ไม่พบผลการค้นหา
“ถ้าผู้ชายเป็นโรคสำหรับบุรุษ ไส้ด้วน ไส้ลามแลให้แตกออก เป็นน้ำเหลืองไหลเซาะอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน ให้เจ็บปวด ดังจะขาดใจตายฯ”

ข่าวคราวการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของ “ซิฟิลิส” ในไทย และการพบสถิติสุดอึ้งว่ามีจำนวนผู้ติด “กามโรค” แบบพุ่งปรี๊ด โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นวัยเรียน เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงสาธารณสุข ที่ควรจับตามองมากๆ เพราะเอาจริงๆ เรื่องนี้ใกล้ตัว และแสดงถึงความรู้ด้านเพศสัมพันธ์ปลอดภัยที่ดูเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หรืออาจไม่เข้าหูข้างใดสักข้าง เพราะถ้าอ่านข่าวดีๆ จะเห็นว่าตัวเลขกามโรคพุ่ง สอดคล้องกันกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัย ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย บอกว่า “ลดลง” ว่ากันซื่อๆ คือชาวไทยเรานิยม “ยสตน.” นั่นเอง

ศักยภาพของ “กามโรค” ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย แต่ยังทรงพลังพอที่จะทำให้ถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา ในบันทึกประวัติศาสตร์บ้านเราจึงมีเรื่องเล่าถึงโรคนี้อยู่เหมือนกัน สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านสาธารณสุข


ไม่เว้นแม้เจ้านาย

โรคระบาดในสยามที่เห็นมานานและส่งผลกระทบมากๆ ก็เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ฯลฯ โรคหลังนี้แม้แต่ชนชั้นผู้นำระดับกษัตริย์ก็เป็นกัน เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ยิ่งพระองค์หลังนี้ถึงกับสิ้นพระชนม์เลยทีเดียว 

ถามว่าตั้งแต่โบราณ “กามโรค” มีไหม ก็คงมีแต่ไม่ใช่ “โรคระบาด” แบบห่าลงที่สร้างความเสียหายด้านทรัพยากรมนุษย์ทีละมากๆ โดยในช่วงปลายๆ กรุงศรีอยุธยานี่เองถึงเริ่มเห็นบันทึกเกี่ยวกับ “กามโรค” ที่ชัดเจนแต่ทว่าขัดแย้งกันอยู่ นั่นคือ บันทึกของชาวฝรั่งเศส “ฟรังซัว อังรี ตุรแปง” ที่บอกว่ากามโรคยังไม่เป็นที่รู้จักกันในสยาม แต่พระราชพงศาวดารฝ่ายไทยบอกว่าคนระดับวังหน้า “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” ประชวรด้วย “โรคสำหรับบุรุษ” จนไม่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถึง 3 ปี ซึ่งคำว่า “โรคสำหรับบุรุษ” นี่แหละที่หมายถึง “กามโรค”


60023786_578207839335459_8924606217595125760_n.jpg


หลากชื่อแต่ล้วนคือ “กามโรค” 

ในตำราหมอยาแบบไทยๆ มีคำเรียกกามโรคหลายคำ เช่น โรคบุรุษ โรคสำหรับบุรุษ โรคสตรี อุปทุม หรืออุปทม หรืออุปทังสโรค ซึ่งมีอาการแตกต่างกันไป และอีกคำที่น่าสนใจคือ “สัญจรโรค” (โสเภณีบางครั้งก็เรียกว่า “หญิงสัญจรโรค” ด้วย) โดย “พระยาอนุมานราชธน” เจ้าของนามปากกา “เสถียรโกเศศ” เขียนไว้ในหนังสือ “ฟื้นความหลัง” ว่าที่เรียกว่าสัญจรโรค เพราะกามโรคเป็นโรคที่สัญจรไปติดมา และให้เหตุผลว่า “โรคนี้ไม่เคยมีในเมืองไทย ด้วยเป็นโรคที่ชาวต่างด้าวนำมาถ่ายทอดให้เป็นเวลา เห็นจะไม่สู้ช้านัก อย่างมากก็ไม่เกิน 300 ปี นับแต่ฝรั่งได้รับเชื้อโรคมาจากทวีปอเมริกา” 

แม้ฟันธงไม่ได้ว่าเราอิมพอร์ตกามโรคมาจากฝรั่ง 100% เลยหรือไม่ แต่ในตำรายาไทยบอกว่าหากใครเป็นโรคบุรุษนั้นมัก “ไส้ด้วน” (ถ้าผู้หญิงเรียก “ไส้ลาม”) หมายถึงมีอาการเน่าที่องคชาต มีหนองจากภายนอกถึงภายใน ถ้านึกไม่ออกว่าน่าสะพรึงขนาดไหน ให้จินตนาการตามจารึกการแพทย์ของวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ที่ว่า 

“ถ้าผู้ชายเป็นโรคสำหรับบุรุษ ไส้ด้วน ไส้ลามแลให้แตกออก เป็นน้ำเหลืองไหลเซาะอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน ให้เจ็บปวด ดังจะขาดใจตายฯ”


เหตุแห่งกามโรค

ราวสมัย ร.4 นี่เองที่เริ่มเห็นบันทึกชัดๆ ที่อ้างว่ากามโรคนั้นมีการ “ระบาด” ในสยาม โดย “ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์” สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิก ประจำประเทศสยาม บันทึกไว้ว่า “ดูเหมือนกามโรคจะระบาด มากในหมู่คนมั่งมีก็เป็น การลงโทษอันเหมาะสมแล้วสำหรับคนที่มีเมียมากและหมกมุ่นในกามคุณ” 

จากข้อความของท่านสังฆนายกมีสิ่งน่าสนใจ 2 เรื่อง คือการระบาดที่ว่าอาจอยู่ในย่านบางกอก และเมืองใหญ่ๆ ที่ท่านเคยไป เพราะถ้าเทียบกับเอกสารวชิรญาณวิเศษเรื่อง “ว่าด้วยคนชาติกะเหรี่ยง แขวงเมืองไทรโยค” ที่ “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์” ทรงเรียบเรียงขึ้นจากความทรงจำครั้งตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ประพาสแม่น้ำน้อย กาญจนบุรี ท่านใช้คำว่าคนย่านนั้น “โรคเรื้อน มะเร็งไม่มีใครเป็น โรคสำหรับบุรุษก็ไม่มี” แสดงว่ามีความเป็นไปได้ว่าในยุค ร.4-5 พื้นที่ห่างไกลกามโรคไม่ชุกชุมเท่าเมืองใหญ่ 

ส่วนเรื่องน่าสนใจที่สอง ก็คือท่านสังฆนายกให้เหตุผลถึงสาเหตุของกามโรคว่ามาจากความหมกมุ่นในกามคุณ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิด แต่อาจไม่หวือหวาและแจกแจงลึกเท่าเหตุผลในตำราแพทย์แผนไทย โดย “คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา” บอกว่าเหตุแห่งอุปทม ไส้ด้วน มีทั้งเกิดจากชายเสพเมถุนกับสตรีที่ยังไม่มีระดู ข่มขืน กระทำชำเรา, เสพเมถุนกับหญิงแพศยาเป็นกาลกิณีสำส่อน, เกิดจากชายเสพเมถุนรุนแรง กระทบชอกช้ำภายใน และเกิดจากชายเสพเมถุนกับสตรี ซึ่งกำลังมีประจำเดือน ฯลฯ

การฝ่าไฟแดงดูเป็นเรื่องต้องห้าม แม้แต่ในกลอน “สวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ ยังเขียนสอนชายไว้ว่า “แม้นสตรีมีระดูอย่าอยู่ด้วย ถ้าไม่ม้วยก็มักเสียจักษุ มักเกิดมีฝีพองเป็นหนองพุ ควรทำนุบำรุงองค์ให้จงดี” 

ขนาดตาบ่งตาบอดก็อาจดูเยอะไป แต่การเป็นฝีหนองกามโรคก็อาจไม่ใช่คำเตือนที่เกินจริง เพราะสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังเคยแนะนำว่า ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย ขณะที่รายงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าปกติการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ฝ่ายหญิงมีโอกาสติดเชื้อ HIV จากฝ่ายชายได้ 10 ใน 10,000 คน แต่เมื่อมีเลือดและสารคัดหลั่งออกมาอย่างมาก อัตราการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย  


60475169_309588786609337_7947914775990632448_n.jpg


ต่อสู้กับการระบาด

“บิดา มารดา ร้องว่าบุตรไปอยู่โรงเรียน (นันทอุทยาน) ครูไม่เอาใจใส่นักเรียน มักทำความชั่วต่างๆ เป็นต้นว่าเป็นโรคสำหรับบุรุษ”

นี่คือรายงานเจ้าหมื่นวัยวรนารถ ในหนังสือการประชุมปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นว่าการระบาดของกามโรคแทรกซึมเข้าไปถึงระดับโรงเรียน ชุกชุมเต็มบ้านเต็มเมือง เป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127

“...ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล ...หญิงบางคนป่วยเป็นโรคซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษาโรคร้ายนั้น อาจจะติดเนื่องกันไปจนถึงเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใดสำหรับจะป้องกันทุกข์โทษภัยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้สืบไป...”

ขณะเดียวกันยังทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นายแพทย์ ที เฮเวิร์ด เฮย์ (T.Heyward Hay) หรือหมอเฮย์ จัดตั้งสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยต่างชาติย่านบางรักไปจนถึงสี่พระยา มีชื่อเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลบางรัก” กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงมีการตั้ง “แผนกบำบัดกามโรค (สุขศาลาบางรัก)” ซึ่งกลายมาเป็นหน่วยงาน “กลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” กองโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ในปัจจุบัน 

จากโรคร้ายในพงศาวดารที่ดูไม่แพร่หลายมาก สู่โรคระบาดจนต้องออก พรบ.มาสกัดกั้น อาจกล่าวได้ว่า “กามโรค” เป็นโรคที่เดินทางขนานคู่มากับกาลเวลา ที่น่าสนใจจากนี้คือการต่อสู้ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ของผู้ป่วยกามโรคในไทย ปี 2540-2549 มีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่กลับมาพุ่งทะยานแตะสถิติใหม่ในช่วงปีหลังมานี้

น่าคิดเหลือเกินว่าสังคมจะแก้ปัญหากันอย่างไร

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog