ไม่พบผลการค้นหา
WHO ระบุ มีผู้เสียชีวิตเพราะงูกัดมากกว่า 80,000 รายในแต่ละปีทั่วโลก มากกว่าผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบล่า ต้องเร่งพัฒนาเซรุ่มแก้พิษงูเพิ่ม-พัฒนาระบบสาธารณสุข ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากงูกัดให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่มาตรการควบคุมและลดปริมาณผู้เสียชีวิตจากงูกัด หลังผลสำรวจบ่งชี้ว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากงูกัดทั่วโลกประมาณ 81,000-138,000 ราย และผู้พิการอีกประมาณ 400,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 200 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นประชากรในแอฟริกาและเอเชีย

'โคฟี อันนัน' อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตหรือพิการอันเนื่องมาจากถูกงูกัดว่าเป็นภัยเงียบสำหรับคนทั่วโลก เพราะเมื่อเทียบกับ 'เชื้อไวรัสอีโบล่า' ที่องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลหลายประเทศต่างเฝ้าระวังการแพร่ระบาด พบว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 11,000 รายทั่วโลกต่อปีเท่านั้น แต่สถิติผู้ถูกงูกัดเสียชีวิตทั่วโลกสูงกว่านั้นมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและรับมือการถูกงูกัดที่ชัดเจนกว่านี้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้ยกตัวอย่างกรณี จ.ส.ต. ภิญโญ พุกภิญโญ หน่วยกู้ภัยดับเพลิงชาวไทย ผู้อบรมวิธีรับมือกับงู เคยถูกงูพิษกัดที่มือ และสามารถระบุได้ว่าเป็นงูเห่า รวมถึงไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ภายใน 15 นาทีหลังจากถูกกัด ทำให้เขารอดพ้นจากอันตรายถึงชีวิต แต่ประชากรอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา ไม่ได้มีความรู้เรื่องงูจนสามารถรับมือกับการถูกงูพิษกัดได้เช่นเดียวกับ จ.ส.ต.ภิญโญ ทำให้การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเมื่อถูกงูกัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ เว็บไซต์ DW สื่อของเยอรมนีรายงานด้วยว่า ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ถูกงูกัดรอดพ้นอันตรายได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ คือ ภาวะขาดแคลนเซรุ่มแก้พิษงู และสถานพยาบาลอยู่ห่างไกลจากชุมชน เช่น อินเดีย พบสถิติผู้ถูกงูกัดเสียชีวิตหลายหมื่นรายต่อปี เพราะผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท ไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้โดยง่าย อีกทั้งค่าเซรุ่มและค่ารักษาพยาบาลกรณีที่ถูกงูพิษกัดก็มีราคาแพงเกินกว่าครอบครัวที่มีฐานะยากจนจะจ่ายได้ไหว

เมื่อประชาชนในชนบทถูกงูกัดและตระหนักดีว่าไม่อาจเดินทางไปรักษาอาการได้ทันเวลา หรือไม่อาจสู้ราคาค่ารักษาพยาบาลได้ จึงเลือกที่จะรักษาพยาบาลด้วยวิธีท้องถิ่น เช่น ใช้สมุนไพรหรือภูมิปัญญาอื่นๆ ที่สืบทอดกันมาในชุมชน แต่หลายกรณีกลับทำให้อาการบาดเจ็บจากงูกัดย่ำแย่กว่าเดิม และในรายที่พิษงูไม่สาหัส แต่ใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการอักเสบและนำไปสู่ภาวะติดเชื้อ อาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้เช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ WHO จึงได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกตระหนักถึงการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยเงียบที่เกิดจากงูกัด ทั้งยังจะต้องเร่งผลิตและพัฒนาเซรุ่มเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากงูกัดได้อย่างทั่วถึง และจะต้องจัดหาบริการด้านสาธารณสุขให้แก่คนในชุมชนห่างไกลด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: