ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก หวังเพิ่มโอกาสธุรกิจในวงการธนาคารผ่านบริการเช็กยอดเงิน ท่ามกลางปัญหาความน่าเชื่อถือที่ของบริษัทเทคโนโลยี

'แคช' (Cache) โครงการใหม่ล่าสุดของ 'กูเกิล' ที่ร่วมมือกับ 'ซิตี้กรุ๊ป' และ 'แคลิฟอร์เนีย เครดิตยูเนี่ยน' ในฐานะหุ้นส่วนเริ่มต้น จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเช็กยอดเงินคงเหลือในบัญชีธนาคารผ่านแอปพลิเคชัน 'กูเกิลเพย์' ได้

สำหรับความพยายามดังกล่าว 'เบ็ตซี กราเซค' นักวิเคราะห์จาก มอร์แกน สแตนลีย์ มองว่า จะเข้ามาเป็นทางออกให้กับธนาคารที่กำลังประสบปัญหา 'สงครามเงินฝาก' ในปัจจุบัน ให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น 

จากข้อมูลของ บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ การเติบโตภาคธุรกรรมเงินฝากของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ชะลอตัวถึงร้อยละ 2.2 ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 โดยส่วนหนึ่งมาจาก ผู้บริโภคหันไปใช้บริการธนาคารดิจิทัลที่มีแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์ที่สะดวกสบายและยังมอบเงื่อนไขด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารปกติ

สำหรับฝั่งธนาคาร ก่อนหน้านี้ 'ซิตี้กรุ๊ป' ก็มีความพยายามในการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับระบบของตัวเองอยู่ก่อนแล้วหลังเปิดตัวระบบธนาคารดิจิทัลของตัวเองและปรับปรุงการดำเนินการของธนาคารในสหรัฐฯ แต่เมื่อเข้ามาร่วมกับกูเกิล 'ซิตี้กรุ๊ป' จะได้ประโยชน์มากขึ้นจากการได้ลูกค้าใหม่ๆผ่านกูเกิล ขณะเดียวกัน การเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับธนาคารก็เปิดโอกาสให้กูเกิลได้ข้อมูลมหาศาลที่จะไปส่งผลกับธุรกิจโฆษณาของบริษัทเช่นเดียวกัน

ขบวนรถไฟเทคโนโลยีสู่แบงก์ (ขาย-ไม่ขายข้มูล)

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากมองบริการทางการเงินเป็นหนึ่งในตัวเชื่อมให้ใกล้ชิดผู้บริโภคและได้ข้อมูลมากขึ้น

'แอปเปิล' ออกมาเปิดบัตรเครดิตของตัวเอง ขณะที่ 'แอมะซอน' ก็เริ่มพูดคุยกับธนาคารเกี่ยวกับการเพิ่มบริการตรวจเช็กยอดเงินคงเหลือในบัญชี ด้าน 'เฟซบุ๊ก' ก็ออกมาเปิดตัวแนวความคิดสกุลเงินดิจิทัลด้วยความหวังเปลี่ยนมาตรฐานการเงินโลกใหม่ แต่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของบริษัทเทคโนโลยีกับธนาคารก็สร้างความกังวลไม่น้อยให้กับประชาชน ภาครัฐที่ต้องออกมาตั้งกรรมการตรวจสอบ รวมถึงภาคเอกชนที่ล่าสุดหลายบริษัทก็ออกมาถอนตัวจากความร่วมมือกับสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกูเกิล ดูเหมือนว่าบริษัทจะเลือกกลยุทธ์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับตัวเอง ด้วยการเลือกจะเป็นเพียงผู้ช่วยให้บริการทางการเงินง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ทุกการตัดสินใจทางการเงินก็ยังต้องได้รับคำอนุญาตจากธนาคารก่อนอยู่ดี

'ซีซาร์ เซนกุปตา' ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล กล่าวว่า บริษัทต้องการที่จะนำมูลค่ามาสู่ผู้บริโภค ธนาคาร และร้านค้าผ่านบริการที่อาจมีการส่งเสริมการใช้งานของลูกค้า แต่บริษัทจะไม่นำข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้บริการไปขายอย่างแน่นอน 

ขณะที่ผลสำรวจจากแมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี บริษัทที่ปรึกษา ก็ออกมาในทางที่เอื้อกูเกิลว่า เกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือ ร้อยละ 58 เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากกูเกิล 

อ้างอิง; Bloomberg, BI, WSJ