ไม่พบผลการค้นหา
คณะอัยการตรวจคดี 'บอส อยู่วิทยา' ยืนยัน ไม่สั่งฟ้องเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด แค่งดการสอบสวน หากประชาชนมีหลักฐานเรื่องความเร็วแจ้งมาที่อัยการได้ ย้ำไม่มีเรื่องนี้ในสำนวนตำรวจตั้งแต่ต้น 'ปรเมศวร์' ระบุ ใครบอกคดีถึงที่สุดให้กลับไปอ่านกฎหมายใหม่

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ คณะทำงานของอัยการที่ตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีวรยุทธ หรือ 'บอส อยู่วิทยา' ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต แถลงผลการตรวจสอบในนามของสำนักงานอัยการสูงสุด

โดยปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี คณะทำงาน, อิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เลขานุการคณะทำงาน, ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา คณะทำงาน และประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน ร่วมกันชี้แจงต่อสื่อมวลชน

ประยุทธ กล่าวว่า ระหว่างที่ 'บอส อยู่วิทยา' ยื่นขอความเป็นธรรมหลายครั้งนั้น ทางอัยการได้ยืนยันคำสั่งฟ้องตลอดมา จนนำสู่การออกหมายจับ และคณะทำงานชุดนี้ของอัยการ เห็นว่า การที่ทางอัยการไม่สั่งฟ้องคดีนั้น เป็นไปตามกฎหมาย ขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ทุกประการ 

พร้อมอธิบายหลักกฎหมายว่า การสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เพื่อเสนอไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีความเห็นแย้งกลับมานั้น ตามกฎหมายต้องยุติการสืบสวนคดี แต่คดีความต่างๆ ยังไม่ถึงที่สุด เพราะตามกฎหมายอาญา สามารถฟ้องคดีอีกครั้งได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีพยานหลักฐานใหม่และพยานนั้นเป็นพยานสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การนำสืบให้ศาลลงโทษผู้นั้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องความเร็วของรถผู้ต้องหา ที่ไม่อยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวนหรือตำรวจตั้งแต่ต้น และการเสพโคเคนหรือยาเสพติด ที่ยังไม่ได้แจ้งคดีก็จะแจ้งดำเนินคดีควบคู่กันไปได้

ชาญชัย กล่าวว่า ในสำนวนคดีไม่ปรากฏความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแม้ไม่ได้ยืนยันว่า ผู้ต้องหา 'เมาแล้วขับ' แต่ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาอยู่ในอาการเมาขณะเกิดเหตุ ส่วนเรื่องยาเสพติดและเรื่องเมาแล้วขับ มองว่าเป็นปัญหาเชิงระบบที่ทำให้กระบวนการสอบสวนนั้นไม่สมบูรณ์ ทั้งเวลาเจาะเลือดผู้ต้องหาห่างจากเวลาเกิดเหตุหลายชั่วโมง เมื่อตรวจเลือดใน 'ช่วงสาย' พบระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 69% ย้อนไปเวลา 05.00น. ตามสูตรคำนวน ที่แอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงทุกๆ 15% ต่อ 1 ชั่วโมง ก็จะพบว่ามีแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ต้องหา 389% โดยทางหลักวิชาผู้ที่มีความเมาระดับนี้ จะไม่สามารถขับรถได้

ชาญชัย ระบุด้วยว่า ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทำให้เราเห็นโอกาสในการสะสางคดี ในประเด็นที่หากพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ร่วมกันในการสอบสวนเรื่องนี้อย่างทันท่วงที ยืนยันว่า "ถ้าเจาะเลือดทันที คดีจะเปลี่ยนไป" 

ส่วนการขอความเป็นธรรมไม่สามารถที่จะควบคุมการร้องขอความเป็นธรรมให้มันยุติหรือมีกรอบเวลาในการดำเนินการได้ ด้วยเหตุผลเดียวคือ 'ความเป็นธรรม' ดังนั้น เรื่องนี้ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุด ได้บทเรียนว่า อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้มีการร้องขอความเป็นธรรมได้เพียงครั้งเดียวและให้ผู้ต้องหามาพบกับพนักงานอัยการด้วย

เรื่ิองความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กรณีเห็นต่างกัน ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ต้องหาว่าจะถ่วงดุลกันอย่างไร ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้

ขณะที่ปรเมศวร์ ระบุว่า เกิดความสับสนในข้อกฎหมายเยอะมากเช่นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องของอัยการมีคนพูดว่าคดีถึงที่สุด จึงขอให้กลับไปดูกฎหมายกันใหม่ เพราะคำสั่งไม่ฟ้อง หมายถึง งดการสอบสวน จนกว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ ไม่ได้บอกว่าคดีนี้เสร็จเด็ดขาด ซึ่งคดีจะเสร็จเด็ดขาดก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดกับคดีหมดอายุความเท่านั้น

โดยเห็นว่า 'ความเร็วมีปัญหา' แต่มีพยานหลักฐานใหม่ทั้งอดีตรองผู้ว่าฯ และนายตำรวจ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในสำนวนการสอบสวน และพนักงานอัยการไม่สามารถเอาเรื่องนอกสำนวนมาสั่งคดีได้ เพราะจะเป็นการสั่งคดีตามอำเภอใจ 

ปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ชนร่าง 'ดาบตำรวจ' กระเด็นไปไกลเป็นร้อยเมตร เพียงแต่รถจักรยานยนต์ที่ขับขี่ไปเกี่ยวกับรถผู้ต้องหา และร่างดาบตำรวจติดอยู่ที่ฝากระโปรง จากนั้นผู้ต้องหาเบรก ทำให้ร่างดาบตำรวจหล่นลง ซึ่งชัดเจนว่า ร่างดาบตำรวจไม่ได้เละ หากใช้ความเร็วสูงร่างผู้ตายน่าจะแหลกเละ ส่วนกรณีไม่พบว่ามีรอยเบรกบนพื้นถนนนั้น เป็นเพราะรถยนต์ของ 'บอส อยู่วิทยา' ใช้ระบบเบรก ABS หรือระบบป้องกันการเบรกจนล้อล็อกตาย

ส่วนอิทธิพร กล่าวว่า หากสื่อมวลชนหรือประชาชนมีข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ขอให้แจ้งมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินคดีต่อไป พร้อมยืนยันว่า สำนักงานอัยการสูงสุดจะทำความจริงให้ปรากฏ