ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยอัยการสูงสุด ไม่รับรองฎีกา คดี กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมบริเวณรัฐสภาไล่ 'สมัคร' ปี 51 ทำให้คดีถึงที่สุด

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดไม่รับรองให้ฎีกาคดีฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 พิภพ ธงไชย จำเลยที่ 2 สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 3 มาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่ 4 ประพันธ์ คูณมี จำเลยที่ 5 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.590/2562 โดยคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.275/2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.591/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับ สมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 1 สุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 2 อมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 3 สำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 4 ศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่ 5 นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 6 นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี จำเลยที่ 8 กิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 9 ประยุทธ วีระกิตติ จำเลยที่ 10 สุชาติ ศรีสังข์ จำเลยที่ 11 สมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 12 ศุภผล เอี่ยมเมธาวี จำเลยที่ 13 อัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 14 พิเชฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 15 และให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3881/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.592/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับ วีระ สมความคิด จำเลย (รวมทั้งหมด 3 คดี ให้เป็นคดีเดียวกัน)

โดยกล่าวหาจำเลยทั้งหมด ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุมร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากจากเสรีภาพในร่างกาย

คดีทั้งหมดดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ยืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีดังกล่าวต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เว้นแต่กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้ลงชื่อรับรองในฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับรองฎีกาคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีถึงที่สุด