ไม่พบผลการค้นหา
'ค่าไฟแพง' เป็นประเด็นที่ทุกคนต่างแชร์ความเดือดร้อนกันถ้วนทั่วโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย การขึ้นราคาหน่วยละ 1 บาท ไม่ใช่เรื่องชิลๆ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อธิบายโครงสร้างค่าไฟและชี้ว่า รัฐไทยบริหารจัดการไฟฟ้าแบบล้นเกิน และโรงไฟฟ้าเอกชนจะได้ ‘ค่าประกันกำไร’ มหาศาล แล้วมาเฉลี่ยเป็นค่าไฟให้ประชาชน

วรภพตั้งต้นว่า ช่วงเดือนพฤษภาที่ผ่านมา รัฐบาลขึ้นค่าไฟเป็น 4 บาทต่อหน่วย และเตรียมขึ้นเป็น 5 บาท ยิ่งซ้ำเติมค่าใช้จ่ายของประชาชนในตอนนี้ ซึ่งข้ออ้างเรื่องต้นทำเชื้อเพลิงที่มักอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะค่าไฟแพงไม่ได้มีสาเหตุจากต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุจากการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนด้วย

วรภพอธิบายโครงสร้างของค่าไฟฟ้าเพื่อชี้ให้เห็นที่มาของค่าไฟฟ้า 4 บาท ว่า ค่าไฟต่อหน่วยที่เราจ่าย คำนวณมาจาก 2 ก้อน ได้แก่

  • 1.ค่าไฟฟ้าฐาน คือ ต้นทุนไฟฟ้าฐานปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง รวมถึงระบบสายส่ง ปัจจุบันอยู่ที่ราคา 3.76 บาทต่อหน่วย
  • 2.ค่า ft คือ ส่วนต่างระหว่างต้นทุนเชื้อเพลิงในแต่ละงวด และส่วนต่างของต้นทุนเชื้อเพลิงปีฐาน 2558 ปัจจุบันอยู่ที่ราคา 0.25 บาท/หน่วย

ดังนั้นเมื่อ 2 ก้อนรวมกัน 3.76+0.25 เท่ากับ 4.01 บาท เราจะเห็นว่าส่วนต่างของต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ได้เป็นสัดส่วนที่เยอะเลยสำหรับค่าไฟที่เราจ่าย

โครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยยังสามารถอธิบายอีกแบบหนึ่งโดยแบ่งเป็น 4 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 – กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเอง
  • ส่วนที่ 2 - กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
  • ส่วนที่ 3 -  ค่าใช้จ่ายนโยบายรัฐ
  • ส่วนที่ 4 -  ระบบสายส่ง ทั้งสายส่งของ กฟผ. กฟน. กฟภ.

วรภพชี้ว่า ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของโครงสร้างค่าไฟฟ้าประเทศไทย นั่นคือ ส่วนที่ กฟผ.ซื้อไฟจากเอกชน ซึ่งคิดเป็น 63% ของไฟฟ้าทั้งหมด มีมูลค่าร่วม 444,000 ล้านบาท

“ก้อนนี้เองที่ทำให้ค่าฟ้าของประเทศไทยแพงและแพงเกินจริง เมื่อดูค่ามูลค่าตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มทุนพลังงานวันนี้ ใหญ่มากถึง 1.6 ล้านล้านบาท” วรภพกล่าว

หากดูในรายละเอียด กฟผ. ซื้อจากเอกชน ก็แบ่งได้อีก 3 ก้อน

1.     โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือ IPP

2.     โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP

3.     นำเข้าจากเพื่อนบ้าน (ส่วนใหญ่มาจากสปป.ลาว)

วรภพอธิบายต่อว่า โรงไฟฟ้าเอกชนเริ่มจาก กฟผ.ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือเรียกว่า PPA ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นคนอนุมัติ และนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กพช.โดยตำแหน่งมาตลอด พูดง่ายๆ ว่านายกมีอำนาจในการอนุมัติตลอด

ในสัญญา PPA จะกำหนดว่า กฟผ.จะซื้อเท่าไร ราคาเท่าไร ซึ่งถ้าให้แบ่งอีก 2 ก้อนข้างใน คือ

  1. EP - Energy Payment เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าใช้ไป
  2. ค่าประกันกำไร แบ่งเป็น
  • AP - Availability Payment คือ ค่าความพร้อมจ่ายของ IPP
  • CP - Capacity Payment คือ ค่าพลังไฟฟ้าของ SPP

“ที่เราเรียก AP และ CP ว่า ‘ค่าประกันกำไร’ เหตุผลเพราะว่าขอเพียงเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ ขอเพียงให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่อง กฟผ.ต้องจ่ายค่าประกันกำไรนี้ให้กับเอกชน ไม่ต้องสนว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะผลิตไฟฟ้ามากหรือน้อย กฟผ.ก็ต้องจ่ายค่าประกันนี้ให้เอกชนเพื่อคืนทุนแถมกำไรที่คำนวณไว้แล้วครบทุกบาททุกสตางค์ และค่าประกันกำไรนี้ไม่ได้จ่ายเพียง 1-2 ปี ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปตามอายุโรงไฟฟ้า 25 ปี และรัฐบาลเอาค่าประกันกำไรตรงนี้มารวมเป็นต้นทุนโครงสร้างพลังงานและคิดค่าไฟกับประชาชน ปีๆ หนึ่งที่ผมรวบรวมมา ค่าประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชน ตกแล้ว 91,000 ล้านบาทต่อปี”

“นี่เป็นความโชคดีของกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาประกันกำไรกับรัฐบาลไทยที่แสนจะใจดี และคงเป็นความโชคร้ายของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงแทน”

วรภพอธิบายขบวนการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายว่า มีอยู่ 4 ขั้นตอน

1.     โดยพื้นฐานแล้วโรงไฟฟ้าใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ดังนั้นจะมีเรียกว่าแผนพัฒนาโรงไฟฟ้า หรือ PDP เป็นแผนระยะยาว 20 ปี แต่มีการทบทวนทุกๆ 1-2 ปี ในขั้นวางแผนนี้มีการประมาณการความต้องการใช้ไฟของประเทศไว้สูงเกินจริง

2.     เมื่อประมาณการใช้ไว้สูงก็ต้องมีการผลิตเยอะๆ และตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินใน PDP ไว้สูงเกินจริง

3.     เพื่อให้สามารถเพิ่มโรงไฟฟ้าได้ทุกปี ๆ

4.     เพื่อมาสู่ขั้นตอนสุดท้าย เพราะรัฐบาล หรือ กพช. จะได้มีเหตุผลให้ กฝผ. ซื้อขายกับเอกชนไปเรื่อย ๆ

“ด้วยเงื่อนไขของการทำประกันกำไรให้กับเอกชนตลอดอายุสัญญาโรงไฟฟ้า เอกชนไม่ต้องสนใจแล้วว่าประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเกินหรือไม่ เพราะต้นทุนของการที่มีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น สุดท้ายก็จะนำกลับมาคิดในโครงสร้างราคาไฟฟ้าให้ประชาชน 67 ล้านคนเป็นคนจ่าย”

วรภพย้ำว่า ตอนนี้ประเทศไทยไฟฟ้าสำรอง เกินความต้องการไปแล้วถึง 54%

เขาขยายความว่า เดือนเมษาปีนี้ ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดอยู่ที่ 33,000 MW (วันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 14:30 น.) แต่ว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 51,000 MW อธิบายอย่างง่ายคือ เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินอยู่ที่ 18,000 MW ค่าไฟฟ้าส่วนเกินนี้จากโรงไฟฟ้าส่วนเกิน เป็นต้นทุนของประชาชนทุกคนที่ต้องมาหารจ่ายให้กับกลุ่มทุน

