ไม่พบผลการค้นหา
ชุดประจำชาติช้าง แค่ภาพจำผิวเผินของไทยหรือมีรากทางประวัติศาสตร์สังคมอยู่จริง? ติดตามได้ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง

การประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้ไทยเราเป็นเจ้าภาพก็จริง แต่เงี๊ยบเงียบ แต่ถึงอย่างนั้นในความเงียบ ก็ยังมีดราม่าเล็กๆ แฝงอยู่ เพราะชุดประจำชาติของนางงามไทยล่าสุดที่ประกาศออกมาในชื่อ "Chang the Icon of Siam" มีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ บ้างก็บอกว่าเฉยๆ ไม่เด้งไม่ปัง แต่บ้างก็ว่าชัดดีออก ไท๊ยไทยเห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าไทยเลยนะเนี่ย

ทำไมช้างถึงไท๊ยไทย?

มีโอกาสได้อ่านแนวคิดของการออกแบบชุดที่แจกเป็น Press ให้กับนักข่าวมานิดหน่อย หลักๆ คือมองว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ แถมยังมีกลไกกางหัว-กางงวงช้าง ออกมาจากชุดราตรีได้ด้วย ดังนั้น จะบอกว่าเรียบก็ไม่เรียบซะทีเดียว พอมีลูกเล่นอยู่บ้าง แม้ไม่จี๊ดเท่า "ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์" ก็เหอะ

ในแง่การสื่อสารว่า "ชุดนี้คือไทยนะ" ช้างก็น่าจะผ่านในระดับนึง เพราะมีอานิสงค์จากการท่องเที่ยว ฝรั่งมังค่าเคยเห็นกันมาบ้าง แต่เท่าที่อ่านดูใน Press จะเห็นว่าคนออกแบบเขายังใส่แนวคิดเรื่องช้างในฐานะสิ่งที่ไทยใช้เชื่อมสัมพันธ์กับชาติต่างๆ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานในเอกสารต่างๆ อยู่ไม่น้อย

"ลาลูแบร์" บันทึกถึงช้างไว้อย่างยืดยาวหลายหน้า และยังบอกอีกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่งลูกช้าง 3 เชือก ลงเรือไปให้พระเจ้าหลานเธอของพระเจ้าหลุยส์ ส่วน "ออกพระศักดิสงคราม" (เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง) นายทหารฝรั่งเศสบันทึกว่า ตอนเข้าวังครั้งแรก เขาถูกต้อนรับด้วยแถวช้างขนาบซ้ายขวา



ภาพช้างในโรงเลี้ยง

ภาพช้างในโรงเลี้ยง และตู้โชว์อาวุธและงาช้างของสยาม มีเครื่องหมาย "รูปตราช้าง" ในมหกรรมยูนิเวอร์แซล ณ พระราชวังช็อง เดอ มาส์ (ภาพจากหนังสือราชอาณาจักรสยาม ของพระสยามธุรานุรักษ์ (แอ็ม อา เดอ เกรอัง))

ยิ่งเมื่อถึงสยามยุคเปิดรับอายธรรมตะวันตก เรายิ่งเห็นช้างในบทบาท "แบรนด์แอมบาสเดอร์" มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2410 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามได้รับเชิญให้เข้าร่วมในมหกรรมยูนิเวอร์แซล จัดแสดงนิทรรศการศิลปหัตถกรรมของประเทศ ที่พระราชวังช็อง เดอ มาส์ ประเทศฝรั่งเศส โดย "พระสยามธุรานุรักษ์" (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) ราชทูตฝรั่งเศสที่มาเจริญไมตรีกับสยาม บันทึกว่าครั้งนั้นห้องนิทรรศการเล็กๆ ของเรามี "รูปตราช้าง" เป็นเครื่องหมาย โดยของที่จัดแสดงจำนวนมากมายนั้น มีสิ่งที่เกี่ยวกับช้างหลายอย่าง เช่น งาช้าง อานสำหรับช้าง และกริชของควาญช้าง นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ยังพระราชทานช้าง 2 เชือก (ช้างพลายและช้างพัง) ซึ่งทั้งคู่ถูกนำไปเลี้ยงในสวนจาแด็ง เคปล็องต์ (สวนพฤกษศาสตร์) 

ดังนั้น การที่บอกว่าช้างเป็นตัวแทนเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างชาติ จึงไม่ได้อยู่ที่มิติการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่อยู่ที่มิติทางประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งอันนี้ถือว่า Chang the Icon of Siam ก็พยายามหยิบต้นทุนประวัติศาสตร์มาใช้อยู่
โอกาสจากชุดช้าง

เอาจริงๆ ชุด Chang the Icon of Siam ก็สวยดีในระดับนึง แต่ก็นั่นแหละไม่มีอะไรที่จะทำให้คนชอบไปซะทุกคนได้ นั่นจึงทำให้มีเสียงบ่นๆ น้องช้างอยู่บ้าง ดูอย่างชุด "ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์" ที่ MUT เปิดตัวมาตอนแรกๆ สิ นั่นก็โดนรุมจวกมิใช่น้อยเหมือนกัน ดังนั้น เรื่องดราม่าชุดประจำชาติจึงเหมือนอีเวนต์ประจำปีในโลกโซเชียล ไม่มีซะเลยเดี๋ยวจะกร่อย

แต่สิ่งที่อาจเป็นดราม่าเล็กๆ แต่ต้องคำนึงให้มากๆ ก็คือ บ้านเราให้ความสำคัญกับช้างขนาดส่งเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ประเทศขนาดนี้ แต่สื่อต่างประเทศรวมถึงองค์กรต่างๆ ก็ยังให้ความสนใจเรื่องการคุณภาพชีวิตช้างในไทย ด้วยปัญหาหลายประการ เช่น การใช้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ การล่าช้างป่า

ถ้าการ Present ชุดประจำชาติ จะมีประเด็นรณรงค์เหล่านี้แทรกไปด้วยก็น่าจะเรียกความสนใจ และโชว์ทัศนะเกี่ยวกับปัญหาที่โลกให้ความสำคัญได้

ฝากไว้ให้คริส ในฐานะแฟนนางงาม (ห่างๆ) 


ภาพช้างในโรงเลี้ยง

เผื่ออยากอ่านต่อ

สยามธุรานุรักษ์ (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) , พระ, ราชอาณาจักรสยาม, นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2543.

จดหมายเหตุฟอร์บัง, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2560.

จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog