ไม่พบผลการค้นหา
15 ก.พ.2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันแรก วอยซ์รวมรวมการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่พูดถึงปัญหาโครงสร้างพลังงาน และคำชี้แจงจากรัฐบาล
กำไร ปตท.-ภาระประชาชน : วรภพ วิริยะโรจน์ พรรคก้าวไกล
  • ช่วงที่ผ่านมีการขึ้นค่าไฟฟ้าประมาณ 30 % หรือ 1 บาทต่อหน่วยสำหรับภาคครัวเรือน ส่วนภาคธุรกิจถูกปรับขึ้นแล้ว 47% หรือ 1.7 บาทต่อหน่วย รัฐบาลอธิบายมาตลอดว่า ค่าไฟขึ้น เพราะก๊าซ LNG แพงขึ้น เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่นี่เพียงข้ออ้างเลี่ยงการบริหารจัดการพลังงานที่ล้มเหลว และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน 
  • จริงๆ แล้วอ่าวไทยมีก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอต่อการนำมาผลิตไฟฟ้าให้คนทั้งประเทศใช้ได้ อ่าวไทยผลิตก๊าซได้ 2,758 ลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซของโรงไฟฟ้าทั่วประเทศอยู่ที่ 2,600 ลูกบาศก์ฟุต/วัน  
  • แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้ ‘กลุ่มทุนพลังงาน’ นำก๊าซจากอ่าวไทยไปใช้ ในราคา 233 บาท/MMBtu เพื่อนำไปสร้างผลกำไรได้ก่อน แล้วปล่อยให้โรงงานไฟฟ้าใช้ก๊าซ LNG นำเข้าในราคา 895 บาท/MMBtu บางครั้งราคาปรับสูงถึง 1000 บาท ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพง ความเสียหายทั้งหมดประมาณการได้ 1.4 แสนล้านต่อปี 
  • เส้นทางของก๊าซจากอ่าวไทย จะถูกส่งมาตามท่อส่งก๊าซ เข้าสู่ฝั่งที่โรงแยกก๊าซ จากนั้นส่งไปยังกลุ่มทุนปิโตรเคมีนำไปผลิตเป็นเม็ดผลาสติก  ส่วนที่ก๊าซที่เหลือถูกนำเข้ามาเป็นกองกลาง (Energy Pool)  จากนั้นจะถูกส่งไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปให้โรงงานไฟฟ้า การที่กลุ่มทุนปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซโดยตรงจากอ่าวไทยนั้น ทำให้พวกเขาไม่ต้องหารต้นทุนของการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ
  • กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เหมาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไป 59 % ยิ่งกลุ่มพลังงานใช้ก๊าซจากอ่าวมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้โรงไฟฟ้าต้องนำเข้าก๊าซ LNG มากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้น 
  • ผู้รับซื้อก๊าซจากอ่าวไทยทั้งหมดคือ ปตท. ท่อก๊าซในทะเลเป็นของ ปตท. เมื่อก๊าซเดินทางมาถึงโรงแยกก๊าซ โรงแยกก๊าซก็เป็นของ ปตท. และผู้ส่งต่อก๊าซไปให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็คือ ปตท. ส่วนบริษัทปิโตรเคมีที่ได้ใช้ก๊าซก่อนในราคาถูกคือบริษัท PTTGC ซึ่งก็อยู่ในเครือของ ปทต. เช่นกัน มากไปกว่านั้น รมว.พลังงานในเวลานี้ก็เคยเป็นอดีตผู้บริหาร PTTCG ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์
  • ข้อเสนอที่จะแก้ไขเรื่องนี้ทำได้ง่าย คือ เปลี่ยนให้กลุ่มทุนปิโตรเคมีมาร่วมหารต้นทุนนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ลดภาระต้นทุนก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้าได้ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี 
  • ข้อเสนอต่อมาคือ ต้องเปลี่ยนให้กลุ่มอุตสาหกรรมไปใช้น้ำมันเตาแทนก๊าซธรรมชาติ โดยการกำหนดให้ ปตท. ขายก๊าซกับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในราคานำเข้า ซึ่งจะทำให้กลุ่มทุนหันไปใช้น้ำมันเตาแทน จะช่วยให้ประเทศลดภาระค่าไฟฟ้าไปได้ 1 แสนล้านบาทต่อปี 
  • เรื่องที่ต้องทำในระยะยาว แต่ต้องเริ่มวันนี้คือ เให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือ ปตท.เปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้วัตถุดิบจากน้ำมัน ที่เรียกว่า ‘แนฟทา’ กลุ่มปิโตรเคมีอื่นๆ ในไทยที่ไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติก็ใช้แนฟทา อย่างเครือปูนซีเมนต์ไทยเองก็สร้างกำไรจากการใช้แนฟทาได้ปีละครึ่งแสนล้านบาท
  • หากทำได้เพียง 2 ข้อแรก ค่าไฟฟ้าจะลดลง 70 สตางค์ต่อหน่วยภายใน 1 ปี เป็นการลดต้นทุนให้ประชาชนมีเงินเหลือไปใช้จ่ายด้านอื่น ภาคธุรกิจก็จะแข่งขันในตลาดโลกได้ 
  • ในประเด็นถัดมาคือ ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินอยู่ที่ 60% มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชนทั้งหมด 12 โรง ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าถึง 7 โรง แต่ยังได้รับเงินพร้อมจ่ายจากประชาชนทุกเดือน 
  • รัฐบาลสามารถนั่งเป็นหัวโต๊ะของการเจรจาได้ และการหยุดอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหา แต่เรื่องนี้กลับถูกมองข้าม 
ชี้แจง : สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน 
  • กระทรวงพลังงานไม่ได้ปัดภาระให้ประชาชนแบกภาระค่าก๊าซ LNG แล้วกลุ่มอุตสาหกรรมได้ใช้ของราคาถูกเพียงคนเดียว เพราะโครงสร้างราคาไม่ได้เป็นอย่างที่อภิปรายมา เพราะวันนี้ทุกกลุ่มใช้ก๊าซในราคาเดียวกัน 
  • ส่วนก๊าซที่ส่งให้ภาคอุตสาหกรรมนั้นก็ถือว่าได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทำกันมากว่า 30 ปี เป็นจุดขายของประเทศในการดึงดูดนักลงทุน และถือว่าเป็นประเทศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่กลับมาเสนอให้ใช้น้ำมันเตา ซึ่งที่อื่นเขาเลิกใช้กันแล้ว ถ้าต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้ไปใช้น้ำมันเตาเป็นการถาร เกรงว่าสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลตั้งแต่ยุคก่อนทำกันมาดีๆ จะเสียเปล่า
  • ที่ระบุว่า PTTGC ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกกว่า นั่นเป็นเพราะเขาไม่ได้ก๊าซมีเทน แต่ใช้เพียงแค่อีเทน หากจำกันได้สาเหตุที่ต้องแยกก๊าซอีเทน ออกจาก๊าซธรรมชาติของอ่าวไทย ก็เพื่อเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เราไม่ต้องการเอาไม้สักไปทำฟืน ปิโตรเคมีเป็นสินค้าส่งออกของไทยมาตลอด 20 ปี ขยายให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก และปริมาณการใช้ก๊าซของ PTTCG ก็ไม่ได้มากมาย
  • การคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่บอกว่า 60% เป็นการคำนวณที่ผิด เพราะรวมกำลังการผลิตทั้งจากพลังงานลม แดด น้ำ ทั้งที่มันไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง กำลังผลิตส่วนเกินจริงๆ อยู่ที่ 36% เท่านั้น คาดว่าจะลดลงอีกในปีถัดไป 
  • ที่สำคัญไม่มีกำลังผลิตเพิ่มในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ถามว่าทำไมรัฐบาลไม่ไปเจรจากับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง นั่นก็เป็นเพราะสัญญาที่ทำไปไว้ในอดีตเขียนไว้หนาแน่นมาก ทำให้ไม่มีช่องเจรจาได้ 
 โรงไฟฟ้าชุมชนจอมปลอม : สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย 
  • โรงงานไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ โรงไฟฟ้าชุมชน’ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ประยุทธ์แถลงต่อรัฐสภา ระบุวัตถุประสงค์ให้ชุมชนมีหุ้นส่วนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงในพื้นที่ ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการขายพืชพลังงานในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า และส่วนแบ่งการขายไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระแห่งชาติ BCG Model 
  • ผ่านมาแล้ว 8 ปี โรงไฟฟ้าชุมชนที่รอคอยกลับไม่มีแม้เเต่โรงเดียว สาเหตุเพราะเงื่อนไขหรือเกณฑ์ในการร่วมทุนมีความไม่เป็นธรรม  เช่น ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 90%  ส่วนวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 10%
  • เงื่อนไขต่อมาคือ เมื่อได้รับอนุมัติในการตั้งโรงงาน การเซ็นสัญญาขายไฟต้องมีเงินประกันสัญญา 500 ล้านบาท คำถามคือ วิสาหกิจชุมชนแห่งใดมีเงินมากมายขนาดนั้น เงื่อนไขนี้ส่งผลให้โรงไฟฟ้าชุมชนถูกผูกขาดและกลายเป็นของกลุ่มทุนใหญ่อยู่ดี 
  • โครงการนี้เริ่มดำเนินการในระยะนำร่องแล้ว เดือนกันยายน 2564 มีการคัดเลือกผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 43 ราย ทั่วประเทศ ทว่าเอกชน 43 รายที่ได้รับการคัดเลือก กลับยังไม่สามารถลงนามซื้อขายไฟได้ เพราะมีผู้ร้องเรียน ป.ป.ช. ว่า มีการ ‘ฮั้วประมูล’ 
  • จากข้อมูลพบว่า เอกชน 43 รายที่ได้รับคัดเลือก มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน แบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม รวม 40 ราย นำมาสู่คำถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงระบุเงื่อนไขให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้นได้เพียง 10% การตั้งเงื่อนไขเช่นนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ใช่หรือไม่ 
ชี้แจง : ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรื่องของโรงไฟฟ้า ขอให้ไปดูรายละเอียดกติกาอีกครั้งว่ากำหนดไว้อย่างไร พร้อมทั้งถามกลับว่า ทำไมตนเองถึงไม่อยากให้โรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นได้ หากเกิดได้ก็ดีอยู่แล้ว ย้ำว่าสิ่งที่สุทินพูดมาได้ทำหมดแล้ว แต่ไม่เห็นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 1 : เศรษฐกิจมหภาคเหลว ถดถอยจนไปแข่งกับลาว-เมียนมา

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 2 : 'ฮั้ว' เฟื่องฟู หลานนายกฯ ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ E-Bidding

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 4 : ทุนยาเสพติดเมียนมา-ทุนจีนสีเทาเต็มเมือง เพราะ 'ไทยเทา' 

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 5 : ส่วนต่างรถไฟฟ้าสีส้ม 6.8 หมื่นล้าน-เร่งขยายสัมปทานทางด่วน

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 6 : ความไม่คืบหน้า ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงโคราช-เค้กเรือหลวงสุโขทัย

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 7 : กอ.รมน.รัฐซ้อนรัฐ รัฐประหารวางรากฐานจนปัจจุบัน