ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศเตือนภัยระดับชาติ หลังโรคไข้เลือดออกระบาดอย่างหนัก มีรายงานว่าพบมีผู้ป่วยไข้เลือดออกกว่า 100,000 คนและมีผู้เสียชีวิตเกือบ 500 คนในช่วงครึ่งปีแรก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของฟิลิปปินส์ประกาศเตือนภัยระดับชาติ หลังพบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกสูงกว่า 106,000 คนทั่วประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 85 และมีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก 456 รายแล้วนับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39

ตามข้อมูลระบุว่า ไข้เลือดออกระบาดหนักใน 4 เขตฟิลิปปินส์ รวมมีประชากรมากกว่า 20 ล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรฟิลิปปินส์ทั้งหมด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขกำลังเฝ้าระวังสถานการณ์ในอีก 9 เขต แต่ไข้เลือดออกยังคงแพร่ระบาดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นมีการแพร่ระบาดทั่วทั้งประเทศ

ฟรานซิสโก ดูเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์ระบุว่า ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นทุกๆ 3-4 ปี และตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์ หลังมีการระบาดของไข้เลือดออกอย่างหนักในปี 2559 

ดูเกกล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์เตือนภัยไข้เลือดออกระบาด รัฐบาลต้องการสร้างความตระหนักในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก อีกทั้งยังแนะนำวิธีการป้องกันไข้เลือดออกที่ได้ประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่การหาและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใช้ยากันยุง และพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เริ่มมีอาการของโรคไข้เลือดออก เพราะผู้ป่วยมักไปพบแพทย์เมื่อป่วยหนักแล้ว เช่น การตกเลือด ซึ่งอาจสายเกินไป

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไข้เลือดออกทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเหมือนเป็นหวัด เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ มีไข้และมีผื่นขึ้นตามตัว ทุกปี มีคนติดเชื้อไข้เลือดออกหลายล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้มีประมาณ 500,000 คนที่อาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล และมีประมาณ 12,500 รายที่เสียชีวิต

แม้ไข้เลือดออกจะพบได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้นอย่างในฟิลิปปินส์ อินเดีย และบราซิล ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ยุงสามารถอาศัยในพื้นที่ที่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรได้มากขึ้น เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย หรือบริเวณชายฝั่งของจีนและญี่ปุ่น โรคที่ยุงเป็นพาหะอย่างไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไข้เหลืองและซิกา แพร่ไปในพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น

 

ที่มา : CNN, The Straits Times