ไม่พบผลการค้นหา
3 องค์กรแถลงรายงานปี 63 ชี้ไทยเด่นสุดกรณีไอลอว์ยื่น ร่าง รธน.ฉบับประชาชน แต่แย่สุดที่รัฐสภาปัดตกตั้งแต่วาระแรก ขณะที่ ม็อบนักเรียนเลวติดโผด้านดีเสอนปฏิรูปการศึกษา ส่วนแย่สุดรัฐสภาคว่ำร่าง รธน.ภาคประชาชน รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2563 (10 เด่น 10 ด้อย) ผู้ร่วมแถลงรายงานประกอบด้วย นิกร วีสเพ็ญ ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน คอรีเยาะ มานุแซ นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 

โดย 10 เด่น หรือด้านที่ก้าวหน้า ประกอบด้วย 1.ประชาชน 100,732 รายชื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ทำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์

2. "กลุ่มนักเรียนเลว" เสนอการปฏิรูปการศึกษา

3.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศ คสช. 2 ฉบับ ให้ลงโทษผู้ไม่มารายงานตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

4. การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยศาล ที่ศาลยกคำร้องการฝากขังและให้ออกหมายเรียกก่อนออกหมายจับ แกนนำและผู้ชุมนุมทางการเมือง

5. ส.ส.เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ต่อสภาผู้แทนราษฎร

6.ศาลรัฐธรมนูญวินิฉัยประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้ง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำสู่การปรับปรุงแก้ไข

7.ร่างกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

8.ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาการขึ้นทะเบียน "พรุแม่ลำพึง" จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติ เป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ

9.สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. หลังไม่ได้เลือกตั้งมามากกว่า 7 ปี 

10.การจัดตั้ง "สภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทย" เพื่อเป็นตัวแทน, คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

ส่วน 10 ด้อย หรือด้านที่ถดถอย ประกอบด้วย 1.รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

2.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน กทม.

3.การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม

4.กรณีอุ้มหาย "วันเฉลิม" เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐไทยในการสืบสวน สอบสวน ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย

5.กระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ กรณี "บอส อยู่วิทยา" 

6.ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ

7.การยกเลิกการจัดการที่ดินในรูปแบบ "โฉนดชุมชน" 

8.การสรรหาและเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ชุดใหม่นาน 3 ปี ส่งผลให้กลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีประสิทธิภาพ

9.ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐและเอกชน หรือไอโอ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

10.มาตรการการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด -​19 ที่ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยา

นิกร กล่าวว่า การรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรแนวร่วม ไม่ได้จัดอันดับขึ้นมาแบบลอยๆ มีการตั้งคณะทำงาน โดยหัวใจสำคัญคือ นำเอารัฐธรรมนูญของไทยและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคีหรือที่กำลังจะลงนาม มาเป็นตัวตั้งในการประเมิน โดยพยายามรวบรวมทุกด้านของสิทธิมนุษยชนเเละหวังเป็นกระจกบานเล็กๆที่ส่องแสงเข้าตาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง