ไม่พบผลการค้นหา
ค่ำวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พรรรคประชาธิปัตย์ จัดงานเลี้ยงแกนนำพรรค และ ส.ส. มีคนการเมืองตบเท้าเข้าร่วมพอประมาณ พาดหัวข่าวในหลายสำนัก พาดอย่างพร้อมเพรียงตาม press release ที่ถูกส่งมาว่า "ชื่นมื่น" ทว่าภาพที่ปรากฏก็ดี ความเป็นไปของพรรคในเวลานี้ก็ดี เป็นการยากที่จะใช้คำว่า "ชื่นมื่น" เป็นคำอธิบาย

กระแสการเขย่า "คณะรัฐมนตรี" ที่กินเวลาเกือบสองเดือน ส่งผลให้มีการเขย่าต่อเนื่องไปยัง "พรรคพลังประชารัฐ-พรรคลุงกำนัน" มีการปรับตำแหน่งสำคัญเช่น "หัวหน้าพรรค-รองหัวหน้าพรรค-เลขาพรรค-กรรมการบริหารพรรค" ซึ่งล้วนมีนัยยะอยู่ที่การปรับเก้าอี้ ครม. 

ดังที่ฟันธงกันแล้วว่า ภาพจับมือสามัคคีชุมนุมที่ "มูลนิธิป่ารอยต่อ" ของพลพรรคคนรักลุงป้อม ไม่เพียงเป็นโฉมหน้าของ "กรรมการบริหารพรรค พปชร. ชุดใหม่" แต่ยังเป็นโฉมหน้าของ "ครม.ชุดใหม่" ด้วย!! 

สวนกระแสป่ารอยต่อ คือสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ที่มาพร้อมกับกระแสข่าวว่า ส.ส. ไม่พอใจการนำของ "หัวหน้าจุรินทร์-เครือข่าย" ในการนำพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มิพักต้องพูดถึง สถานการณ์ "เลือดไหล" เอาคนคุณภาพออกไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับสถานการณ์ที่ "ไร้ผลงานให้ประชาชนได้ประจักษ์" จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ เดินเข้าสภาวะ "ฟ้าหม่นคนหมอง" เป็นอย่างยิ่ง 

จุรินทร์ เฉลิมชัย ประชาธิปัตย์ 2_๑๙๐๖๑๐_0001.jpg
ฟ้าหม่นคนหมอง

การ "นำ" ในความหมายนี้ ไม่เพียง "นำพรรค" แต่ยังหมายถึง "การนำ-การบริหารงาน" ในตำแหน่ง "รัฐมนตรี" ซึ่งพบว่า "รัฐมนตรี" ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ มีผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตัวหัวหน้าพรรคในตำแหน่ง "รองนายกฯ-รัฐมนตรีพาณิชย์" ซึ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ได้รับฉายาใหม่เป็น "รัฐมนตรีหมดสภาพ"

หมดสภาพ อันเป็นผลจากการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหา การกักตุนสินค้า-การโก่งราคา พร้อมกระแสข่าว การคอร์รัปชั่นโดยคนสนิทของหัวหน้าพรรค

 แม้พรรคประชาธิปัตย์ จะตั้งกรรมการตรวจสอบ "มัลลิกา" ทว่าผลการสอบสวน ก็ไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์อันรุมเร้าอยู่ได้ เหตุก็เพราะกรรมการทั้งหมดเป็นคนในพรรคเอง เข้าทำนอง "คนกันเอง ชงกันเอง"

ตลกร้ายคือเมื่อใช้มาตรฐานทางจริยธรรมที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยประกาศไว้ในหลายคราว ก็ทำให้พบว่า หนนี้มาตรฐานตกต่ำเป็นอย่างยิ่ง 

สถานการณ์ "ฟ้าหม่นคนหมอง" ยังวิกฤติที่สุด เมื่อ "จุรินทร์" แก้ต่างประเด็น สต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น แล้วกลับคำทีหลังว่า ไม่ใช่สต๊อกหน้ากากอนามัย แต่เป็นสต๊อกวัตถุดิบในการผลิต

ย้อนความกลับไป เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ "จุรินทร์" ได้ประกาศต่อสาธารณะชน อย่างมั่นอกมั่นใจว่า "สำหรับในประเทศ จากการประเมินเบื้องต้นยังเชื่อมั่นว่ากำลังการผลิตและการผลิตรวมในประเทศอย่างเพียงพอสำหรับการที่จะใช้สนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศให้เพียงพออยู่ และสต๊อกปัจจุบันที่มีอยู่นั้นประมาณ 200 ล้านชิ้น ก็สามารถที่จะใช้ในการสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ 4-5 เดือน"

ให้หลัง 2 เดือน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงคนละเรื่องกับที่รัฐมนตรีได้เคยแถลงไว้ โดยแก้ต่างว่า ที่มีการพูดกันว่า มีสต๊อกหน้ากากอนามัยถึง 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนของการสื่อสาร เพราะข้อเท็จจริงคือ ที่ว่ามีในสต๊อกนั้น "เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น"

หลังการแถลงของปลัดกระทรวงพาณิชย์ "จุรินทร์" ก็รับลูกชี้แจงต่อทันทีว่าหมายถึงมีวัตถุดิบใช้ผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ได้แปลว่ามีหน้ากากอนามัยกองอยู่ 200 ล้านชิ้นแล้วหายไป และเมื่อผลิตแล้วก็จะออกไปเข้าสู่ระบบตามปกติ

เป็นการรับลูกแบบเนียนๆ แล้วเดินหน้าต่อไป ราวกับไม่มีสิ่งผิดปกติใดใดเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่ต้องมีคำอธิบาย-มีเอกสารชี้แจงอย่างเป็นระบบคลี่คลายความกังขาของประชาชน

ข้อครหา-คำวิพากษ์-คำวิจารณ์ ต่างถาโถมหา "จุรินทร์" หนักที่สุดคือกระแสในโลกออนไลน์ ที่ทั้งโพสต์ทั้งทวิตกันว่า

"ทั้งของแพง-ของกักตุน-ของหายาก-ของขาดตลาด" ล้วนเป็นผลงานในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์นั่งกุมบังเหียนกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น

ประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ ชวน จุรินทร์ 16-3A4F-4DF4-9815-9E8986CA34DA.jpeg

ฟ้าหม่นคนแยก 

นับแต่ "จุรินทร์" ขึ้นครองอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์เผชิญกับวิกฤติ "เลือดสีฟ้าไหล" ภาษาข่าวไปไกลถึงขนาดเรียก "สูญเสียคนดี-มีฝีมือ" 

เปิดฉากด้วยการลาออกของ "หมอวรงค์-พีระพันธ์ุ" โดยทั้งคู่ยื่นใบลาออกจากพรรคในเวลาไล่เลี่ยกัน และตัดสินใจช่วยผู้มีอำนาจเดินเกมส์ทั้งในสภา-นอกสภา 

19 พ.ย. 2562 "วรงค์ เดชกิจวิกรม" ยื่นใบลาออกจากพรรค ให้หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยของลุงกำนัน โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพ 

ล่าสุด "หมอวรงค์" ยังตัดสินใจลาออกจากพรรคลุงกำนัน เดินสู่เส้นทางสายการเคลื่อนไหวนอกสภา เพื่อปราบพลพรรคอดีตอนาคตใหม่-ก้าวหน้า-ก้าวไกล ให้เต็มที่ หลัง "ลุงกำนัน" เคาะแล้วให้ "เอนก" นำทัพร่วม ครม. ใหม่ แทนที่ "หม่อมเต่า"  

9 ธันวาคม 2562 "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" อีกหนึ่งแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ-สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์  

ให้หลังการลาออกไม่กี่วัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอขอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ให้ "พีระพันธุ์" ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" คุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

15 มกราคม 2563 "กรณ์ จาติกวณิช" ยื่นใบลาออกจากพรรคเดินสู่เส้นทาง "พรรคกล้า" พร้อมข่าวสะพัดถึงโอกาสนั่งเก้าอี้สำคัญด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล 

อดีตแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ต่างมีที่ยืนในบทบาท-ทิศทางต่างๆ ที่สะท้อนการได้รับการยอมรับจากผู้มีอำนาจ ขณะที่วงล้อมของ "จุรินทร์" แคบเข้า ทั้ง "ในพรรค-ใน ครม." 


ฟ้าหม่นคนไร้ศรัทธา 

อาการของ "รังสิมา รอดรัศมี" ส.ส. สมุทรสงคราม ที่ยกขบวนเพื่อน ส.ส. กลุ่มย่อย ไปเยือน "พีระพันธุ์" ถึงห้องทำงานที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เป็นความพยายามในการส่งสัญญาณทางการเมืองที่ถูกคิดมาอย่างดีแล้ว 

ตั้งใจส่งสัญญาณไปยัง "จุรินทร์" ถึงทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งแนวโน้ม "พรรคใหม่-กลุ่มการเมืองใหม่" ไปจนถึง "นายใหม่"

ตั้งใจส่งสัญญาณไปยัง "จุรินทร์" ให้เร่งปฏิรูปพรรค-จัดตำแหน่งใหม่ ทั้งใน "กรรมการบริหารพรรค-ครม." 

อาการของ ส.ส.ใต้ คนหนึ่ง ที่ลุกขึ้นพูดในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ก็ดี ว่า "พรรคประชาธิปัตย์ได้อะไร จากการร่วมรัฐบาลมา 1 ปี มีการประเมินตัวตนของพรรคหรือไม่ ว่าพรรคอยู่ตรงไหนของสถานการณ์การเมืองทั้งที่สามารถทำได้ โดยการสำรวจโพล และการประเมินผลงานจากนโยบายของพรรค ว่าที่ประกาศทำอะไรไว้บ้าง และสำเร็จเพียงใด จะทำให้ทราบว่าพรรคอยู่ตรงไหน เพื่อที่พรรคจะประเมินว่า 1.หากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ใครจะอยู่รอดผ่านการเลือกตั้งมาบ้าง 2.การเลือกตั้งท้องถิ่นที่พรรคยังไม่กล้าประกาศความชัดเจนว่าจะส่งคนลงเลือกตั้งท้องถิ่น หรือแม้แต่การประเมินผลงานของรัฐมนตรี"

อาการเหล่านี้คืออาการ "ฟ้าหม่นคนหมอง" ที่ยังไม่มีทีท่าเป็น "ฟ้ากระจ่าง" ในเร็ววันนี้

คนการเมืองประเมินสู่กันฟังว่า พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมรื้อกรรมการบริหารพรรคในห้วงนี้ แต่คอนเฟิร์มแนวโน้มรื้อ ครม. ในโควต้าของพรรค ทั้งชื่อ "จุติ-กัลยา-ถาวร-สาธิต" จึงอาจถูกเขย่า

ทั้งตำแหน่ง "รัฐมนตรีช่วย" ในกระทรวงสำคัญ จึงอาจถูกเอาคืนจาก "ผู้มีอำนาจ" เพื่อจัดสรรให้ "พรรคภูมิใจไทย" พรรคอันดับสองในเวลานี้ 

เป็นชื่อ-เป็นตำแหน่ง อันสุ่มเสียงยิ่งในการเขย่า ครม. รอบนี้ อันเป็นผลทั้งจาก ไร้ผลงานเด่นชัด-จำต้องปันเก้าอี้ ส่งสมบัติผลัดกันชมให้ถ้วนทั่ว

รวมความได้ว่า อาการ "ฟ้าหม่นคนหมอง" เป็นอาการหนักสั่งสม ตั้งแต่จุดยืนทางการเมืองเรรวน, ไม่มีฝีมือในกระทรวงที่รับผิดชอบ, บริหารผลประโยชน์ในพรรคไม่ถ้วนทั่ว, 'หัว' แตกแยกทาง ทั้ง "พีระพันธ์ุ-วรงค์-กรณ์" 

เพลง "ศรัทธา" ที่ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" ผู้ใหญ่คนสำคัญของพรรค ร้องในค่ำคืนงานเลี้ยงเมื่อวานนี้นั้น จึงตั้งคำถามดังๆ ไปยังแกนนำพรรค และบรรดา ส.ส. ว่า "ไหวไหมบอกมา" 

ไหวไหมทั้งการนำของจุรินทร์ ? ไหวไหมที่จะมุ่งสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชนยิ่งกว่านี้ ? ไหวไหมที่จะกอบกู้พรรคให้กลับมาอยู่ในแถว 1 หรือแถว 2 ไม่ใช่พรรคแถว 5 อย่างทุกวันนี้ ?

วยาส
24Article
0Video
63Blog