ไม่พบผลการค้นหา
รศ.ดร.ยุทธพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช คาด โหวตนายกฯ 22 ส.ค.นี้ ไม่จบ ‘เศรษฐา’ มีโอกาสไปไม่ถึงฝัน ส่วน ‘แพทองธาร’ คงไม่กล้าเสนอในสภาวะเสี่ยง ชี้ ‘อนุทิน-ประวิตร’ มีโอกาสนั่งนายกฯ ระบุ ‘เพื่อไทย’ ตอบโจทย์ถูกตั้งโจทย์ทิ้ง มองเพื่อไทยขอ ‘ก้าวไกล’ ร่วมโหวต ‘ปิดสวิตช์สว.’ เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เชื่อตั้งรัฐบาลสมานฉันท์

วันที่ 18 ส.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่าถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยว่า เสียงของ สส. ที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นเกือบจะเพียงพอแล้ว แต่เสียงของ สว. จะมาสนับสนุนหรือไม่นั้น ยังไม่มั่นใจ แม้หลายคนจะประเมินว่า มี ‘พรรค 2 ลุง’ (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ) อาจจะได้เสียง สว. มาเพิ่ม แต่ก็ไม่มั่นใจ เพราะ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีเงื่อนไขกรณีที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ออกมาเปิดโปง อีกทั้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ห้ามเสนอชื่อซ้ำ จึงเป็นการปิดโอกาสพรรคเพื่อไทยให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้เพียง 1 ชื่อ 1 ครั้งเท่านั้น

รศ.ดร.ยุทธพร ระบุอีกว่า แคนดิเดตนายกฯ ที่มีอยู่ 9 คนนั้น สามารถใช้งานได้เพียง 4 คนคือ เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหาก เศรษฐา ไม่ผ่าน โอกาสของ แพทองธาร ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่เสนอชื่อในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้ ดังนั้นโอกาสที่ตำแหน่งนายกฯ จะไหลไปที่ขั้วอำนาจเดิมอย่าง อนุทิน หรือพล.อ.ประวิตร

การเมืองวันนี้ที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญในการประสานงานกับพรรคร่วมเดิม 188 เสียงคือ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นแกนนำจริงๆ เพราะต้องยอมรับทุกเงื่อนไขการต่อรองเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) การเมืองในมิติของ สว. และการเมืองจาก 8 พรรคร่วมเดิม โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่ยืนยันไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย จึงยังไม่มั่นใจว่า การโหวตนายกฯ วันที่ 22 ส.ค. นี้จะมีนายกฯ ชื่อ เศรษฐา

รศ.ดร.ยุทธพร อธิบายเพิ่มเติมว่า การโหวตนายกฯ ในวันดังกล่าว อาจจะมีเกมการเมืองจนนำไปสู่การที่ประธานรัฐสภาสั่งปิดการประชุม โดยการเดินหน้าของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้อยู่ในสภาวะ “ตอบโจทย์ถูกแต่ตั้งโจทย์ผิด” กล่าวคือ ตอบโจทย์ถูกที่ไปสู่การตั้งรัฐบาล แต่ตั้งโจทย์ผิดคือ มีความล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องทำโจทย์ตรงนี้ก่อน แต่เมื่อมันเลยจุดนั้นมาแล้ว แม้ว่า พรรค 2 ลุงจะเป็นฝ่ายเสนอตัวมาก่อน หรือเสนอตัวมา “โดยตีเช็คเปล่า” แต่ไม่เชื่อว่ามีจริง เพราะในการเมืองมีแต่ “การตีเช็คโดยไม่บอกตัวเลข”

ถึงอย่างนั้น ถ้าพรรค 2 ลุงมาด้วยความจริงใจ โอกาสที่เราจะได้เห็นเสียง สว. อย่างน้อย 100 เสียง ทำให้ตัวเลขที่มีอยู่ขณะนี้คือ 315 รวมกับ สว. จะได้ 415 เสียง เกินกว่า 376 แต่ถ้าหากพรรค 2 ลุงไม่ได้มาอย่างใจจริง สุดท้ายเสียง สส. อาจจะเกิน 250 แต่เสียง สว. ไม่มาตามนัด

รศ.ดร.ยุทธพร ชี้ว่า กระบวนการที่บิดเบี้ยวทุกอย่างหลังการเลือกตั้งมาจนถึงวันนี้ มันเดินหน้ามาในลักษณะแค่อีกก้าวเดียวก็ถึง พล.อ.ประวิตร และปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่อยู่ในสมการทางการเมืองต่อไป และคิดว่าการได้นายกฯ อาจจะไม่เร็วกว่าเดือนสิงหาคมแน่นอน เพราะวันนี้สะท้อนว่า การเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ ขณะเดียวกันยอมรับว่า ความล่าช้าของการตั้งรัฐบาลส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการเมือง และเศรษฐกิจ

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า มี 4 เงื่อนไขที่ต้องรักษาสมดุลในการตั้งรัฐบาล ได้แก่

1.เสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

2.การประกาศวางมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยประกาศมาก่อน เท่ากับว่า กระบวนการทางการเมืองคงพูดคุยกันมาในระดับหนึ่ง

3.การกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมตั้งรัฐบาล

4.ความคาดหวังทางการเมืองของประชาชนที่เกิดขึ้นจริง ไม่อย่างนั้นจะเกิดม็อบที่แม้ว่าจะโดนครหาว่า จุดไม่ติด แต่เมื่อสถานการณ์มันสุกงอมจะเห็นม็อบขยายตัวมากขึ้น

ส่วนกรณีที่ว่า การตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นการปรองดองสมานฉันท์ นั่นคือ “โฆษณาชวนเชื่อ” อย่างกรณีที่ชวนพรรคก้าวไกลมาร่วมโหวตเพื่อปิดสวิตช์ สว. หากพรรคก้าวไกลมาร่วมโหวต สว. ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ให้ภาวะร่วมโหวตถูกถ่วงดุล แต่อำนาจหน้าที่ของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงกำกับอยู่ทั้งบทบาทศาล องค์กรอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์

“ฉะนั้นการให้พรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้านมาช่วยเหลือ มันไม่ถูกหลักการรัฐสภา เพราะฝ่ายค้านต้องคอยตรวจสอบ เช่นเดียวกับคำว่า รัฐบาลสลายขั้ว หรือรัฐบาลเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่มันเป็นรัฐบาลที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน และพรรคการเมืองที่ประกาศตัวก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่ยอมรับพรรค 2 ลุง รวมกันคือ 25 ล้านเสียง เป็นเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนภาพว่า นี่คือรัฐบาลที่ประชาชนต้องการ” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว