ไม่พบผลการค้นหา
รายงานข่าวระบุว่า ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเปอร์โต โลเปซ ของเอกวาดอร์ ซึ่งถูกยิงสังหารก่อนคูหาเลือกตั้งเปิดไม่กี่ชั่วโมง เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของเมืองดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 ก.พ.) โอมาร์ เมเนนเดซ วัย 41 ปี ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเปอร์โต โลเปซ ถูกมือปืนบุกเข้ามายังสำนักงาน และยิงสังหารเขาพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ช่วยรณรงค์หาเสียง จนเสียชีวิต ทั้งนี้ มีการพบวัยรุ่นรายหนึ่งถูกยิงสังหารจากการโจมตีในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนสอบสวน เพื่อหาแรงจูงใจในการก่อเหตุสลดครั้งนี้

มีการคาดว่าหนึ่งในสมาชิกพรรคของเมเนนเดซ จะได้รับการสรรหาเข้ามาแทนที่ว่าที่นายกเทศมนตรี ซึ่งเพิ่งถูกยิงจนเสียชีวิตลง ทั้งนี้ การเลือกตั้งระดับเทศบาลในครั้งดังกล่าว ถูกจัดขึ้นในช่วงที่เกิดอัตราการก่ออาชญากรรมในเอกวาดอร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยคดีต่างๆ มักเชื่อมโยงกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มค้ายาเสพติด ซึ่งติดอาวุธและใช้ความรุนแรงในประเทศแถบพื้นที่แอนเดียน

เมเนนเดซไม่ใช่นักการเมืองคนเดียวของเอกวาดอร์ ที่ถูกสังหารในระหว่างช่วงการเลือกตั้ง โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน จูลิโอ ซีซาร์ ฟาราชิโอ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองทางชายฝั่งทะเลซาลินาส ก็ถูกยิงเสียชีวิตเช่นกัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเอกวาดอร์ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมฟาราชิโอ ซึ่งเคยข่มขู่ผู้สมัครวัย 45 ปีรายดังกล่าวก่อนหน้านี้ โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังจากเขาได้รับโทษในคดีค้ายาเสพติดมาก่อนหน้านี้

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยรายใด หลังเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงต่อเมเนนเดซ ทั้งนี้ มือปืนผู้ก่อเหตุได้หลบหนีด้วยมอเตอร์ไซค์ไปได้ โดย กิเอร์โม ลาซโซ ประธานาธิบดีฝ่ายอนุรักษนิยมของเอกวาดอร์ ได้ออกมาประณามการฆาตกรรมในครั้งนี้ ท่ามกลางการต่อสู้ทางนโยบายกับจำนวนคดีฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ลาซโซยังได้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเสียงพิจารณาประเด็นดังกล่าวในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 ก.พ.)

หนึ่งในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเทศ คือ การอนุญาตให้ชาวเอกวาดอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ สามารถถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังต่างประเทศได้ หากพวกเขากำลังเผชิญกับการพิจารณาคดีในประเทศอื่น หรือถูกตัดสินลับหลังจำเลย หลังจากที่เรือนจำของเอกวาดอร์หลายแห่งเต็มไปด้วยผู้ต้องขังจากคดีอาชญากรรมในระลอกล่าสุด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บางคนโต้แย้งว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังเรือนที่มีความปลอดภัยสูงสุดในสหรัฐฯ จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และประหยัดงบประมาณกว่าสำหรับระบบยุติธรรมของเอกวาดอร์

โคลอมเบียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเอกวาดอร์ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2540 เพื่อจัดการกับผลกระทบในลักษะเดียวกัน และส่งตัวเจ้าพ่อยาเสพติดชื่อกระฉ่อนหลายคนไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเจ้าหน้าที่โคลอมเบียกล่าวว่า ความโกรธแค้นที่เจ้าพ่อยาเสพติดต่อสู้กับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนชี้ให้เห็นว่า พวกเขาเห็นโทษจำคุกในคุกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์และไม่มีอำนาจเหนือผู้คุมและผู้อำนวยการเรือนจำ นับเป็นการลงโทษที่รุนแรงเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ ให้มีการส่งผู้ร้ายชาวเอกวาดอร์ข้ามแดนกลับล้มเหลวอย่างหวุดหวิด โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51% ลงมติไม่รับข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาล ทัังนี้ ประธานาธิบดีเอกวาดอร์กล่าวว่า เขายอมรับผลการลงมติดังกล่าว โดย “เมื่อผู้คนพูดออกมา เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และยอมรับมัน”


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-64553935?fbclid=IwAR2sMYMmz7LTES9CFa7t_xBz-vvxRKnDUsfREgo6UdZVJrqHPDql7OWn9eQ