ไม่พบผลการค้นหา
แม้ศบค.จะคลายล็อกในบางจุดเปิดให้กิจการกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้แล้ว แต่ประชาชนยังเดือดร้อนหนักจากเศรษฐกิจที่ไม่กลับมา ขณะเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท สิ้นสุดโครงการแล้ว อนาคตได้แต่หวังว่าจะมี 'คนเก่งจริง' มาแก้ปัญหาบริหารบ้านเมือง

นโยบายเยียวยาประชาชนผ่านโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ในภาพรวมใกล้สิ้นสุดแล้วในสิ้นเดือนก.ค.นี้ เช่นเดียวกับหลายมาตรการล็อกดาวน์ที่คลายลง เปิดช่องให้เศรษฐกิจกลับมาเดินได้อีกครั้งหลังหยุดชะงักนานนับเดือน ทว่าผลกระทบที่สะสมมาจนถึงปัจจุบันกลับไม่ได้ลดน้อยลงไป 

'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่สำรวจเสียงสะท้อนของประชาชนในวันที่เงินเยียวยารวม 15,000 บาท หมดไปแล้วแต่สภาพเศรษฐกิจกลับยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับเดิม


วินมอเตอร์ไซค์: ไม่มีออม-ไม่มีกิน

'สุรพงษ์ สิทธิภาค' วินมอเตอร์ไซค์ อธิบายถึงรายได้ปัจจุบันของเขาที่ลดลงมาเหลือเพียง 200 บาท/วัน ว่าทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตไม่น้อย ยิ่งเมื่อเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งต้องแบ่งไว้เป็นค่าเช่าบ้าน อีกส่วนต้องกันเอาไว้เป็นค่าอาหารของตนเองกับภรรยา ส่วนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ที่ได้ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ ก็เก็บเอาไว้กินไว้ใช้ในช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถออกมาขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ 

ขอเสียงหน่อย

  • สุรพงษ์ สิทธิภาค อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ย้อนกลับไปช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด สุรพงษ์ เล่าว่าเขามีรายได้ราว 700-800 บาท/วัน จากการวิ่งรถรับ-ส่งผู้โดยสารเป็นหลัก แต่รายได้เช่นนั้น กลับเป็นตัวเลขที่ทำได้ยากในปัจจุบัน เนื่องจากรายได้ของคนทั่วไปลดลง วันหยุดสุดสัปดาห์จึงมีผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย ประกอบกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงคนจำนวนหนึ่งก็มีรถยนต์ส่วนตัวใช้เป็นของตนเอง 

สิ่งที่สุรพงษ์ทำในปัจจุบัน จึงเป็นการออกมาวิ่งรถตั้งแต่ช่วง 04.00 น.เพื่อรอรับส่งแม่ค้าในตลาดก่อนจะมารอผู้โดยสารที่ผ่านไปผ่านมาในช่วงสายๆ และรอรับแม่ค้าอีกครั้งในช่วงตลาดวาย แต่รายได้ก็มีเข้ามาพอแค่กับค่าเช่าบ้านและการกินอยู่อย่างกระเบียดกระเสียน 

"ลำบากมากครับ ต้องกินน้อยๆ กินอะไรถูกๆ กินประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ถ้าฟุ่มเฟือย ไม่รอด ค่ากับข้าวมื้อนึง ประหยัดซื้อไปทำกินเอง มื้อละ 30 บาท 3 มื้อ ก็ 100 บาท ค่าเช่าบ้านอีกพันกว่าบาท นี่ค่าเช่าบ้านไม้ถูกๆ นะครับ ถ้าบ้านที่ 2,000-3,000 บาทนะ ตาย"

ผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างมีอายุรายนี้เสริมว่า ด้วยอายุตนเองที่มากขึ้น การจะไปประกอบอาชีพอื่นอย่างคนงานก่อสร้างที่รายได้ดีกว่านี้ ร่างกายก็สู้ไม่ไหว จะเปลี่ยนไปทำงานสายอื่นความรู้ก็ไม่เอื้อ จึงไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากออกมาขับวินทุกวัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็พอให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้แบบวันต่อวัน ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินออม และหากเจ็บป่วยก็อาศัยใช้สิทธิบัตรทอง (บัตร 30 บาท) ซึ่งเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐ 

สุรพงษ์ปิดท้ายกับเราว่า เขาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนจนเป็นจำนวนมากและรับรู้ว่าผู้คนอีกมากได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน จึงได้แต่เพียงหวังว่าอยากได้คนมีความสามารถมาช่วยประชาชน


"คนที่มีความสามารถจริงๆ มาช่วยกันหน่อย คนไม่มีความสามารถขึ้นมามันไปไม่รอด" สุรพงษ์ กล่าว

ชีวิตแม่ค้ากับเงินเก็บที่ร่อยหรอ

'พรเพ็ญ คงคิด' แม่ค้าในตลาดสดเล่าย้อนกลับไปถึงการใช้จ่ายเม็ดเงินเยียวยาที่ตนและสมาชิกในครอบครัวได้รับว่าส่วนใหญ่หมดไปกับการกินการใช้รายวันและหนักไปที่การดูแลบุตรหลานในครอบครัว แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สามารถกลับมาขายสินค้าได้ตามเดิมแล้ว ก็ยังต้องเจอปัญหาใหม่เรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค เมื่อนำสองปัจจัยข้างต้นมารวมกัน พรเพ็ญชี้ว่าเธอจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องไปดึงเงินเก็บในอดีตมาใช้ ยิ่งเมื่อบุตรหลานทยอยเปิดภาคเรียน รายจ่ายก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จนเงินเก็บไม่เพียงพอและต้องไปสู่การหยิบยืมแทน 

ขอเสียงหน่อย
  • พรเพ็ญ คงคิด อาชีพแม่ค้า

"เงินสำรองที่เราเคยมี ที่เราขายของไม่ได้ เราก็เอาเงินตรงนั้นมาใช้ มันก็ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แล้วพอกลับมาเราก็ไม่มีเงินสำรองแล้ว"

เธอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าจากมุมมองของเธอคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิม เพราะช่วงที่หยุดเศรษฐกิจไป ประชาชนก็ขาดรายได้และไม่มีกำลังซื้อเช่นเดียวกัน

โดยสิ่งที่เธอจะสามารถเอาตัวรอดได้ในตอนนี้ก็คือการที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนออกมาช่วยกันทำงานให้หมด เพราะลำพังเพียงตัวเธอคนเดียวที่เป็นหัวหน้าครอบครัวก็คงแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว

สถานการณ์ชีวิตในฐานะแม่ค้าของพรเพ็ญ ก็ไม่ได้ต่างกับ 'วารี ตั้งสีวงษ์' มากนัก ซึ่งนอกจากจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการหาเลี้ยงครอบครัวยังต้องมีภาระคอยดูแลลูกจ้างในร้านเขียงหมูของตนเองอีกหลายคน จนเธอยอมรับว่าเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ได้มาแต่ละครั้ง มักจะหมดไปตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเสมอ 

เขียงหมูของวารีที่เปิดขายมาตลอดแม้แต่ช่วงล็อกดาวน์ ปัจจุบันยอดขายตกลงไปมาก โดยวันไหนที่ขายดีก็จะทำได้เพียงแค่ยอดเสมอตัว ส่วนวันปกติทั่วไปก็คือการขายของที่ขาดทุน

ขอเสียงหน่อย
  • วารี ตั้งสีวงษ์ เจ้าของเขียงหมู

ปัญหาสำคัญที่วารีกังวลคือเธอต้องเริ่มกลับมาผ่อนจ่ายภาระเงินกู้ต่างๆ ที่มีทั้งค่าบ้านและค่ารถที่หยุดส่งค่างวดมาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่รู้อนาคตต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับสินเชื่อดังกล่าวและจะสามารถผ่อนผันการหยุดจ่ายดอกเบี้ยรวมเงินต้นต่อไปได้อีกไหม 

"ถามว่าอยากให้ส่งบ้านส่งรถไหม ยังไม่อยากส่ง ยังอยากให้ยืดไปอีกสัก 3 เดือน เผื่อข้างหน้าอะไรจะดีขึ้น แต่ถ้าดีขึ้น ทางเราจัดสรรได้แน่นอน แต่อันนี้ ของมันขายไม่ได้ก็ไม่รู้จะจัดยังไง มันไม่มีเงินมาให้จัด"



อู่ซ่อมรถที่ไม่มีคนช่วยซ่อมชีวิตเจ้าของ 
ขอเสียงหน่อย
  • นพดล กิจกล้า เจ้าของอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์

'นพดล กิจกล้า' คือเจ้าของอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์รายเล็กที่ยื่นเรื่องลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ระบบปฏิเสธ และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้ในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่อู่ของเขาก็ต้องปิดตัวลงเช่นเดียวกัน 

เจ้าของอู่บอกว่าที่ผ่านมาตัวเขาเองก็พยายามใช้เงินเก่าที่มีอยู่ หรือเงินที่ควรจะเป็นเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจออกมาใช้ก่อน ซึ่งยอมรับว่ามีไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น จึงทำได้เพียงประคับประคองสถานการณ์จนกลับมาเปิดอู่ได้ในปัจจุบัน 

เมื่อถามถึงว่าเขาอยากกลับไปลงทะเบียนขอรับสิทธิอีกรอบไหม หรือหวังจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรจากภาครัฐรึเปล่า นพดล ตอบกลับมาสั้นๆ ว่า ตนเองไม่ได้หวังอะไรอีกต่อไปแล้ว

 

"ไม่อยากหวัง ไม่อยากหวังอะไรจากรัฐบาล" นพดล กล่าว

มาตรการเยียวยาผ่านเงินให้เปล่าจำนวน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน เป็นนโยบายช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการดำเนินการทั่วไปได้จบลงไปแล้ว แม้จะมีการอนุมัติวงเงินตามจ่ายผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือกันอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจประจำปีนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะติดลบถึงร้อยละ 8.1 ซ้ำร้ายตัวเลขผู้ว่างงานจากสภาอุตสากหรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในครึ่งแรกของปี 2563 ก็ออกมาถึง 3,397,979 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง ฉายภาพเด่นชัดถึงความตกต่ำย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยและชีวิตประชาชนคนไทย ซึ่งในวันนี้ยังมองไม่เห็นแม้แต่แสงร่ำไรของการแก้ปัญหา