ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยออกหนังสือเวียนสื่อสารความเข้าใจวิธีการจัดแบ่งชั้นลูกหนี้แบบใหม่ตามเกณฑ์ IFRS 9 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 2563 เปิดทางสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินทุนฟื้นฟูธุรกิจรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวนได้

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทั้งจากเรื่องสงครามการค้าโลก และภาวะภัยธรรมชาติในประเทศที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ธปท. จึงได้สื่อสารไปยังสถาบันการเงิน (แบงก์) ผู้ปล่อยสินเชื่อ ให้ช่วยลูกหนี้แก้ไขปัญหาหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบและยังมีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

พร้อมกับให้ความมั่นใจแก่สถาบันการเงินในเรื่องการจัดชั้นหนี้รองมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 หรือ IFRS9 ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ ด้วยความหวังว่า หากสถาบันการเงินเข้าใจกติกานี้ และสามารถช่วยลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่อาจประสบปัญหาทางธุรกิจในระยะสั้นให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี 

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สินเชิงโครงสร้าง ก็ต้องแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การใช้เครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข 

"ปีหน้า สถาบันการเงินต้องเริ่มดูหนี้ในพอร์ตโฟลิโอ (บัญชี) ให้มากขึ้น ทั้งหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ เพราะเศรษฐกิจมีความผันผวน ส่วนที่ผ่านมา แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การออกมาสื่อสารกับสถาบันการเงินในเรื่องเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ครั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยให้สถาบันการเงินไม่ต้องกังวลใจ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีเงินทุนทำธุรกิจต่อไปได้" นายจาตุรนต์ กล่าว

นางสาวยุพิน เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายธุรกิจและบัญชีสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (IFRS 9) ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้คือการแบ่งชั้นลูกหนี้แบบใหม่ เป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ 

  • Stage 1 กลุ่มที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิต
  • Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 
  • Stage 3 กลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ธปท. 

ดังนั้น สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL: ไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหา (Troubled debt restructuring: TDR) และไม่ต้องรายงานเครดิตบูโร โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใน stage 2 หากลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ให้ปรับขึ้นเป็น stage 1 ได้

ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็น NPL มี 2 กรณี ได้แก่ หนึ่ง หาก สง. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถเลื่อนชั้นลูกหนี้จาก stage 3 เป็น stage 2 ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ตามเงื่อนไขใหม่ได้ และหลังจากนั้น หากสถาบันการเงินพิจารณาว่าลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินสามารถพิจารณาลูกหนี้ขึ้นเป็น stage 1 โดยไม่ต้องรอครบ 9 เดือนตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด

สอง หากสถาบันการเงินเห็นว่าการให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (working capital) แก่ลูกหนี้ NPL เพิ่มเติมจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ให้สถาบันการเงินพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้นั้นได้ 

"ในกรณีที่เป็นลูกหนี้ NPLs หากสามารถชำระหนี้คืนได้อย่างต่อเนื่องครบ 3 เดือน และมีแนวโน้มว่าเดือนที่ 4 และเดือนต่อๆ ไปจะสามารถคืนหนี้ได้ สถาบันการเงินก็สามารถยกชั้นให้ลูกหนี้รายนี้เป็นลูกหนี้ปกติได้ก่อน 90 วัน โดยต้องดูจากเงื่อนไขที่ว่า ผู้ประกอบการหรือลูกหนี้รายนั้นๆ มีกระแสเงินสด มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง สถาบันการเงินต้องทำงานใกล้ชิดและมีข้อมูลลูกหนี้ที่ชัดเจนที่เป็นข้อมูลพิสูจน์ได้ว่า ลูกหนี้รายนั้นๆ มีสถานะทางการเงินดีขึ้น และพร้อมจะมีข้อมูลชี้แจงฝ่ายตรวจสอบได้" นางสาวยุพิน กล่าว

พร้อมกับย้ำว่า สิ่งสำคัญคือสถาบันการเงินต้องดูความเสี่ยง ดูศักยภาพลูกหนี้ ดูกระแสเงินสด ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะมีการกำหนดเกณฑ์ที่นำมาใช้ของแต่ละแห่งต่างกัน ตามศักยภาพของสถาบันการเงิน แต่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. 

ทั้งนี้ การซักซ้อมความเข้าใจในแนวปฏิบัติข้างต้นจะมีผลดีต่อ SMEs คือ ช่วยให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ช่วยรองรับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ช่วยให้ลูกหนี้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจอย่างทันท่วงที