ไม่พบผลการค้นหา
ในวันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down's syndrome Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มี.ค. ของทุกปี 'บริจิตต์ มาครง' สตรีหมายเลข 1 ฝรั่งเศส ร่วมเปิดตัวคาเฟ่ชัวเยอ (Joyeux) ย่านโอเปรา พบปะพนักงานกว่า 20 ชีวิต ที่เป็นผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรม ออทิสติก และความพิการทางสติปัญญาอื่นๆ
"ฉันมีความแตกต่าง แต่ก็อยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ฉันสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง"

เป็นคำพูดของ 'เมลานี เซอการด์' หญิงสาวผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรม และได้รับโอกาสจากสถานีโทรทัศน์ฟรองซ์เดอซ์ (France 2) ให้ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวช่วงพยากรณ์อากาศ ซึ่งแสดงให้โลกรับรู้ว่า ปัจจุบันผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรมหลายคนต้องการพิสูจน์ตัวเอง และแสดงให้สังคมเห็นความสามารถที่ซ่อ��อยู่

3-4 ปีที่ผ่านมา 'ดาวน์คาเฟ่' หรือคาเฟ่ที่มีพนักงานเป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือ สนับสนุนให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง อาทิ คาเฟ่คอนเซ็ปต์น่ารักในรัฐอิลลินอยล์ สหรัฐฯ ที่เปิดให้ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมมาโชว์ฝีมือปรุงอาหาร และเป็นพนักงานเสิร์ฟ จนได้รับความนิยมชมชอบไปไม่น้อย

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการเบ่งบานของคาเฟ่ฮิปๆ เก๋ๆ ที่ผุดขึ้นในกรุงปารีส ล่าสุดเกิดคาเฟ่น้องใหม่ชื่อว่า 'ชัวเยอ' (Joyeux) ที่กำลังรอให้นักชิมทุกคนได้ไปเพลิดเพลินกับอาหารกลางวัน และอาหารค่ำ ซึ่งพิเศษสุดๆ ด้วยบรรดาพ่อครัว แม่ครัว และพนักงานเสิร์ฟหลายคนมีโครโมโซมคู่ที่ 21 มากกว่าคนปกติ


'ชัวเยอ' ในภาษาฝรั่งเศสมีหมายความว่า 'ความสุข' โดยภายในคาเฟ่เต็มไปด้วยพนักงานที่เป็นดาวน์ซินโดร ออทิสติก และความพิการทางสติปัญญาอื่นๆ ซึ่งคอยให้บริการทุกคนที่มาเยือนด้วยความเต็มใจ


เจ้าของคาเฟ่นามว่า 'ญานน์ บูกายล์ ลองเซอรัก' (Yann Bucaille Lanzerac) อายุ 48 ปี กล่าวว่า เขาวางแผนจะกระจายความสุขด้วยการเปิดสาขาใหม่อีก 4 แห่งทั่วฝรั่งเศส เพื่อให้ผู้พิการมีโอกาสทำงาน แสดงความสามารถ ขณะเดียวกันก็เป็นการหาเลี้ยงชีพ


000_12X3YP.jpg

"ผมมีความสุขมากเลยจริงๆ" พนักงานวัย 36 ปี ผู้มีอาการออทิสติกกล่าวระหว่างที่เขากำลังเคี่ยวสตูว์ถั่วชิคพี ซึ่งเป็นอาหารปลอดกลูเตน ตามมาด้วยอาหารอิตาเลียนอย่าง ออสโซบูโก (Ossobuco)

"ผมอยากทำอาหารมานานมากแล้ว และความฝันของผมก็เป็นจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมทำไม่ได้ก็แค่การใช้เครื่องล้างจาน"

ด้านมาติลด์ พนักงงานเสิร์ฟอายุ 20 ปี ซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรมกล่าวว่า คาเฟ่ช่วยพัฒนาทักษะของเธอ ขณะเดียวกันเธอเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมจนวินาทีสุดท้ายของงานประกาศเปิดตัวครั้งใหญ่เมื่อวันพุธ (21 มี.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่ง 'บริจิตต์ มาครง' (Brigitte Macron) สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของฝรั่งเศส เดินทางมาแสดงความยินดีด้วย

"ฉันได้ทำงานในร้านอาหารแล้ว ฉันเตรียมอาหาร ฉันอยู่หน้าเคาน์เตอร์ และฉันชอบมัน ฉันได้เรียนรู้วิธีการเป็นบาริสต้า การชงกาแฟ และการบริการอาหารบนโต๊ะ" มาติลด์กล่าว

คาเฟ่ชัวเยอตั้งอยู่ในย่านโอเปรา ซึ่งเป็นยอดนิยมของเหล่านักท่องเที่ยว บรรยากาศภายในเต็มไปด้วยความสนุกสนาน โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะได้รับชิ้นส่วนของบล็อกตัวต่อเลโก้ เมื่อสั่งซื้ออาหาร และเครื่องดื่มบริเวณหน้าเคาน์เตอร์ หลังจากนั้นอาหารจะทยอยออกมาจากห้องครัวบนถาดที่มีแถบสีเหมือนกับบล็อคตัวต่อ

ฮิตมากๆ บนเว็บไซต์ TripAdvisor 

ที่สำคัญ 'ลองเซอรัก' เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียว และเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คาเฟ่ชัวเยอมาจากความคิดของเขากับภรรยา เมื่อทั้งคู่ทดลองพาหนุ่มสาวคนพิการไปล่องเรือใบการกุศลที่แคว้นเบรอตาญ


"ธีโอ เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปกับเรา เขาเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ เขาบอกกับผมว่า กัปตัน คุณไม่มีงานให้ผมทำหรอ?"

หลังจากลองเซอรักตอบกลับไปว่า "ไม่มี" ธีโอก็แสดงความรู้สึกผิดหวัง และความผิดหวังของธีโอก็ผลักดันให้เขา "คิดถึงธุรกิจที่สามารถจ้างคนพิการได้"

เมื่อเดือน ธ.ค. คาเฟ่ชัวเยอเปิดตัวสาขาแรกในเมืองแรนส์ (Rennes) และได้รับคะแนนรีวิวบนเว็บไซต์ TripAdvisor ดีมากๆ จากนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทางตะวันตกของฝรั่งเศส นอกจากนั้น ทางคาเฟ่ยังนำเสนออาหารมังสวิรัติ และอาหารปราศจากกลูเตน ซึ่งอนาคตวางแผนขยายสาขาไปตามมาบอร์กโดซ์ ลียง และลีลล์ เพื่อนำผลกำไรไปทำการกุศล

000_12X3YG.jpg

'โซฟี กลูเซล' (Sophie Cluzel) รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดินทางเข้าเยี่ยมชมคาเฟ่หลังจากเปิดตัวใน 'วันดาวน์ซินโดรมโลก' (World Down's syndrome Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี โดยพบกับพูดคุยผู้จัดการ 3 คน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมของพนักงานคนพิการ 20 คน

'ลอเรล แฌร์แม็ง' (Laurel Germain) นักจิตวิทยาสัญชาติฝรั่งเศสอธิบายว่า บรรดาพนักงานได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง และเป็นความสามารถมากกว่าความพิการของพวกเขา นอกจากนั้น ชั่วโมงการทำงานยังปรับให้เข้ากับความรวดเร็วของแต่ละคน

"ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมบางคนมีความสามารถในการอ่าน เขียน และใช้คำศัพท์ได้หลากหลาย แต่บางคนก็ไม่สามารถเขียน และมีปัญหาเรื่องการแสดงออก ซึ่งสุดท้ายเคล็ดลับอยู่ตรงการหางานที่เหมาะสมให้แต่ละคนทำ" นักจิตวิทยากล่าว