ไม่พบผลการค้นหา
รายงานฉบับใหม่ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่เป็นอิสระ เปิดเผยว่า การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย ได้ช่วยให้โลกอยู่ในเส้นทางที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ผลการศึกษาของ IEA ที่ตีพิมพ์เมื่อวันอังคาร (26 ก.ย.) ระบุว่า รัฐบาลและบุคคลต่างๆ รีบติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และฟาร์มกังหันลม ซึ่งจะช่วยให้นำไปสู่การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสงครามยูเครนที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา

ผลการศึกษาของ IEA ดังกล่าวสอดคล้องกับการวิจัยของ Ember ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านพลังงานในกรุงลอนดอน ที่มีการค้นพบว่าการใช้พลังงานทดแทน จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มีเพิ่มพุ่งสูงขึ้นกว่า 5% ในภูมิภาคยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็น 22% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

รายงานยังระบุด้วยว่า โลกมีอัตราการเติบโตอย่างเป็นประวัติการณ์ ในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ ซึ่ง "สอดคล้องกับแนวทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลก ภายในช่วงกลางศตวรรษ" นอกจากนี้ กำลังการผลิตใหม่สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังสอดคล้องกับเป้าหมายปี 2593 อีกด้วย

IEA ยังระบุอีกว่ายอดการขายรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีการวางเป้าหมายการขายรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 2 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในปี 2573

ในรายงาน Net Zero Roadmap ฉบับเดิมของ IEA ที่ตีพิมพ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2573 เป็นผลมาจากเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่ปล่อยออกมาสู่ท้องตลาด ทั้งนี้ IEA กล่าวว่าส่วนแบ่งดังกล่าวลดลงเหลือ 35% เนื่องจากนวัตกรรมมีความแข็งแกร่ง 

“การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดในรายงานปี 2564 คือ การปรับลดระดับการดักจับคาร์บอน ไฮโดรเจน และพลังงานชีวภาพ และการยกระดับที่ได้มาจากพลังงานที่หมุนเวียน มีประสิทธิภาพ และมีการใช้พลังงานไฟฟ้า” เดฟ โจนส์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกระดับโลกของ Ember และผู้ตรวจสอบรายงานกล่าว

80% ของเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593 จะประสบผลสำเร็จได้ หากมีการบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานภายในปี 2573 ได้แก่ การติดตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน ที่จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่จะต้องเพิ่มขึ้น 2 เท่าในแต่ละปี การปล่อยก๊าซมีเทนในภาคพลังงานจะต้องลดลง 75% และยอดการขายรถยนต์ไฟฟ้าและปั๊มความร้อนจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่า ถือเป็นการดำเนินการครั้งใหญ่ที่สุดในทศวรรษนี้” โจนส์กล่าว “ไฟฟ้าคือน้ำมันชนิดใหม่”

ทั้งนี้ IEA กล่าวว่า โลกมีการตั้งเป้าหมายการลงทุนในพลังงานสะอาดในปีนี้ที่ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 65.7 ล้านล้านบาท) “สิ่งนี้จะต้องไต่ขึ้นไปเป็นประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 168.25 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในต้นทศวรรษ 2030 เพื่อให้สอดคล้องกับเส้นทางของเรา” 

นอกจากนี้ IEA ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดังกล่าวจะต้องอาศัยการนำโดยรัฐบาล อีกทั้งจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 25% ภายในปี 2573 และ 80% ในปี 2593 ตลอดจนการขจัดการลงทุนใหม่ทั้งหมดในการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล การขนส่ง และการกลั่น


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/features/2023/9/26/ukraine-war-sped-the-world-on-a-path-to-net-zero-emissions-report?fbclid=IwAR3MUYQKQcwsF_mU4cNg3I_uHkuc4P_pMGZBQ-zkG1KKZkNAjqARk-OFLlM