“ผมอธิบายถึงตรงนี้ต้องดักท่านนายกฯ ล่วงหน้า ถ้าโพยให้ท่านอธิบายว่าการที่ประเทศไทยต้องมีการผลิตส่วนเกินเพราะต้องมีความมั่นคงทางพลังงานประเทศไทยไม่ต้องไฟตก ก็อยากให้ท่านเอาโพยคืนกลุ่มทุนไป เพราะว่ามาตรฐานสากลเขารู้กันว่ากำลังการผลิตส่วนเกิน ควรจะตั้งอยู่ที่ 15% และถ้าย้อนไปดูอดีต ประเทศไทยก็ไม่ได้มีการผลิตส่วนเกินสูงขนาดนี้มาตลอด ตอนที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์เข้ามาก็อยู่ที่ 29% แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ ที่กำลังการผลิตส่วนเกินของประเทศไทยอยู่สูงขนาดนี้”

วรภพกล่าวด้วยว่า จากข้อมูลเดือนเมษายน โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ของไทยมีทั้งหมด 12 โรง ในจำนวนนี้มีถึง 6 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว และไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่หน่วยเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ทั้ง 6 โรงนี้ กฟผ.ต้องจ่ายค่าประกันกำไรให้กับเอกชน รวมทั้งหมด 2,200 ล้านบาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าผ่านท่อก๊าซที่ไม่มีก๊าซผ่านเพราะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าอีกประมาณ 700 ล้านบาท สุดท้ายกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า

วรภพสรุปว่า เมื่อคำนวณมูลค่าความเสียหาย เริ่มจากเอากำลังการผลิตไฟฟ้าที่เกินจำเป็นหารด้วยโรงไฟฟ้า IPP และ SPP เป็นค่าความเสียหายทั้งหมด 45,819 ล้านบาทต่อปี ที่ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระตรงนี้ ความเสียหายจากการเอื้อกลุ่มทุนครั้งนี้ ถ้าเอามาหารด้วยจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เราใช้ไปตลอดทั้งปี จะได้ว่าทุกๆ หน่วยไฟฟ้าที่เราใช้ไป ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงเกินจำเป็นถึง 0.24 บาทต่อหน่วย เป็นค่าความเสียหายของรัฐบาลที่เอื้อให้กับกลุ่มทุน

“ผมต้องตั้งคำถามว่า นี่คือต้นตอของความเหลื่อมล้ำสุดโต่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ประชาชนทุกคนเหมือนถูกยักยอกเงินจากกระเป๋าไป ทุกเดือน ทุกวัน กลายเป็นความมั่งคั่งของกลุ่มทุนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกเดือน และซ้ำเติมภาระประชาชนให้ต้องจ่ายแพงเกินโดยไม่จำเป็น เมื่อผมมาดูตัวเลข มีสิ่งที่น่าตกใจอย่างหนึ่งคือ 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 4.4 ล้านล้าน แต่เจ้าสัวไทยรวยขึ้น 2.2 ล้านล้านบาท นี่เป็นเรื่องบังเอิญหรือมันเกิดจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน”

วรภพยังขยี้ต่อว่า กระบวนการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์มีที่มาดังนี้

1.     รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำแผน PDP มาแล้ว 2 ฉบับ คือปี 2558 และปี 2561 ส่วนฉบับปี 2563 เป็นฉบับปรับปรุงของปี 2561 ทั้ง 2 แผนมีพฤติการณ์คล้ายๆ กับที่เกริ่นไว้ มีการประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริงตลอด

2.     รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินให้เพิ่มขึ้นในแผน PDP ด้วยการตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นถึง 43% อย่างไม่จำเป็น แผน PDP ไม่เคยสูงขนาดนี้มาก่อน และประเทศไม่เคยมีกำลังการผลิตส่วนเกินเยอะขนาดนี้มาก่อน

3.     รัฐบาลประมาณการความต้องการไฟฟ้าไว้สูง และเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตส่วนเกิน ก็เพื่อวางแผนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มทุกปี

4.     นำมาสู่ผลงาน 4 เหตุการณ์ของรัฐบาลตลอด 8 ปี ที่ให้ประชาชนรับภาระจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

  • อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มโดยไม่จำเป็น (1,940 MW)

ปี 2561 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน 58% จึงไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่นายกฯ กลับอนุมัติให้ กฟผ.ทำสัญญาซื้อ-ขายกับโรงไฟฟ้าหินกอง (1,400 MW) และโรงไฟฟ้าบูรพา (540 MW) มาด้วยเงื่อนไขสัญญาประกันกำไรทั้งสิ้น กลายเป็นโรงไฟฟ้าเกินจาก 14 โรง เป็น 15 โรง ที่สำคัญไม่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าหินกอง ราวกับประเคนสัญญาให้กับเอกชน ต่อมากลุ่มทุน Gulf ลงตลาดหลักทรัพย์ว่าได้ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้ ด้วยเหตุนี้โรงไฟฟ้าหินกองจึงมีรัฐหรือ กฟผ.ถือหุ้นเหลือเพียง 23% และได้สัญญา IPP โดยไม่ต้องเปิดประมูล ไม่ต้องมีการแข่งขัน

  • อนุมัติให้สร้าง SPP ใหม่แทน SPP เดิม (420 MW)

กฟผ. ทำการซื้อ-ขายสัญญา SPP มาตั้งแต่ปี 2538 จึงมีโรงไฟฟ้าหมดอายุสัญญาในปี 2560-2568 ทั้งหมด 19 โรง รวม 1,471 MW ถือเป็นเรื่องดีเพราะสามารถลดภาระให้ประชาชนได้ แต่พล.อ.ประยุทธ์กลับมติในเดือนมกราคมปี 2562 เพื่อต่อสัญญา SPP ที่หมดสัญญาออกไปก่อน และให้ SPP สร้างโรงไฟฟ้าใหม่แทนโรงไฟฟ้าเดิมทันทีโดยไม่มีการเปิดประมูล ผลลัพธ์คือเรามี SPP เพิ่มถึง 420 MW ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าประกันกำไรโดยไม่จำเป็น ต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็น

  • ทำ MOU เพื่อทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับ 5 เขื่อน ที่สปป.ลาว (3,876 MW)

พล.อ.ประยุทธ์แสดงพฤติการณ์ชัดเจนว่าต้องการสร้างเขื่อนเพิ่มอีก 5 เขื่อน และมีโรงไฟฟ้า 3,876 MW เพราะมีการทำ MOU ไว้เรียบร้อยแล้ว จากที่เรามีกำลังการผลิตส่วนเกินถึง 54% ไม่มีความจำเป็นต้องอนุมัติเพิ่ม เพราะทั้ง 5 เขื่อนตามร่างสัญญามีเงื่อนไขต้องประกันการรับซื้อจากเอกชน อีกทั้งค่าไฟแพงกว่าเขื่อนเดิมที่เคยทำสัญญา ถึงเกือบ 1 บาท/หน่วย

การสร้างเขื่อนประเทศเพื่อนบ้านควรถูกนับว่าเป็นพลังงานสะอาดจริงหรือไม่ เนื่องจากการสร้างเขื่อนนำมาซึ่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนฝั่งริมแม่น้ำโขงเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายจากแม่น้ำโขง

  • อนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม (รับซื้อค่าไฟฟ้าแพงถึง 6 บาท/หน่วย)

ตั้งราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะไว้แพง จากปกติ 4 บาท/หน่วย เป็น 6 บาท/หน่วย เงินก้อนนี้ถูกอนุมัติมาหลายรัฐบาลจนกลายเป็นก้อนรวม 50,000 ล้านบาท ทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้นถึง 0.26 บาท/หน่วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังผลักภาระค่ากำจัดขยะอุตสาหกรรมมาให้ประชาชน ด้วยการให้โรงงานจ่ายค่ากำจัดขยะให้โรงไฟฟ้าถูกกว่าความเป็นจริง และให้โรงไฟฟ้าคิดค่าไฟแพงกับประชาชนแทน ผลลัพธ์ คือ โรงงานประหยัดค่ากำจัดขยะ โรงไฟฟ้าได้กำไร แต่ประชาชนเป็นคนจ่าย

วรภพได้นำเสนอทางออกไว้ด้วย ดังนี้

1.     ทบทวนมติ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม > ลดค่าไฟ ไม่ผลักภาระให้ประชาชน

2.     ชะลอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5 เขื่อนลาว ที่ไม่จำเป็น และกระทบชีวิตคนริมฝั่งแม่น้ำโขง

3.     เปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมกับแผน PDP ฉบับใหม่ปี 2565 เพราะสุดท้ายภาระตกอยู่ที่ประชาชน ต้องให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบขบวนการที่เพิ่มโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นหรือไม่ บรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้หรือไม่ และสนับสนุน Solar Rooftop ให้เหมือนกับที่สนับสนุนกลุ่มทุนได้หรือไม่

4.     เปิดเผยข้อมูลระบบไฟฟ้า ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ความต้องการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมง ความต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ละภูมิภาค อัตราการใช้ไฟของทุกโรงไฟฟ้า เพราะเมื่อข้อมูลเปิดเผยได้ก็สามารถหาทางออกให้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนค่าไฟทั้งระบบได้

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงดังนี้

ส่วนแรกคือ กำลังการผลิตที่กล่าวหาว่ามีเกิน 50% เรียนสมาชิกว่า ตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณวันนี้ของกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันส่วนที่เรียกว่า กำลังการผลิตสำรอง เหลือเพียง 35% ในการคำนวณบางครั้งอาจต้องใช้ความรู้ด้านเทนนิคกันบ้าง บางส่วนสามารถผลิตได้ตลอดทั้งวัน บางส่วนผลิตไม่ได้ทั้งวัน เช่น โซลาร์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ที่ไม่มาตลอดเวลา นำพลังงานเหล่านี้นำมารวมกันไม่ได้ ถ้านำมารวมกันตามวิชาการที่ให้เป็นตามกำลังการผลิตจริงๆ ที่พึ่งพาได้ คำนวณแล้วมีเพียง 35% ไม่ใช่ 50%

ด้วยเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลอด 3 ปี ทำให้กำลังการผลิต หรือความต้องการไฟฟ้าลดลง และกำลังการผลิตต้องมีการลงทุนล่วงหน้า แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ 35% เม่ือเทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กำลังการผลิตสำรองมีเพียง 48-62% ด้วยเหตุจากการผิดคาดที่ไม่มีใครทราบว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต และในแผนที่มีการปรับปรุงได้มีการลดกำลังการผลิตลงกว่า 3,000 เมกกะวัตต์ และในอนาคตมีการพยากรณ์เผื่อไว้หากเรามียานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หากมีกำลังการผลิต และความต้องการเช่นนี้ ตัวเลขการผลิตสำรองจะกลับไปที่ 15-20% ใน 5-6 ปีต่อจากนี้

ในส่วนเรื่องกำลังการผลิตใหม่ที่อ้างว่าเป็นภาระกับประชาชน หลักๆ เรื่องขยะอุตสาหกรรม รวมๆ กันแล้ว 200-300 เมกกะวัตต์ จากนี้ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าจะแพงขึ้น แต่หน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดคำนวณมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า ถ้าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เป็นแบบปัจจุบัน มันจะเป็นปัญหาสังคมมหาศาล และแพง นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าสร้างประโยชน์จะมีคุณค่ามากกว่า ถึงแม้ราคาจะแพงกว่า เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ต้องระมัดระวัง เพราะมีสารปนเปื้อน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 สตางค์ ไม่ใช่ 25 สตางค์ แบบอดีต

“ตลอดระยะเวลาในช่วงวิกฤต รัฐบาลใช้เงินกว่า 237,000 กว่าล้าน เพื่อประคับประคองในวิกฤตพลังงาน อาจจะดูเหมือนช้ากว่าคนอื่น เพราะเรายังต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวต่างประเทศ เราจึงมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากคนอื่น” สุพัฒนพงษ์ กล่าว