ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนจะมาเป็นนักทำเล็บชื่อดัง Jenny Bui คือเด็ก 8 ขวบที่ต้องหนีตายออกจากบ้านเกิดในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เป็นที่รู้กันมาสักพักแล้วว่า เบื้องหลังเล็บวิ้งๆ บลิ๊งๆ อลังการของ Cardi B แรปเปอร์หญิงคนดัง เป็นผลงานของเนลสไตลิสต์ผู้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า Jenny Bui หลายๆ คนอาจพอรู้ว่าเธอเป็นชาวกัมพูชา แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคเขมรแดง

วันที่ 17 เมษายน 1975 ที่เขมรแดงบุกยึดพนมเปญได้เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล แต่ในที่สุดเธอหนีออกมาได้ ใช้ชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นคนในแวดวงความสวยความงามระดับแนวหน้า ทรงอิทธิพลต่อเล็บวิ้งๆ ของดีว่าแรปเปอร์ที่มาแรงที่สุดของยุคนี้

การได้รู้ประวัติคร่าวๆ ของ Jenny Bui ทำให้เกิดความรู้สึกสองอย่าง อย่างแรกคือความชื่นชม เก่งจังที่มุ่งมั่นจนพลิกชีวิตจากสาวเอเชียธรรมดาๆ มาเป็นเนลสไตลิสต์ที่คนทั้งนิวยอร์กต้องง้อ อย่างที่สองก็คือ เธอต้องเผชิญอะไรระหว่างอยู่ภายใต้เขมรแดง ... และเราจะได้บทเรียนอะไรบ้างจากสิ่งที่เธอเคยพบพาน


ผู้โชคดีที่เคยสูญเสียทุกอย่าง

"ฉันสูญเสียทุกอย่าง" เป็นคำพูดที่ Jenny Bui เคยเล่าให้สื่อฟังถึงความรู้สึกเมื่อเขมรแดงเข้ามาปกครอง ตอนนั้นเธออายุเพียง 5 ขวบ จากครอบครัวที่มีความสุขตามอัตภาพ คุณพ่อเป็นพ่อครัว คุณแม่ขายเครื่องดื่มข้างทางเลี้ยงดูลูกๆ 8 คน เพียงชั่วเวลาไม่นานเขมรแดงที่มาพร้อมแนวคิดนารวม ขับเคลื่อนรัฐ หรือ "อังการ์" ด้วยชนชั้นกรรมาชีพ และนโยบายเพิ่มผลผลิตข้าวอย่างบ้าคลั่ง (เพื่อส่งไปจีนแลกกับทุนซื้ออาวุธ) ก็นำความลำบากยากแค้นแสนสาหัสมาให้ ยุคนี้การถือครองทรัพย์สินเป็นสิ่งต้องห้าม ทุกอย่างของทุกคนถูกยึด และร้ายที่สุดคือการกินอยู่ที่เกินคำว่าแร้นแค้น Jenny Bui บอกว่าเธอต้องแบ่งข้าว 1 ทัพพีกินกับคนอื่นๆ ร่วม 30 คน 

"เรากินอาหารกลางวันและอาหารค่ำที่โรงอาหาร แต่มันไม่ใช่อาหารค่ำหรอก จริงๆ มันเป็นแค่ผักและน้ำ เวลาที่เราหิวมากๆ เราจะไปตัดต้นมะละกอ และกินเนื้อด้านในต้นมะละกอ" 

เรื่องเล่าของ Jenny Bui แค่คิดยังแสบท้องตาม แต่เธอและครอบครัวถือว่าโชคดีมาก ที่ไม่ได้เป็นนักโทษที่ตวลสเลง หรือ S-21 จุดกักกันนักโทษที่โหดร้ายมากที่สุด ว่ากันว่ากลุ่มเป้าหมายที่เขมรแดงต้องการกำจัด เพราะเห็นว่าเป็นภัย มีตั้งแต่ครู หมอ ทนายความ คนพูดภาษาอังกฤษได้ พระ ไปจนถึงคนสวมแว่นตาดูมีการศึกษา และคนมือนุ่มนิ่ม แสดงว่าไม่เคยจับจอบเสียมทำงานหนัก ฯลฯ คนเหล่านี้มีทั้งที่ถูกส่งไปทำเกษตรหนักๆ 12 ชม.นอนสต็อปต่อวัน และถูกคุมขังก่อนส่งตัวไปที่ "ทุ่งสังหาร" รถบรรทุกจะนำนักโทษมาที่นี่ครั้งละ 40-50 คน และเคยสูงสุดถึง 300 คน ทั้งหมดถูกขังในโรงนอนมืดๆ ชนิดหลับตายังรู้สึกสว่างกว่า จากนั้นจะถูกฆ่าด้วยอาวุธที่เกินจินตนาการ เช่น จอบ เสียม มีดพร้า เพลารถ ฆ้อน ไปจนถึงใบของต้นตาลที่มีฟันเป็นเลื่อยตามธรรมชาติ ทั้งหมดก็เพื่อประหยัดกระสุน ...

ภาพประกอบคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง

เพียง 4 ปีที่เขมรแดงปกครอง มีผู้เสียชีวิตร่วม 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศกัมพูชา จำนวนมากเป็นเพียงเด็กเล็กๆ ผู้นำเขมรแดงมีแนวคิดว่า ประชาชนเหล่านี้คือ "กาฝาก" เก็บไว้ก็ไร้ฆ่าตายไปก็ไม่เสียหาย...(ภาพกระโหลกจากสถูปในทุ่งสังหาร) 


การหลบหนีที่แลกด้วยชีวิต

แน่นอนว่าครอบครัวที่มีผู้นำเป็นกุ๊กทำอาหารของ Jenny Bui ไม่ใช่เป้าหมายตรงๆ ของการฆ่าสังหาร แต่สักวันหนึ่งก็ไม่แน่ และการอยู่เฉยๆ หมายถึงการรอคอยให้ความหิวโหย ความข้นแค้น พรากชีวิตไปทีละช้าๆ 

จากปากคำของเธอ เธอบอกว่าเธอและครอบครัว���ัดสินใจหนีข้ามชายแดนมาพึ่งพิงค่ายผู้ลี้ภัยในไทย แต่ไม่นานเธอก็ถูกผลักดันออกมาให้เผชิญกับกับระเบิด ความหิว และโรคร้าย ถึงตรงนี้ครอบครัวต้องแยกกันหนี พ่อไปทางแม่ไปทาง โดย Jenny Bui และพี่น้องจำนวนหนึ่งติดตามไปกับแม่อย่างไม่รู้จุดหมาย ตอนนั้น Jenny Bui 8 ขวบแล้ว และยังจำความครั้งนั้นได้ไม่ลืม

"ฉันไม่มีรองเท้า ต้องเดินตามไปทางที่มีแต่หินแดงๆ ร้อนจนเท้าพอง"

การเดินทางยาวนาน ความเหน็ดเหนื่อย และขาดแคลนสารอาหาร ทำให้โรคที่ดูไม่อันตรายเลยอย่าง "อีสุกอีใส" กลายเป็นภัยใหญ่หลวง และในที่สุดน้องชายคนหนึ่งของ Jenny Bui ก็เสียชีวิตลงจากโรคนี้ 

Jenny Bui อาจโชคดีที่เธอไม่เสียชีวิตเสียเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องดูน้องชายตายไปต่อหน้า จนตรอก หาทางช่วยไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างความสูญเสียเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเขมรแดง โดยมีการประเมินกันว่าความลำบากยากแค้นที่ผู้นำเขมรแดงหยิบยื่นให้ประชาชน ทำให้คนเขมรชาติเดียวกันตายไปถึง 3 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด (ในตอนนั้น) 8 ล้านคน 

ภาพประกอบคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง

บรรยากาศของตวลสเลงยังคงเต็มไปด้วยความหดหู่


รอดพ้นและชีวิตใหม่

ปลายอุโมงค์ของใครหลายคนในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่มีแสงใดๆ มีแต่หลุมที่เพื่อนนักโทษขุดรอไว้ให้ทอดกายลงไปอย่างยอมรับในชะตากรรม แต่ปลายอุโมงค์ของครอบครัว Jenny Bui มีแสงสว่างน้อยๆ เกิดขึ้น เมื่อฝั่งคุณพ่อที่แยกทางกันส่งข่าวมาว่า สามารถอพยพไปบอสตันแล้ว จากข่าวดีนี้ทำให้คุณแม่มีความหวัง ฮึดหนีไปจนถึงเวียดนาม ถึงตอนนี้เขมรแดงหมดอำนาจลงแล้ว แต่การเดินทางของ Jenny Bui ยังไม่หยุด ในวัย 14 ปีเธออพยพตามพี่ชายไปอยู่แคนาดา จากนั้นจึงเข้ามาอาศัยในสหรัฐอเมริกา มีชีวิตใหม่พร้อมกับบาดแผลลึกจากยุคเขมรแดงในจิตใจ

หากไม่มีจุดเปลี่ยนเขมรแดงบุกยึดประเทศ วันที่ 17 เมษายน เมื่อ 44 ปีก่อน บางทีตอนนี้ Jenny Bui อาจจะอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขในกัมพูชา ไม่ได้เป็นราชินีนักปั้นเล็บแห่งนิวยอร์คเหมือนทุกวันนี้ แต่นี่ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ใครอยากพบเจอ และผู้เคยผ่านจุดทรมานนั้นมาแล้วก็ล้วนภาวนา ขออย่าให้การฆ่าอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้หวนกลับมาอีก 

ประกอบคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง

ภาพนักโทษถูกบรรทุกขึ้นรถมาส่งที่ทุ่งสังหาร ใครยังไม่โดนฆ่าจะถูกขังรวมกันในอาคารไม้มืดๆ รอวันสำเร็จโทษ (ภาพจากบอร์ดให้ความรู้ในทุ่งสังหาร กัมพูชา) 

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog