ไม่พบผลการค้นหา
เวทีมิสยูนิเวิร์สเริ่มคึกคักด้วยการอุ่นเครื่องก่อนถึงรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ด้วยการประกวดชุดประจำชาติที่ถือเป็นสีสันของการประกวดทุกปี ปีนี้นอกจากจะเห็นสาวงามแต่ละชาติอัพความ "ใหญ่" ของชุดมาประชันกัน หลังจากปีที่แล้วชุดหุ่นสายพม่าที่ใหญ่โตอลังการได้รางวัลไป ยังได้เห็นการตีความ "ชาติ" ในแบบใหม่ๆที่สร้างสรรค์และทันสมัย ไม่ยึดติดกรอบประเพณีเดิมๆอีกต่อไป

ไทย-เมขลาล่อแก้ว

มารีญา.jpg

ชุดประจำชาติของไทยในปีนี้ยังคงเน้นที่การขายศิลปวัฒนธรรมโบราณเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ปีนี้มารีญา พูลเลิศลาภ สวยสง่าในชุดเมขลาล่อแก้ว ที่หักมุมโดยการให้สาวสวยแต่งเป็นรามสูรแทน และเป็นผู้เชิดหุ่นนางมณีเมขลา ชุดนี้นอกจากจะได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีไทย ยังน่าจะเป็นการผสมผสานกลิ่นอายของผู้ชนะในปีที่แล้วอย่างเมียนมา ที่แต่งตัวเป็นหุ่นสาย ยกโรงมาเชิดบนเวที น้ำหนักกว่า 40 กิโลกรัม จนชนะใจกรรมการ ได้รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมไปครอง

1290342.jpg

ชุด "ตุ๊กตุ๊ก" ของไทย คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในเวทีมิสยูนิเวิร์สปี 2015

การกลับมาหาขนบธรรมเนียมไทยเดิม (ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าไม่มีอะไรไทยแท้ เพราะเรื่องเมขลา-รามสูร ก็เป็นปกรณัมที่มีต้นกำเนิดจากชมพูทวีป) ของชุดประจำชาติไทย ดูเหมือนจะสะท้อนกลิ่นอายอนุรักษ์นิยม ผูกพันกับความรุ่งเรืองของไทยในอดีต ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพการณ์บ้านเมืองและการเมืองตอนนี้ ที่อะไรๆก็ดูจะย้อนยุค หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ความเป็นไทยถูกทำให้เป็นสากลขึ้นผ่านการใส่วัฒนธรรมร่วมสมัยและวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างตุ๊กตุ๊กและมวยไทยเข้าไปในชุด ซึ่งได้รับการชื่นชมว่าเป็น "ชาตินิยม" แบบประชาชนเป็นใหญ่ครั้งแรกของไทยในเวทีระดับโลก

เมียนมา-วงแซงแวง

แชมป์เก่าอย่างเมียนมาภาคภูมิใจกับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมที่ได้ในปีที่แล้วอย่างมาก เพราะถือเป็นรางวัลระดับโลกรางวัลแรกในรอบหลายสิบปีที่เมียนมาได้รับ ปีนี้ ซุน ตาน ซิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา แบกรับความคาดหวัง ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าเดิมหลายเท่า ไม่ใช่แค่น้ำหนักจากแรงกดดันของคนดู แต่ยังรวมถึงน้ำหนักพรอพที่เธอต้องแบกขึ้นเวทีด้วย เพราะชุดปีนี้ เมียนมายกวงดนตรีแซงแวง หรือซายวาย หรือเทียบได้กับวงปี่พาทย์ของไทย ที่ขนมาแบบเต็มวง แม้ซุน ตาน ซิน จะเป็นนางแบบมืออาชีพมาก่อนเช่นเดียวกับมารีญา แต่เชื่อว่าเธอก็คงหนักใจไม่น้อยกับการต้องเดินไปพร้อมกับฉาก 3 ตอนที่ประกอบเป็นวงดนรีครบเซ็ตนี้ ในชุดลองยี ชุดประจำชาติพม่าที่แคบและมีชายยาวระพื้น ที่ทำให้เดินได้ยากลำบากอยู่แล้ว

1290336.jpg

ชุดประจำชาติเมียนมา ในคอนเซ็ป "หุ่นสายพม่า" ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2016 มีน้ำหนักรวมกว่า 40 กิโลกรัม

ชุดประจำชาติเมียนมา สะท้อนว่าชาตินิยมเมียนมาที่เข้มข้น ยังคงผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม และศูนย์กลางของวัฒนธรรมก็คือเอกลักษณ์พม่า ไม่มีชาติพันธุ์อื่นๆเจือปน ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในเมียนมาอย่างไทใหญ่ กะเหรี่ยง กะฉิ่น มอญ ก็มีวัฒนธรรมที่รุ่มรวยเก่าแก่ไม่แพ้กัน อย่างวงแซงแวงเอง อันที่จริงแล้วก็คือเปิงมาง วงดนตรีดั้งเดิมของมอญ ที่ถูกพม่ากลืนกลายกลายเป็นอัตลักษณ์ของชนชาติพม่าไปเช่นเดียวกับวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายและสถาปัตยกรรมมอญ

ลาว-กระทง

หนึ่งในชุดประจำชาติที่คนไทยพูดถึงมากที่สุด และไม่ใช่ในทางที่ดีนัก ก็คือชุดประจำชาติลาว เมื่อโสพาพอน สมวิจิด หรือนุ้ย สาวลาวที่เป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกในประวัติศาสตร์ลาว ปรากฏกายในชุดผ้าซิ่น ห่มสไบ และถือกระทงใบตอง พร้อมพรอพเป็นโคมเรืองรองแผ่เต็มเบื้องหลัง แสดงถึงประเพณีลอยกระทงและลอยโคม ซึ่งสะท้อนว่าความเป็นชาติของลาว ก็คล้ายกับไทยและเมียนมา ยังผูกติดอยู่กับการเชิดชูวัฒนธรรมโบราณดั้งเดิม

แต่ที่เป็นประเด็น ก็คือคนไทยจำนวนมากวิจารณ์ว่าเหตุใดชุดประจำชาติลาวจึงมีกระทงและโคม ซึ่งเป็น "ประเพณีไทย" ซึ่งอันที่จริง ประเพณีลอยกระทงมีมาแต่ดั้งเดิมในชมพูทวีป และภูมิภาคอุษาคเนย์ก็ได้รับอิทธิพลมาผ่านศาสนาพราหมณ์ หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการลอยกระทง พบในภาพจำหลักนูนต่ำที่ระเบียงคตด้านทิศใต้ฝั่งตะวันออกของปราสาทบายน ในเมืองพระนคร กัมพูชา เก่าแก่นับพันปี ก่อนที่จะมีกรุงสุโขทัยและเรื่องเล่าของนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่คนไทยถูกสอนให้เชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นเป็นคนแรก

ประเด็นนี้สะท้อนปัญหาของการผูกเอาชาตินิยมเข้ากับวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง แต่สั่งสมและแพร่หลายในภูมิภาคมานานตั้งแต่ก่อนจะมีรัฐชาติสมัยใหม่ เมื่อครั้งยังไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน วัฒนธรรมที่ควรจะเป็นสิ่งเชื่อมโยงชาติที่มีอัตลักษณ์คล้ายกันเข้าด้วยกัน จึงกลายเป็นชนวนเหตุความบาดหมางระหว่างเชื้อชาติไปอย่างน่าเสียดาย

มาเลเซีย-นาซิเลอมัก

20-11-2560 14-53-38.jpg

ภาพจากอินสตาแกรม samantha Kayty

ชุดประจำชาติของมาเลเซียในเวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของชาติอาเซียนที่ไม่ได้ผูกติดความเป็นชาติเข้ากับความเก่าแก่โบราณของศิลปวัฒนธรรมชั้นสูง ก่อนหน้านี้ มาเลเซียเคยสร้างความฮือฮาด้วยชุดตึกแฝดเปโตรนาสที่เป็นความภูมิใจของคนทั้งชาติมาแล้ว และปีนี้ ซาแมนธา เคที เจมส์ สาวงามจากมาเลเซีย ปรากฏกายในชุดราตรีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอาหารประจำชาติ "นาซิ เลอมัก" สีขาวของชุดเป็นตัวแทนของข้าวหุงกับกะทิ ส่วนประกอบหลักของนาซิ เลอมัก ตัดกับสีเขียวของใบตองที่ใช้ห่อข้าวตามธรรมเนียมการกินของชาวมาเลย์ ประดับชุดด้วยคริสตัลสีแดง แทนซัมบัล น้ำพริกแบบมาเลเซีย และมีไข่ แตงกวา ถั่วลิสง และปลากะตักทอดติดที่เอวเพื่อให้ครบเครื่อง ชุดนี้ถูกวิจารณ์ว่าน่าขัน ไม่สวยสมเวทีมิสยูนิเวิร์ส แต่ในแง่ของความหมาย ถือว่าสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นชาติของมาเลเซียได้อย่างลึกซึ้ง

20-11-2560 14-54-34.jpg

นอกจากนาซิ เลอมัก จะเป็นอาหารประจำชาติที่คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่ายากดีมีจนชอบกิน ยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทุกชาติพันธุ์ในมาเลเซีย แม้ว่านี่จะเป็นอาหารมลายูก็ตาม ในฐานะประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนามาตลอดอย่างมาเลเซีย และมีคนหลายเผ่าพันธุ์ทั้งจีน อินเดีย และมาเลย์ อาหารดูจะเป็นทางออกที่สมานฉันท์ที่สุด มากกว่าการหยิบยกชุดประจำชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ใดมาเป็นชุดประกวด แม้อาหารมลายูอย่างนาซิ เลอมัก จะยังสะท้อนกลิ่นอายมาเลย์เป็นใหญ่อยู่ก็ตาม

สหรัฐฯ-นิวเคลียร์

000_UE6Y4.jpg

อีกชุดที่ฮือฮาไม่แพ้กันในแง่ของความแปลกแหวกแนวเหนือความคาดหมาย ก็คือชุดประจำชาติของเจ้าภาพ สหรัฐฯ แทบทุกปีสหรัฐฯจะส่งชุดประจำชาติเข้าประกวดในทีมที่มีกลิ่นอายของซูเปอร์ฮีโร่ แต่ปีนี้ คารา แมคคัล มิสยูนิเวิร์สสหรัฐฯ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการออกแบบชุด เธอมาในชุดสีน้ำเงิน-แดง สีประจำชาติอเมริกัน และธีมชุดที่ทรงพลังแบบซูเปอร์วูเมนคล้ายกับปีที่แล้ว แต่กิมมิกอยู่ที่เครื่องประดับศีรษะ ที่ทำเป็นโครงสร้างอะตอม จนคาราโดนแซวว่าเป็นนางงามกระทรวงวิทยาศาสตร์

แต่อันที่จริงแล้ว เธอเป็นนางงามที่มีดีกรีเป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ประจำคณะกรรมาธิการด้านการออกกฎหมายควบคุมนิวเคลียร์ของรัฐ ชุดนี้จึงสะท้อนความภาคภูมิใจของสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในฐานะมหาอำนาจทางการทหาร แต่รวมถึงการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย และยังสะท้อนว่านิวเคลียร์ไม่ใช่เป็นได้แค่อาวุธร้ายแรง แต่ยังสามารถเป็นสิ่งสวยงามและสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

อิสราเอล-วันเดอร์วูเมน

20-11-2560 15-07-07.jpg

ภาพจากอินสตาแกรม อดาร์ กันเดลส์แมน

ไม่ใช่แค่สหรัฐฯที่มาในธีมซูเปอร์ฮีโร่ อิสราเอล พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯก็ไม่น้อยหน้า และกล้าที่จะแตกต่างด้วยการให้อดาร์ กันเดลส์แมน ใช้ชุดวันเดอร์วูเมน ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เป็นชุดประจำชาติ การที่อิสราเอลเลือกชุดนี้ มีเหตุผลหลายประการ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือกัล กาโดต ดาราสาวที่รับบทวันเดอร์วูเมน เป็นคนอิสราเอล และเคยเป็นทหารมาก่อน เธอทำให้โลกรำลึกได้ว่าอิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่ทั้งชายและหญิงยังต้องเกณฑ์ทหาร เนื่องจากประเทศถือว่ายังอยู่ในภาวะสงคราม

นอกจากนี้การใช้ชุดวันเดอร์วูเมนยังเป็นการเอาใจเจ้าภาพอย่างสหรัฐฯ และเอาใจผู้ชมชาวอเมริกัน นอกจากจะหวังผลโหวต ยังเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างสองประเทศ ซึ่งทั้ง 2 เหตุผลนี้ประกอบกัน ทำให้ชุดประจำชาติอิสราเอลในปีนี้เป็นการสะท้อน 2 ปัจจัยที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของอิสราเอล นั่นก็คือความแข็งแกร่งของกองทัพ และพันธมิตรผู้ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐฯ