ไม่พบผลการค้นหา
อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ จับมือสุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยงพบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้กฎหมายควบคุม

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2562 เป็นต้นมานั้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้ก

ผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09-0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42-1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่ FAO/WHO แนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้น

เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว

อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน 

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนงบประมารณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อนที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่) ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (55 กรัม) 

ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่ จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก

ดังนั้น จึงได้ตรวจสอบผลการตรวจวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ในสูตรเค้ก หรือก็คือปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกินหนึ่งหน่วยบริโภค

ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลตจากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ. 2561) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และกรดเบนโซอิก (Benzoic acid)

โดยผลการตรวจวิเคราะห์ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบประเภทเค้ก กาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบมากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง