ไม่พบผลการค้นหา
'นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์' มองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย ซ่อนเงื่อนไข กติกาและวิธีการสืบทอดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ชี้ร่างรัฐธรรมนูญโดย คสช. พัฒนามาเป็นรัฐบาล คสช. อย่างสมบูรณ์แบบในระบอบประชาธิปไตย

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ผ่านเพจสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย ซ่อนเงื่อนไขและวิธีการสืบทอดอำนาจ ออกแบบและกำหนดกติกาต่างๆ ไว้อย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะที่ซ่อนไว้ในคำถามพ่วง ที่กำหนดให้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง โดย คสช. มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ รวมถึงการใช้สูตรคิดคำนวณ ส.ส. โดยไม่เคารพเสียงของประชาชน และไม่เสมอภาค เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคเล็ก

กระบวนการต่างๆ หากนำไปสู่นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนในกระบวนการบริหารจัดการ การสืบทอดอำนาจ เริ่มตั้งแต่มีการยึดอำนาจจากประชาชน ตลอดจนนำมาสู่การต่อท่ออำนาจ โดยแปลงร่างมาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาที่มาจากประชาชน 

นายนรินท์พงศ์ กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบนี้ ไม่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย พอประมาณได้ว่า "ร่างรัฐธรรมนูญโดย คสช. พัฒนามาเป็นรัฐบาล คสช. อย่างสมบูรณ์แบบในระบอบประชาธิปไตย"


เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ดังนี้

ผมและคนไทยอีกจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยและออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่เป็นประชาธิปไตย ซ่อนเงื่อนไขและวิธีการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากมีการออกแบบและกำหนดกติกาต่างๆ ไว้อย่างไม่เป็นธรรมในหลายๆ เรื่อง อันนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะที่ซ่อนไว้ในคำถามพ่วง ที่กำหนดให้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ โดยคนไทยไม่มีส่วนร่วมกำหนดที่มาของ ส.ว. 

ซึ่งหากย้อนกลับไปจะเห็นได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีนักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนจำนวนมากที่ออกมาต่อต้านและรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการและรูปแบบที่ต่างกัน ผลคือ บุคคลเหล่านั้นจะถูกแจ้งความดำเนินคดีจาก คสช. ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับผู้มีความเห็นต่าง และหลังจากวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. ที่เกิดความล่าช้า และบกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพ อันนำมาสู่ความสงสัยของคนไทยทั้งประเทศ เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ชุดนี้ ว่า จัดการเลือกตั้งได้บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมหรือไม่ 

ความเก่ายังไม่จบความใหม่ก็เข้ามาแทรก กล่าวคือ เกิดข้อสงสัยในการที่ กกต. คิดคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบใหม่ โดยใช้สูตรคิดคำนวณ ส.ส. อันพึงไม่มีให้เป็น ส.ส. อันพึงมี โดยไม่เคารพเสียงของประชาชน และไม่เสมอภาค เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคเล็กเพิ่มมาจำนวน 11 พรรค ซึ่งมีคะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน ทั้งที่จำนวนคะแนนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะมี ส.ส. อันพึงมีได้ และก็ชัดเจนแล้วว่า บรรดา ส.ส. เอื้ออาทรทั้ง 11 พรรค ที่ กกต. คิดคำนวณไว้ให้ ได้ร่วมออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

และผลจากคำถามพ่วงเรื่อง ส.ว. 250 คน ที่ซ่อนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้สัมฤทธิ์และออกดอกผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือการที่ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน โดยใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเคยร่วมงานและรับใช้ให้ คสช. มาด้วยเกือบทั้งหมด 

โดยเฉพาะกว่าร้อยละ 40 เป็นอดีตนายทหาร ตำรวจ ผบ.เหล่าทัพ และเป็นอดีตรัฐมนตรี สนช. สปช. สปท. และบุคคลใกล้ชิด ทั้งๆที่ คสช. สามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้ทั้งประเทศ ที่ไม่มีความใกล้ชิดและความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ คสช. ซึ่งจะเห็นว่าบรรดา ส.ว. เหล่านี้ มิได้เป็นบุคคลที่มาจากหลากหลายอาชีพ ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และไม่สามารถจะเป็นการรับรองได้ว่า ส.ว.ชุดนี้ จะไม่ทำหน้าที่ภายใต้ความผูกมัด หรือถูกครอบงำ หรือปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือไม่เพียงใด อีกทั้ง ส.ว. บางคนก็ถูกตั้งคำถามในเรื่องคุณสมบัติและความชอบธรรมในการเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. 

ขั้นตอนสุดท้าย หากกระบวนการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ และเป็นไปตามแผน ได้บรรลุล่วง และนายกรัฐมนตรีคนต่อไปชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนในกระบวนการบริหารจัดการ การสืบทอดอำนาจ เริ่มตั้งแต่มีการยึดอำนาจจากประชาชน ตลอดจนนำมาสู่การต่อท่ออำนาจ โดยแปลงร่างมาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาที่มาจากประชาชน 

ปรากฏการณ์แบบนี้ ไม่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย พอประมาณได้ว่า "ร่างรัฐธรรมนูญโดย คสช. พัฒนามาเป็นรัฐบาล คสช. อย่างสมบูรณ์แบบในระบอบประชาธิปไตย"


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :