ไม่พบผลการค้นหา
12 ปี คือการอยู่ในตำแหน่งของ 5 ตุลาการศาล รธน. ชุดปัจจุบัน ซึ่งกำลังพ้นวาระหลังวุฒิสภาเห็นชอบ 4 ตุลาการชุดใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่แทน 'วอยซ์ออนไลน์' รวบรวมผลงานตลอด 12 ปี คำวินิจฉัยของศาล รธน. ในรอบหลายปียังถือเป็นการชี้ขาดทิศทางการเมืองของประเทศ

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จากนี้ต่อไปโครงสร้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ตามกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของส.ว.แต่งตั้ง จำนวน 5 คน จาก 9 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายจรัญ ภักดีธนากุล โดยตุลาการทั้ง 5 ราย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 12 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 12 วรรคแปด แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาจำนวน 4 คนจากทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย 1. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

2. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

3. นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)

4. นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าหรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหารตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) โดยได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ได้รับความเห็น 52 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 139 เสียง ไม่ออกเสียง 28 เสียง ซึ่งได้คะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (คือน้อยกว่า 125 เสียง) จึงเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ อีกครั้ง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  06.jpg

(คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2551 โดยเหลือ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังปฏิบัติหน้าที่และใกล้พ้นวาระในขณะนี้)

วอยซ์ออนไลน์ จึงขอรวบรวมผลงานรอบทศวรรษของตุลาการชุดที่กำลังจะนับถอยหลังพ้นวาระ ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

เริ่มต้นปี 2551 มีคำสั่งให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า”

ปลายปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติให้ยุบพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลขณะนั้น ประกอบด้วยยุบพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคชาติไทย และยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมทั้งตัดสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรคเป็นเวลา 5 ปี

สมัคร สุนทรเวช g1420628.jpg

เมื่อถึงช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ตุลาการ 5 คนที่กำลังจะพ้นวาระอยู่ในขณะนี้ ได้ร่วมวินิจฉัยในคดีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยบพรรคประชาธิปัตย์กรณีใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องยื่นคำร้องมาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ปรากฏแก่ตนว่าผู้ถูกร้องฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นเหตุให้ถูกยุบได้ ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องมาล่วงระยะเวลา 15 วันดังกล่าวนี้ จึงไม่ชอบที่จะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องสืบไป และให้ยกคำร้อง

เช่นเดียวกันกับอีกเมื่อปี 2553 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติยกคำร้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคดีรับเงินบริจาค บริษัท พีทีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาท โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ยกคำร้อง เพราะ กกต.ทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ทำความเห็นให้ยุบพรรค

ยิ่งลักษณ์ ประยุทธ์ _10600453.jpg

ต่อเนื่องถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ การพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาและลงมติร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขัดรัฐธรรมนูญ 2550

กระทั่งเข้าสู่ช่วงวิกฤตความขัดแย้งการเมืองไทยก่อนการัฐประหาร 2557 ได้วินิจฉัยให้ การชุมนุมของ กปปส. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ก่อนรัฐประหาร 3 เดือน วินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ

ก่อนรัฐประหาร 15 วัน วินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ้นสถานะความเป็นรัฐมนตรี จากการใช้อำนาจนายกฯโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ตุลาการทั้ง 5 ราย ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระการดำเนินตำแหน่ง 9 ปี ในเดือนพ.ค. 2560 แต่ได้รับการตำรงตำแหน่งต่อไป เนื่องจากคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่24 /2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคล ให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 

ล่วงถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบ 5 ปี ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 เพียง 1 เดือน มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พร้อมติดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลา 10 ปี

ภายหลังการเลือกตั้ง 2562 เกิดข้อครหาเกี่ยวกับสูตรคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อหายไปจากคะแนนที่ควรจะได้จำนวน 10 เก้าอี้ มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัญธรรมนูญตีความ โดยศาลชี้ว่าสูตรคิดคะแนนของ กกต. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อเนื่องด้วยคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ตำแหน่งรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว สามารถดำรงตำแหน่งเป็นายกฯ ได้ต่อไป

เช่นเดียวกับการตรวจสอบของส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ดำเนินการเปิดอภิปรายทั่วไป และเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพล.อ.ประยุทธ์ นำ ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยศาลไม่รับคำร้องดังกล่าว

20 พ.ย. 2562 ตุลาการศาลรัฐธรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อในบริษัทวี - ลัค มีเดีย จำกัด

ธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ 7619568967680_o (1).jpg

คดีถัดจากนั้น ได้วินิจฉัยกรณี ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ปรากฏทั้งภาพนิ่งและคลิปชัดเจนจากการรายงานของสื่อมวลชน ในระหว่างประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ในวาระ 2-3 ผลการวินิจฉัย คือ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่โมฆะ พร้อมสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติวาระ 2-3 ใหม่ให้ถูกต้อง

21 ม.ค. 2563 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครอง โดยยกคำร้องในคดีพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

อนาคตใหม่-ยุบพรรค-กรรมการบริหาร

ล่าสุดผลงานร้อนๆ ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งรวมถึง 5 ตุลาการที่กำลังพ้นวาระได้ทิ้งทวนอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 โดยมีมติ 7 ต่อ 2 เสียงยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 10ปี จากกรณีกู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาท จากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค โดยศาลมองว่าเงินกู้เป็นการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และนับเป็นครั้งแรกที่พรรคฝ่ายค้านถูกยุบก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์เพียง 3 วัน

ส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์อื่นของ ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาในปี 2560 ซึ่งมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 มีดังนี้

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับ 83,090 + 55,000 รวม 138,090 บาท ต่อเดือน (เดิม 75,590 + 50,000 รวม 125,590 บาทต่อเดือน)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 + 50,000 รวม 131,920 บาทต่อเดือน (เดิม 73,240 + 42,500 รวม 115,740 บาทต่อเดือน)

สำหรับรายรับของทั้ง 5 ท่าน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2551 หรือตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 12 ปี ไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น สามารถสรุปโดยประมาณได้ดังนี้ 

นุรักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 0_nurak.jpg

นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 ถึงปัจจุบัน ได้รับเงินเดือนในฐานะตุลาการฯ 8,33,280 บาท ในฐานะประธาน 9,942,480 บาท รวม 18,275760 บาท

ชัช ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 10_chat.jpg

นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยดำรงตำแหน่งประธาน ระหว่าง 28 พ.ค. 51 - 10 ส.ค. 54 ได้รับเงินเดือนในฐานะตุลาการฯ 13,665,600 บาท ในฐานะประธาน 4,898,010 บาท รวม 18,563,610 บาท

บุญส่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ oonsong.jpg

นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับรวม 17,832,960 บาท

อุดมศักดิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ msak.jpg

นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับรวม 17,832,960 บาท

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ _jaran.jpg

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับรวม 17,832,960 บาท

เมื่อรวมค่าตอบแทนตุลาการทั้ง 5 ท่าน ตลอด 12 ปี ที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งอย่างน้อย 90 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง