้านนโยบายที่ดินโดยใช้แนวคิดว่า ‘ป่าต้องปลอดคน’ ในการปฏิบัติการ ส่งผลให้ความเชื่อที่ว่า ‘คนอยู่ป่า ทำลายป่า’ ซับซ้อนขึ้นและกลายเป็นประเด็นการเมือง 

เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายกองทัพ มีปฏิการเคลื่อนย้ายชาวบ้านออกจากที่อยู่ที่กินในป่า และอาจใช้กำลังตัดฟันรื้อถอนพืชผลและสิ่งปลูกสร้างที่ประชาชนสร้างไว้บ้าง ถึงขั้นเผาที่อยู่อาศัยของพวกเขาโดยพลการ 

สองกระแสแนวคิดที่ว่า ‘ป่าต้องปลอดคน’ และ ‘ป่าต้องมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของที่ดินทั้งหมด’ มีที่มาจากการที่ กรมป่าไม้และรัฐไทยในอดีต ผสมผสานแนวคิดต่างๆ ที่รับมาจากตะวันตกในสมัยของเจ้าอาณานิคมเป็นใหญ่ เช่น แนวคิดทฤษฎีป่าไม้ดั้งเดิมของเยอรมนีที่มองมนุษย์เป็นศัตรูของป่า แต่ในทางปฏิบัติ กลับยอมให้มีคนงานทำไม้หรือปลูกฝิ่นได้ เมื่อรัฐเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ 

ต่อมาในสมัยพัฒนา 2500 รัฐบาลได้รับแนวคิดการปกป้อง ‘ป่าดงพงไพร’ (wilderness) ปลอดผู้คน มาจากชนชั้นกลางสหรัฐที่ประสงค์จะมีอุทยานแห่งชาติเพื่อใช้พักผ่อนและหลบลี้จากมลภาวะในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดอีกกระแสที่เห็นว่า เราควรอนุรักษ์ป่าให้คงสภาพเดิม ห้ามไม่ให้มนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวเด็ดขาด และเข้าไปได้เพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องห่มคลุมร่างกายไม่ให้สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกปะปนเข้าไปในบริเวณนั้น แต่วิธีคิดสุดท้ายนี้พบเห็นในไม่กี่ประเทศเท่านั้น 

สำหรับแนวคิดที่มองว่า ป่าต้องมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เจ้าของแนวคิดนี้คือ  จี. เอ็น. ดันฮอฟ (G. N. Danhof)  ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ชาวเนเธอร์แลนด์ ที่กรมป่าไม้ไทยไปรับแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2495 โดยแนวคิดนี้เป็นข้อเสนอจากมิติความหลากหลายทางชีวภาพ  (bio-diversity)  ในระดับสากล ซึ่งเสนอแนะแบบคร่าวๆ ให้ทั่วโลกเพิ่มพื้นที่ป่าหรือธำรงพื้นที่ป่าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 ในทุกภูมิประเทศ 

ต่อมา เรื่องนี้ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และถามหาหลักฐานสนับสนุนว่า เหตุใดจึงต้องคงสัดส่วนป่าไม้ให้เท่ากันทุกแห่ง และเหตุใดสัดส่วนป่าไม้ขั้นต่ำที่สุดถึงต้องกำหนดที่ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ทั้งยังมองว่า การอนุรักษ์ป่าให้ได้ผลในโลกปัจจุบัน อาจต้องมีความยืดหยุ่นและปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากกว่า 

ในกรณีของไทย มีการโยงประเด็นนี้เข้ากับเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเพื่อให้มีน้ำพอเพียง แต่ก็น่าคิดเช่นกันว่า ประเทศที่มีทะเลทรายเป็นส่วนมากอย่างอิสราเอล ก็มีวิธีหาน้ำมาใช้ได้โดยไม่ต้องจำกัดพื้นที่ป่าขั้นต้นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ 

อิทธิพลของกระแสแนวคิดทั้งสอง สะท้อนให้เห็นใน พ.ร.บ.ป่าไม้ไทย พ.ศ. 2484 ซึ่งนิยามว่า “ป่า” คือที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ ไม่ได้ นิยามป่าตามสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่นิยามด้วยอำนาจรัฐที่กำหนดว่า ใครจะเป็นเจ้าของและเป็นผู้กำกับควบคุมที่ดิน โดยนักวิชาการไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า การนิยามเช่นนี้ เป็นการ นิยามแบบ “ป่าการเมือง” สะท้อนสภาวะที่รัฐไทยมีอำนาจ ในช่วงสมัยใหม่และตระหนักถึงประโยชน์ในการควบคุมที่ดินทั้งประเทศ ครั้นตกมาถึงสมัยสงครามเย็น การประกาศพื้นที่ป่าให้เป็นอุทยานแห่งชาติที่ปลอดคน ก็เชื่อมโยงกับการป้องกันไม่ให้มีพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในป่าหรือใช้พื้นที่ป่าเป็นฐานกระทำการก่อการร้ายเพื่อทำลายชาติได้ ขณะเดียวกัน ‘ป่าการเมือง’เช่นนี้ก็ได้กีดกันผู้คนและชุมชนที่อยู่ในป่าออกไป ทั้งยังผลักให้พวกเขากลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง 


เมื่อรัฐครองที่ดินกว่าครึ่งของประเทศ 

ทศวรรษที่ 2550 ที่ดินเอกชนมีเอกสารสิทธิ์ในการดูแลของกรมที่ดินเพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 40 แต่ภาครัฐยังกำกับควบคุมที่ดินที่เหลืออีกร้อยละ 60 ระบบการกำกับดูแลที่ดินไทยที่ตกทอดมาเป็นไปอย่างขาดเอกภาพ ตกผลึกเป็นการกำกับที่ดินรัฐ ที่ดินเอกชน และที่ดินประหนึ่ง “กึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน” เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. แต่ละส่วนมีกฎหมาย กฎเกณฑ์ และโครงสร้างการบริหารจัดการเฉพาะแยกจากกัน มีหลายหน่วยงานกำกับในแต่ละส่วน เป็นพหุระบบที่ซับซ้อน สร้างความสับสนและไร้ประสิทธิภาพ ไม่เอื้ออำนวยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาการทับซ้อนระหว่างที่รัฐกับที่รัฐด้วยกัน รวมถึงระหว่างที่รัฐกับที่ซึ่งประชาชนเข้าใช้หรือครอบครองมาเนิ่นนานตามสิทธิธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิตามประเพณี

แต่ใช่ว่ารัฐไทยไม่ตระหนักในปัญหาการทับซ้อนนี้... 

ปลายทศวรรษ 2550 รัฐบาลมีโครงการใช้เทคโนโลยีใหม่ของ GPS และข้อมูลการถือครองที่ดินประเภทต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งจัดทำแผนที่ให้เป็นหนึ่งเดียว (One Map) และแสดงว่าพื้นที่ทุกตารางวาของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของที่ดินที่กล่าวมา แต่โครงการก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ในเบื้องต้น ผลรวมพื้นที่ของที่ดินแต่ละประเภทรวมกันได้จำนวนถึง 465 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าขนาดพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยที่ปัจจุบันมี 320 ล้านไร่ หมายความว่า พื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดในไทย กำลังทับซ้อนกันอยู่ 

Screen Shot 2567-03-08 at 10.11.48.png


ขบวนการต่อสู้ของประชาชน

การต่อสู้อันยาวนานของประชาชน ฉายพลังแจ่มชัดขึ้น ดังกรณีที่ท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเดิมขาดความเป็นประชาธิปไตยและความโปร่งใส เช่นที่จังหวัดศรีสะเกษและกาฬสินธุ์ จนกระทั่งสามารถพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถคัดง้างผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการอนุญาตให้กิจการเหมืองแร่ อุุตสาหกรรม และพลังงานขนาดใหญ่เข้ามาใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ติดกับพื้นที่ชุมชนได้ 

เราได้เห็นความพยายามของชุมชนในการใช้ทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรมที่ต่างกันไปในแต่ละแห่ง มาสร้างกติกาและขับเคลื่อนวิถี “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างประสบผลสำเร็จ ในกรณี “แม่แจ่มโมเดล” ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ “น่านแซนด์บอกซ์” ที่จังหวัดน่าน ที่ต่างมีการใช้ทุนของชุมชน และมีแนวทางในการขับเคลื่อนต่างกัน แต่มุ่งไปสู่การแก้ปัญหา โดยที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แม้สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้จะยังอยู่ในระดับสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ไม่รวมถึงสิทธิในการจัดการการกีดกัน และการถ่ายโอนที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ต้องต่อรองกับภาครัฐต่อไป

ศาสตร์-ศิลป์ ของการกำกับดูแลที่ดินไทย 

การกำกับดูแลที่ดินอันซับซ้อนละเอียดอ่อน ผสานหลากมิติ ทั้งภูมิศาสตร์วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ความใฝ่ฝันของผู้คน และสิทธิธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์นั้น เป็นทั้ง ‘ศาสตร์ และ ศิลป์’ ไม่อาจละเลยหรือให้น้ำหนักกับด้านใดมากน้อยไปกว่ากัน

เหตุที่เป็น ‘ศาสตร์’ ก็เพราะที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางธรรมชาติ เป็นทรัพย์เศรษฐกิจของชาติที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อากาศ และสิ่งแวดล้อม จึงต้องการความรู้ข้อมูลและเทคนิคต่างๆ ส่วนเหตุที่เป็น ‘ศิลป์’  ก็เพราะที่ดินมีมนุษย์อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ที่ดินคือหลักประกันขั้นพื้นฐานที่สุดว่าพวกเขาจะมีที่พักพิงคุ้มภัยมีบ้านให้เติบใหญ่และมีทรัพยากรให้หากิน เป็นความมั่นคงอย่างแรกที่มนุษย์พึงมีเพื่อนำไปสู่ความสามารถที่จะมีชีวิตอย่างมั่นคงในด้านอื่นๆ ทั้งยังบ่งบอกเอกลักษณ์ของกลุ่มชนจากแต่ละถิ่นที่อยู่อันหลากหลาย อย่างที่คนเปรียบกันว่าที่ดินหรือบ้านเกิด เป็น ‘อู่ข้าว-อู่น้ำ-รังนอน’ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีอยู่ การศึกษาที่ดินอันเป็น  อู่ข้าว-อู่น้ำ-รังนอน จึงไม่มีวันไม่สำคัญ

ปัญหาที่ทับถมและข้อท้าทายใหม่ๆ ที่โถมทับ ชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิรูประบบกำกับดูแลที่ดินไทยขนานใหญ่ ซึ่งงานวิจัยของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร มีข้อเสนอดังนี้ 

  • กระจายอำนาจ - เพิ่มการส่วนร่วมของคนในพื้นที่ 

เมื่อแต่ละท้องถิ่นมีสภาพภูมิศาสตร์ อิทธิพลในพื้นที่ และปัญหาที่แตกต่างกัน การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดิน รวมถึงการแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินรัฐ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จึงควรต้องเปิดให้องค์กรระดับภูมิภาค จังหวัด และประชาชน ในพื้นที่นั้นๆ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินนโยบายทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีกระบวนการเจรจาต่อรองที่โปร่งใส เป็นธรรม ปลอดจากอำนาจการชี้นำของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และยึดหลักโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยอาจให้สถาบันการศึกษา หรือองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือด้านการจัดระบบข้อมูลและการสำรวจความเห็น แทนที่จะรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางดังที่เคยเป็นเสมอมา

  • ปรับเป็นระบบเดียวที่เรียบง่าย 

แม้จะผ่านการแก้ไขหลายครั้ง กฎหมายเรื่องที่ดินก็ยังอาจล้าสมัย ซับซ้อน ประกอบด้วยขั้นตอนที่ยากจะเข้าใจ และมีหน่วยงานกำกับหลายหน่วยทับซ้อนกัน เมื่อเกิดปัญหาแทนที่จะแก้ไขกฎหมายอย่างเป็นระบบ รัฐกลับใช้วิธีแก้ไขไปทีละจุด ใช้มติคณะรัฐมนตรีโดยไม่แก้กฎหมายที่เป็นปัญหาหรือใช้อำนาจพิเศษ (เช่นมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังมองไม่เห็นคนที่มีชีวิตไหลเวียนอยู่ในนั้น ยิ่งกว่านั้น ระบบกำกับดูแลที่ดำเนินการทับซ้อนขนานกันไปกลับยิ่งสร้างความสับสน เปิดช่องสู่การคอร์รัปชันและความอยุติธรรม กฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินควรได้รับการปรับปรุงให้เป็นระบบเดียวกันและทันการณ์ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย ที่ดิน ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันให้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และสอดคล้องกัน ทั้งยังต้องปรับโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลที่ดินให้ชัดเจนขึ้น โดยมีองค์กรกลาง เช่น กรมที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก และจัดทำโครงการระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจน

  • ลดการถือครองที่ดินของ ‘รัฐ’ ที่มากจำเป็น

ขณะที่ประชาชนจำนวนมากขาดไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ภาครัฐกลับถือครองที่ดินถึงประมาณร้อยละ 60 ของที่ดินทั้งหมดในประเทศไทย การแจกแจงที่ดินประเภทต่างๆ ก็ยังมีปัญหา ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ครอบครองที่ราชพัสดุเป็นล้านๆ ไร่ แต่ทิ้งร้างไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รัฐต้องเร่งการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และโปร่งใสเพื่อให้แนวเขตที่ดินแต่ละประเภทชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน ทั้งในกรณีที่ดินของรัฐกับที่ดินของรัฐ และในกรณีที่ดินของรัฐกับที่ดินของเอกชน ตามด้วยการสร้างกลไกเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ที่ดินเหล่านี้ได้ โดยในทางกฎหมายยังอาจให้ที่ดินนั้นอยู่ในครอบครองของรัฐด้วยรูปแบบที่สอดคล้องกับความประสงค์และความจำเป็นของประชาชน ให้ความสำคัญกับคนไปพร้อมๆ กับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การจัดให้มีป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเหมาะสม การจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชนตามแนวทางของภาคประชาชน เร่งรัดการรับรองสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. ให้แก่ผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างมั่นคง ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

  • ป่า ไม่จำเป็นต้องปลอดคน 

การรักษาทำนุบำรุงที่ดินป่ายิ่งสำคัญและยุ่งยากมากขึ้น ในบริบทของวิกฤตโลกร้อน งานวิจัยชี้ว่าการที่ชุมชนอยู่ร่วมกับป่านั้นสามารถช่วยรักษาป่าได้ดี เห็นควรต้องส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างชุมชนป่า กับภาคราชการในกระบวนการขยายพื้นที่อนุรักษ์ ยกเลิกความคิดว่าป่าต้องปลอดคน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยแล้วและยังถกเถียงกันได้ ประสบการณ์ของหลายประเทศและความสำเร็จจากหลายพื้นที่ป่าชุมชนในไทยเอง ชี้ให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับทั้งมนุษยนิยมและวิถีอนุรักษ์ เกื้อหนุนสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิตามประวัติศาสตร์ของชุมชน

  • เมืองต้องไม่กินคน 

ความเป็นเมืองจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจะทับทวีและเลวร้ายลงในวิกฤตโลกร้อน เราจึงจำเป็นต้องปรับปรุงการกำกับดูแลและวางผังที่ดินเมืองเพื่อสังคมโดยรวมให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องปรับสมดุลระหว่างการหากำไรของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และเป้าหมาย ของสังคม ซึ่งก็คือการมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น สำหรับทุกคน รวมทั้งการเก็บภาษีที่ดินเพื่อบรรลุเป้าหมายของสังคมโดยรวม


ที่มา: