ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบ สนง.ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ นีด้า ปล่อยกู้แบบผ่อนปรนวงเงิน 1,458 ล้านบาท แก่เมียนมาทำโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเมืองย่างกุ้ง คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี ผูกเงื่อนไขใช้สินค้าและบริการไทยร้อยละ 50 รวมถึงใช้ผู้รับเหมา-วิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ค. 2563 ว่า ครม.เห็นชอบให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon ) โดยให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) หรือ NEDA ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ทั้งจำนวน วงเงินกว่า 1,458 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งของเมียนมา

โดยใช้แหล่งเงินจาก 2 ส่วน คือ

  • 1) เงินงบประมาณ วงเงิน 729 ล้านบาท โดยขอจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี รวม 3 ปี ตั้งแต่งบประมาณปี 2564 - 2566
  • 2) เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ วงเงิน 729 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 5 ปี ด้วยวิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับการจัดสรรเงินงบประมาณแก่ สพพ. ระยะเวลา 3 ปี (2564-2566) วงเงินรวม 729 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 145 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 183 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 183 ล้านบาท 

ในกรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ.ตามจำนวนที่ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เพื่อชำระคืนแหล่งเงินกู้ไปก่อน และเมื่อ สพพ.สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

ส่วนเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ประกอบด้วย

  • 1) คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • 2) อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี)
  • 3)ใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
  • 4)ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย
  • 5)กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญากู้เงินเป็นกฎหมายไทย

โดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาสำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้งดังกล่าว จะส่งผลดีต่อทั้งเมียนมาและไทย สำหรับเมียนมา โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายไฟฟ้า สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมียนมา อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

สำหรับไทย การให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการผลิต การค้า และบริการของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศไทย อีกทั้งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวไทยให้เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น ตามเงื่อนไขที่กำหนดให้เมียนมาใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมทั้งกำหนดให้ใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรควบคุมงานจากประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการ 

"ปัจจุบันเมียนมาเป็นประเทศที่มีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน โดยมีมูลค่าการลงทุน ณ สิ้นปี 2562 จำนวน 11,341.918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.66 ของมูลค่ารวมของการลงทุนทางตรงในเมียนมา" นางสาวรัชดา กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาผ่าน สพพ. มาแล้ว 1 ครั้ง โดย ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2562 อนุมัติเงินกู้แก่เมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาในลักษณะเงินให้เปล่า ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2558 อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่เมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (กรมทางหลวง)