ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต วิชยสุทธิ์" ยันต้องรื้อกฎหมายที่ดินยุค สนช.ทิ้งทั้งฉบับ เหตุมีปัญหาการบังคับใช้ เอื้อประโยชน์คนรวยสร้างภาระให้ประชาชน มิหนำซ้ำทำรัฐและ อปท. เสียรายได้จากภาษีมหาศาล

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการปฏิรูป ทบทวนและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ใน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร แถลงผลการประชุม อนุ กมธ.ฯ เบื้องต้นเกี่ยวกับพิจารณา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2562 ที่ออกเป็นกฎหมายในสมัย สนช. 

โดยมีหลายหน่วยงานเข้าให้ข้อมูล อนุ กมธ. ทั้งกรมส่งเสริมการปกครอง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรมธนารักษ์, ผู้แทนนายกเมืองพัทยาและนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง, ตัวแทนผู้ว่า กทม.และผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในยุค สนช.ยังไม่ได้มาชี้แจงต่ออนุ กมธ.ในวันนี้ด้วย

นายชวลิต กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ร้องเรียนเข้ามาถึงผลจากกฎหมายฉบับนี้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาในทางปฏิบัติที่รายได้ลดลงมาก โดยการประชุมวันนี้พบข้อบกพร่องในประเด็นสำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ

1.)​ การบริหารจัดการกฎหมายภาษีที่ดินดังกล่าวขาดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการตื่นตระหนกจากประชาชน เพราะการขาดความรอบรู้อย่างทั่วถึงว่าตนเองอยู่ภายใต้กฎหมายนี้แล้วและไม่รู้ชัดเจนว่าต้องมีภาระต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากน้อยแค่ไหน

2.) กฎหมายลําดับรองซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำมาใช้นั้น ในทางปฏิบัติยังไม่เสร็จตามกำหนดเวลามา ซึ่งล่วงเลยมาแล้ว 5 เดือนเศษ ยิ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนผู้เสียภาษี

3.) หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลแล้วปรากฏว่า ในสิ่งที่คนรวยหรือผู้ที่มีฐานะจะต้องเสียภาษีกลับได้รับการเสียภาษีน้อยลง อย่างเทศบาลนครแหลมฉบัง ให้ข้อมูลว่าภาษีหรือรายได้ที่ท้องถิ่นเคยจัดเก็บได้จากท่าเรือแหลมฉบังปีละประมาณ 60 ล้านบาท แต่จากการออกกฎหมายฉบับนี้มา ทำให้ท้องถิ่นเหลือรายได้เพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นคำนิยามของกฎหมายฉบับนี้

ขณะที่ กทม.ซึ่งกำลังสำรวจตัวเลขอยู่ แต่แน่ชัดว่าจะลดลงไปอย่างมหาศาล ซึ่งดูจากตัวอย่างเดียว คือ ที่ดินของในส่วนของสภากาชาดไทย ซึ่งจะต้องได้รับการยกเว้นภาษี แต่มีบริษัทห้างร้านและห้างสรรพสินค้าได้ก่อสร้างอาคาร ก็พลอยได้รับการยกเว้นภาษีไปด้วย ทำให้ กทม.ไม่ได้รับภาษีในส่วนนี้นับ 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ส่วนท้องถิ่นเคยเก็บภาษีได้จากการเช่าอาคารเป็นตารางเมตร แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็ทำให้ขาดรายได้จากภาษีส่วนนี้มหาศาล ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับคนรวยเท่านั้น

ในส่วนของคนจน ซึ่งส่วนใหญ่ อนุกมธ.ฯ ได้รับข้อมูลทางโทรศัพท์ที่ต่างสะท้อนว่า ได้รับความเดือดร้อนมากทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดา แต่พอรัฐบาลตัดถนนผ่านที่ดินมีราคาสูงขึ้น ก็ต้องเสียภาษีที่ดิน ซึ่งคนจนไม่มีทางที่จะมีเงินสดไปเสียภาษีได้ ต่อไปอาจจะต้องขายที่ดินให้กับคนรวยเพื่อเอาเงินไปเสียภาษี หรือที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งอาจจะเป็นที่ตาบอดไม่มีทางเข้าตลอดจนท้องไร่ท้องนาที่ได้รับมรดกมา เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเสียภาษีก็ไม่มีเงินที่จะต้องไปลงทุน ทั้งเพื่อการเกษตรหรือการค้าขายได้เลย

ชวลิต-กมธ.ปฏิรูปที่ดินชวลิต-กมธ.ปฏิรูปที่ดิน

ชี้ภาษีผลักภาระคนจนเอื้อคนรวย

นายชวลิต ยังยกตัวอย่างข้าราชการบำนาญ ที่ได้เว้นรายเดือนพอจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีภาระภาษีส่วนที่เข้ามาก็ถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส ไม่เหมือนกับคนรวย ที่มีที่ดินมหาศาลมา เพียงแค่จ้างรถไถมาแปลงสภาพที่ดินทำสวนเกษตร ก็ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนการประเมินว่ากฎหมายฉบับนี้จะต้องปรับปรุงแก้ไขได้หรือไม่นั้นยังต้องมีการประชุมในอนุกรมตอบเพราะยังไม่เสร็จสิ้น แต่โดยส่วนตัวที่ดูในเบื้องต้น อาจจะต้องถึงขั้นรื้อหรือเสนอยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ไปปรับปรุงใหม่ทั้งฉบับ เพราะคิดว่าถ้าจะแก้ไขคงไม่ไหว เนื่องจากมีผลกระทบในวงกว้างจริงๆ ขณะเดียวกัน ทำให้รัฐบาลเสียรายได้จากกฎหมายฉบับนี้ไปจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากภาษีส่วนนี้ รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาชดเชยในส่วนที่เสียไป ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลอาจจะไม่รู้ข้อมูลนี้เช่นเดียวกัน

โดยในสัปดาห์ถัดไปจะเชิญกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังข้อมูลในเรื่องนี้ ในฐานะผู้เสนอให้ออกกฎหมายในยุคคสชก่อนจะนำเรื่องเข้ากทมสามัญหรือชุดใหญ่เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป