ไม่พบผลการค้นหา
"ยุทธพร อิสระชัย" ตัดเกรดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านมาพร้อมข้อมูลใหม่ สร้างการมีส่วนร่วม พูดปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้ 7/10 ส่วนรัฐบาลตอบคำถามไม่ตรงประเด็น ประท้วงเรื่องเดิม ตัดจบการอภิปรายได้ 5/10 ย้ำต่อจากนี้การเมืองของ นศ. น่าจับตามอง

หลังจากการอภิปรายไม่วางใจ 6 รัฐมนตรีสิ้นสุดลง พร้อมกับลงการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเสียงข้างมากยังคงไว้วางใจให้รัฐมนตรีทั้ง 6 คน ปฎิบัติหน้าที่ต่อนั้น ยังมีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจต่อการอภิปรายที่เกิดขึ้น

Voice online ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงภาพรวมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้

รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้มีสิ่งที่โดดเด็ด และน่าสนใจคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เฝ้าติดตามการอภิปราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอภิปรายเรื่อง IO ทหาร โดยมีการขึ้นคิวอาร์โค้ดให้คนที่ดูอยู่ทางบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายด้วย โดยเข้าไปไปตรวจสอบกลุ่มไลน์ของทีม IO ซึ่งก็ได้สร้างกระแสต่อเนื่องมาถึงวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นนี่ถือเป็นจุดเด่น และมิติใหม่ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถือเป็นเทคนิคที่มีความทันสมัย

ส่วนในแง่ของเนื้อหาของการอภิปราย รศ.ดร.ยุทธพร ชี้ว่า ครั้งนี้มีการพูดในหลายประเด็นซึ่งเป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นการพูดกันเฉพาะเรื่องการทุจริต หรือการประพฤติมิชอบของบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ฉะนั้นนี่จึงเป็นอีกมิติใหม่ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าหลังจากนี้ไป ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข หรือได้รับความสนใจจากสังคมมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคือรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

รศ.ดร.ยุทธพร ย้ำว่า การอภิปรายของฝ่ายค้าน มีประเด็นที่เป็นเรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องทางโครงสร้าง และน่าติดตาม แต่ก็ยังมีบ้างเรื่องที่ยังเป็นเรื่องเดิมอยู่บ้าง เช่น การพูดถึงเรื่องความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ประเด็นส่วนใหญ่ถือว่าฝ่ายค้านได้หยิบยกประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาพูด แต่ในบางเรื่องก็เป็นที่เสียดายที่ไม่ได้มีการเชื่อมต่อระหว่างการอภิปรายในสภากับนอกสภา ซึ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการอภิปรายนอกสภาของพรรคอนาคตใหม่ และมีการเปิดเรื่อง 1MDB ซึ่งเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักน่าสนใจ และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะดำเนินการชี้แจงความโปร่งใส่ ว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีข้อเท็จอย่างไร แต่สิ่งที่พบคือ ประเด็นเรื่อง 1MDB แทบจะไม่ถูกพูดถึงเลย ไม่มีการเอาประเด็นนี้มาขยี้ต่อ หรือนำมาสอบถามบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่ และเป็นเรื่องที่สิ่งผลกระทบทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตามการหยิบยกประเด็นขึ้นมาอภิปรายในครั้งนี้มีความหลากหลายพอสมควร และได้เห็นดาวสภาหน้าใหม่ๆ ลุกขึ้นมาอภิปราย

สำหรับบทบาทของฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า มีปัญหาที่สำคัญคือ รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายแทบจะไม่ได้ตอบคำถามอย่างตรงประเด็นเท่าใดนัก และขณะเดียวกันก็มีรัฐมนตรีที่อยู่ในรายชื่อผู้ถูกยื่นอภิปราย ไม่ได้ถูกอภิปรายด้วย เนื่องจากมีประเด็นถกเถียงกันว่า จะยืดระยะเวลาในการอภิปรายออกไปหรือไม่ เพราะมีการใช้เวลาเกินกว่ากำหนด แต่สุดท้ายเสียงข้างมากก็เลือกที่จะปิดสภาก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครบทุกคน โดยประเด็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ได้ถูกอภิปรายในสภา ฉะนั้นการอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลยังตอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

นอกจากนี้ในช่วงวันแรก ก็มีเรื่องของบรรดาองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลที่ออกมาประท้วงจนกระทั่งผู้ที่ติดตามการอภิปรายรู้สึกว่า การอภิปรายขาดความต่อเนื่อง และในหลายประเด็นที่มีการประท้วง ประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย ก็ได้วินิจฉัยเป็นที่ยุติแล้ว เช่น เรื่องการเรียกพล.อ.ประยุทธ์ หรือคุณประยุทธ์ ซึ่งได้มีการวินิจฉัยเป็นที่ยุติแล้ว แต่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็ยังลุกขึ้นประท้วงในเรื่องเดิมๆ อยู่ จึงทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูไม่ดีในวันแรก แต่ในวันหลังๆ การประท้วงในลักษณะนี้ก็น้อยลงไป

“จากภาพรวมที่ผ่านมาผมคิดว่ารัฐบาลได้คะแนนน้อยกว่าฝ่ายค้านนิดหน่อย ถ้าเต็ม 10 ผมให้ฝ่ายค้าน 7 คะแนน ส่วนรัฐบาลได้ประมาณ 5-6 คะแนน” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

ส่วนเรื่องการปรับ ครม. รศ.ดร.ยุทธพร เชื่อว่า อาจจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากจะครบรอบที่รัฐบาลจะทำงานครบหนึ่งปี และคะแนนในการลงมติครั้งนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปพิจารณาปรับ ครม. จุดที่น่าสนใจคือ กรณีของนายธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งได้รับคะแนนไว้วางใจต่ำกว่า 270 เสียง จึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับออก และสังคมเองก็ยังมีข้อสงสัยในตัวของธรรมนัส หลายประการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า คะแนนเสียงที่มีการงดออกเสียงนั้นมีอีก 5 เสียง ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหากันมาก่อนหน้านี้ ส่วน 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อย่างไรก็คงต้องอยู่ต่อ เพราะเป็นแกนหลักของรัฐบาล ส่วนรองนายกฯ ด้านกฎหมายหากมีการปรับออกก็จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลเอง เพราะคงไม่มีใครเข้ามาดูงานด้านกฎหมายให้รัฐบาล ส่วนกรณีของ ดอน ปรมัตถ์วินัย นั้นถือเป็นบุคคลที่ได้รับการเชื้อเชิญมาเป็นรัฐมนตรีโดยตรงจากนายกรัฐมตรี และหากมีการปรับออกโดยไม่มีเหตุที่จำเป็นจริงๆ ก็จะเกิดความขุ่นข้องหมองใจกันเกิดขึ้น

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อด้วยว่า เวลานี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า การเมืองนอกสภามีความก้าวหน้า แต่การเมืองในสภากลับมีความล้าหลัง โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษา หลายส่วนได้พูดถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมือง มีการพูดถึงปัญหาการเมืองในมิติใหม่ๆ แต่ในสภากลับยังคงวนเวียนอยู่กับประเด็นล้าหลัง เช่น การช็อปปิง ส.ส. การดูด ส.ส. หรือแม้กระทั่งการออกเสียงโหวตเพื่อที่จะทำให้รัฐมนตรีผ่านการอภิปราย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ล้าหลัง พื้นที่ระหว่างใน และนอกสภา เป็นเรื่องที่ไม่สมดุลกัน โอกาสที่จะจบลงด้วยความรุนแรงทางการเมืองในอนาคตมีความเป็นได้ หรือโอกาสที่จะเห็นการเมืองบนท้องถนนกลับมาก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นการเมืองในสภาก็ควรเร่งเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ เร่งที่จะกำหนดกติกาใหม่ร่วมกันที่เป็นที่ยอมรับนั่นคือ การทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนอย่างยิ่ง