ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ยืนยันศาลรัฐธรรมนูญคุกคามสิทธิเสรีภาพ แสดงความคิดเห็นประชาชนกรณีเรียกตัว "โกวิท" ด้าน "ชลิตา" ชี้ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นต่อการทำหน้าที่ได้

นางสาวชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์ และนางสาวอรัญญิกา จังหวะ ในนามกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์และศิษเก่า เดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้กำลังใจ รองศาสตราจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกตัวกรณีโพสต์ทวิตเตอร์ วิพากษ์วิจารณ์ศาล พร้อมนำธูป เทียน พวงมาลัย ผ้า 3 สีและตุ๊กตาสำหรับไหว้ศาลเจ้า รูปไก่ และรูปม้าลาย มาเป็นเชิงสัญลักษณ์เพื่อมอบให้ศาล ทั้งเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรมคุ้มครองศาสตราจารย์โกวิทด้วย 

eoee_1.jpg

นางสาวชลิตา ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรแตกต่างจากศาลทั่วไป เพราะพิจารณาคดีหรือมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ติดตามหรือมีความคิดเห็นต่อการทำงานและการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยมองว่าบทบาทของรองศาสตราจารย์โกวิท ในการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์หรือความไม่ถูกต้องบางอย่างในสังคมเป็นเรื่องที่จำเป็นกับสังคมไทย

นายกรกช กล่าวว่า ตัวเองก็เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับรองศาสตราจารย์โกวิทย์ ถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเรียกตัวผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตามไม่ควรเกิดขึ้น ด้วยวันนี้มาให้กำลังใจรองศาสตราจารย์โกวิทและ สิ่งที่ศิษย์เก่านำมาด้วย ก็เพื่อขอให้รองศาสตราจารย์โกวิทย์ปลอดภัย ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ และเห็นว่า ความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจจะต้องพึ่งพาไสยศาสตร์มากกว่ากระบวนการยุติธรรม

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์หรือความยุติธรรม หากศาลรัฐธรรมนูญจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวก็ต้องมารับของเซ่นไหว้ แต่หากต้องการรักษาความยุติธรรม ก็ต้องพร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเพื่อปรับปรุงการทำงาน และพิสูจน์ถึงความยุติธรรมเอง ซึ่งศาลต้องเชื่อมั่นว่าศาลเองจะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนหรือไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนยิ่งควรจะต้องถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :