ไม่พบผลการค้นหา
คนระนองค้านแลนด์บริดจ์ วอน นายกฯ ใจเย็น เลิกปักธงแล้วฟังเสียงคนพื้นที่ก่อนเดินหน้า แนะตั้งคณะกรรมการ ที่มี 'คนพะโต๊ะ-นักวิชาการ-นักการเมือง' หาทางออกร่วมกัน

วันนี้ (23 ม.ค.) ที่มหาวิทยาชัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง กลุ่มประชาชนค้านโครงการแลนด์บริดจ์ จากพื้นที่ อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ อ.เมือง จ.ระนอง รวมตัวเพื่อรอยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.ระนอง ขอให้รัฐบาลชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ 'ชุมพร-ระนอง' มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาที่มีตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการ นักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

สมโชค จุงจาตุรันต์ แกนนำเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนต้องการมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องนายกรัฐมนตรีเพราะเกรงว่านายกรัฐมนตรีจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกรงว่านายกฯ จะโดนหนูหลอก เพราะรายงานบางส่วนที่เกิดจาก กมธ. หรือ สนข. ไม่ตรงกับความเป็นจริง และมองว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ขาดความชอบธรรมหลายประการ ทั้งการมีส่วนร่วมของชาวบ้านไม่ทั่วถึง ทำให้ชาวบ้านเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในประเด็นต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งทางผู้พัฒนาโครงการไม่ได้ชี้แจงในหลายประเด็น เราจึงจะมีข้อเสนอและข้อกังวลถึงนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะคณะกรรมาธิการที่ลงมาในพื้นที่ไม่ได้ให้เวลาการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างเต็มที่ ดูเร่งรีบสรุปรายงาน จึงทำให้เกิดรายงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง 

สมโชค ได้เสนอให้นายกฯ มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการที่มีประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการอย่างแท้จริง สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับการพัฒนา รวมถึงมีนักวิชาการที่เป็นกลางทางการเมือง มีนักการเมือง รวมถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาคุยกันว่าศักยภาพในพื้นที่เหมาะสมจะทำอะไรกันแน่

สมโชค ยังแสดงความกังวลถึงกฎหมาย SEC ที่เป็นกฎหมายพิเศษ ทำให้นายทุนสามารถนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาได้ จึงไม่มีอะไรการันตีว่าคนในพื้นที่จะมีงานทำจากการมีโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้น รวมถึงการยกเว้นกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อเอื้อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างแน่นอน

“อยากบอกให้นายกฯ ใจเย็นๆ ก่อน รอให้การศึกษาทั้งหมดเสร็จสิ้น แล้วจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงแบบจริงจังและเข้มข้น ไม่ใช่ลงพื้นที่มาเพียงชั่วโมงกว่าแล้วมาตัดสิน ผมยอมรับไม่ได้ แล้วนายกฯ ต้องเลิกปักธงว่าจะต้องทำโครงการนี้ให้ได้ เพราะเมื่อท่านปักธงมาแบบนี้ มันกดดันไปถึงกระบวนการ EIA และ EHIA ผมมองว่ามันไม่ชอบธรรม” สมโชค กล่าว

โดยในช่วงเช้าก่อนนายกรัฐมนตรีจะมาถึง ชาวบ้านได้รวมตัวกันอย่างสงบ พร้อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใช้ผ้ามัดมือ มัดเท้า และปิดปาก เพื่อสะท้อนว่ากระบวนการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ที่ผ่านมา เป็นการมัดมือชกประชาชน ไม่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม มีความพยายามปิดปากผู้ที่คัดค้าน และ ตีตราว่าเป็นกลุ่ม NGO หรือรับเงินมาจากต่างประเทศ จึงยืนยันว่าประชาชนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบตัวจริง มีพื้นที่สวนทุเรียน สวนมังคุด และบ้านเรือนจะได้รับความเสียหาย เป็นสถานที่ก่อสร้างโครงการ จึงอยากให้นายกฯ ได้ทบทวนและรับฟังผู้เดือดร้อนตัวจริงอย่างรอบด้าน